หมวดที่ 9 กระบวนการทางศุลกากรเกี่ยวกับเขตประกอบการเสรี


ข้อ 78 ในหมวดนี้

“เขตประกอบการเสรี” ให้มีความหมายตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“ผู้ประกอบอุตสาหกรรม” ให้มีความหมายตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“ผู้ประกอบพาณิชยกรรม” ให้มีความหมายตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“ผู้ประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรี” หมายความถึง ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือ ผู้ประกอบพาณิชยกรรมที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“ผู้นำของเข้าในเขตประกอบการเสรี” หมายความถึง ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบพาณิชยกรรม หรือผู้นำของเข้าอื่นที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรี
“ผู้ส่งของออกจากเขตประกอบการเสรี” หมายความถึง
(ก) ผู้ส่งของออกจากเขตประกอบการเสรีไปนอกราชอาณาจักร ที่ได้ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออก เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนการขนย้ายสินค้าออกจากเขตประกอบการเสรีที่เก็บของนั้น เพื่อเป็นข้อมูลกำกับการขนย้ายของออกจากเขตประกอบการเสรี
(ข) ผู้ส่งของออกจากเขตประกอบการเสรีแห่งหนึ่งไปยังเขตประกอบการเสรีอีกแห่งหนึ่ง หรือโอนของไปยังสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นที่กฎหมายกำหนดให้ถือเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยให้ถือว่าของนั้นได้ส่งออกจากเขตประกอบการเสรีในเวลาที่นำของนั้นออกจากเขตประกอบการเสรี

ส่วนที่ 1 บททั่วไป

ข้อ 79 การนำของเข้าไปในเขตประกอบการเสรีหรือนำของออกจากเขตประกอบการเสรี โดยบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรี

  1. ผู้นำของเข้าไปในเขตประกอบการเสรี หรือผู้นำของออกจากเขตประกอบการเสรีต้องได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรี
  2. ผู้ประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรีต้องแจ้งการอนุญาตให้พนักงานศุลกากรที่กำกับดูแลเขตประกอบการเสรีทราบตามรูปแบบที่กรมศุลกากรกำหนด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบ ดังนี้
    • 2.1. ชื่อของผู้ประกอบการที่ตนอนุญาตให้นำของเข้าไปเก็บรักษา หรือนำของออก หรือดำเนินการใด ๆ ในสถานประกอบกิจการของตน
    • 2.2. ของที่ผู้ประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรีอนุญาตให้ผู้อื่นนำของเข้าไปเก็บรักษา หรือนำของออก หรือดำเนินการใด ๆ ในสถานประกอบกิจการของตน
    • 2.3. ช่วงระยะเวลาหรือวันที่ที่อนุญาตให้นำของเข้าไปเก็บรักษา หรือนำของออก หรือดำเนินการใด ๆ ในสถานประกอบกิจการของตน
  3. การอนุญาตให้บุคคลอื่นนำของเข้าไปหรือนำของออกจากสถานประกอบกิจการของตนในเขตประกอบการเสรี ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรีนั้นยินยอมผูกพันตนเข้ารับผิดชอบในค่าอากรและภาษีตามกฎหมายอื่น (ถ้ามี) หรือค่าเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นจากบุคคลที่ตนอนุญาตเสมือนดำเนินการด้วยตนเอง

ส่วนที่ 2 การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าเขตประกอบการเสรีทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 80 ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร

  1. ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีที่เป็นของยกเว้นอากรขาเข้า
    • 1.1. ให้ผู้นำของเข้าในเขตประกอบการเสรีดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่ระบุไว้ในบัญชีสินค้าว่ามีชื่อส่งของถึง
    • 1.2. ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรี และได้ตรวจปล่อยออกจากด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่นำเข้าแล้ว ให้ถือว่า ทั้งชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก ราคา หรือเกี่ยวกับอัตราอากร ถูกต้องตรงตามที่ผู้นำของเข้าในเขตประกอบการเสรีได้ส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
  2. ของที่จะทำการปล่อยออกจากเขตประกอบการเสรีเพื่อทำการขนย้ายไปยังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ยกเว้นภาษีอากรขาออกแก่ของที่ปล่อยออกไปจากเขตประกอบการเสรีเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่ไม่รวมถึงการนำของในราชอาณาจักรที่ต้องเสียอากรขาออกเข้าไปในเขตประกอบการเสรีและได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ในสภาพเดิมที่นำเข้า
    • 2.1. ให้ผู้ส่งของออกจากเขตประกอบการเสรีดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรสุดท้ายที่ระบุไว้ว่าจะทำการขนหรือย้ายขนของเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
    • 2.2. ให้ผู้ส่งของออกจากเขตประกอบการเสรีส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนการขนย้ายสินค้าออกจากเขตประกอบการเสรีที่เก็บของนั้น เพื่อเป็นข้อมูลกำกับการขนย้ายของออกจากเขตประกอบการเสรีไปยังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่จะทำการส่งของออก

ส่วนที่ 3 การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรีทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 81 การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรีทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 81 การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรีทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการนำของที่อยู่ภายในราชอาณาจักร ซึ่งจะได้รับยกเว้นอากรหรือคืนเงินอากรเมื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรี

  1. การส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรี
    • 1.1. ให้ผู้นำของซึ่งได้รับยกเว้นอากรหรือคืนเงินอากรเมื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและจะนำของดังกล่าวเข้าไปในเขตประกอบการเสรี
      • 1.1.1. จัดทำข้อมูลการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรี ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด โดยถือสภาพแห่งของ ราคาศุลกากร พิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในวันที่จัดทำใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรี
      • 1.1.2. ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนการขนย้ายของดังกล่าวเข้าไปในเขตประกอบการเสรี โดยให้ถือเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในขณะที่นำของนั้นเข้าไปในเขตประกอบการเสรี
    • 1.2. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง
      • 1.2.1. ถ้าพบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบรหัสข้อผิดพลาด กลับไปให้ผู้ส่งข้อมูล ให้ผู้ส่งของซึ่งได้รับยกเว้นอากรหรือคืนเงินอากรเมื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และจะนำของดังกล่าวเข้าไปในเขตประกอบการเสรีทำการแก้ไขข้อมูล และส่งข้อมูลการแก้ไขข้อมูลการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรีเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
      • 1.2.2. ถ้าไม่พบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะกำหนดเลขที่ใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรีทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวนสิบสี่หลัก
    • 1.3. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบกลับเลขที่ใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรีทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้ส่งข้อมูลในสถานะพร้อมตรวจปล่อย โดยถือเป็นการยื่นใบขนสินค้าขาออกต่อกรมศุลกากรแล้ว
  2. การตรวจสอบของพนักงานศุลกากรที่กำกับดูแลเขตประกอบการเสรี
    • 2.1. ให้ผู้ประสงค์จะนำของเข้าไปในเขตประกอบการเสรีขนย้ายของไปยังเขตประกอบการเสรีดังกล่าว
    • 2.2. ในการขนของผ่านเข้าไปในเขตประกอบการเสรี ให้ผู้ควบคุมยานพาหนะแสดงเลขที่ใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรีที่กำกับของนั้น พร้อมเอกสารใบส่งสินค้าให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรี ในขณะนำของผ่านเข้าไปในเขตประกอบการเสรีนั้น
  3. การตรวจสอบของที่จะนำผ่านเข้าไปในเขตประกอบการเสรี พนักงานศุลกากรอาจตรวจสอบของขาออกที่นำผ่านเข้าในเขตประกอบการเสรีเป็นครั้งคราว
  4. กรณีของที่นำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีไม่ครบตามจำนวนในใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรี ให้ผู้ส่งของออกดำเนินการ ดังนี้
    • 4.1. กรณีของที่นำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีจำนวนไม่ตรงตามที่ระบุในใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรี ให้ผู้ยื่นใบขนสินค้าส่งข้อมูลผ่านระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (TCES) แก้ไขข้อมูลรายการสินค้าให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และยืนยันปริมาณหรือจำนวนหีบห่อสินค้าที่นำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีภายในวันที่สิบของเดือนถัดไป โดยไม่ต้องพิจารณาความผิด
    • 4.2. การแก้ไขข้อมูลรายการสินค้าภายหลังวันที่สิบของเดือนถัดไป ให้ผู้ยื่นใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าเขตประกอบการเสรี จัดทำคำร้องพร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องยื่นต่อหน่วยงานศุลกากรที่กำกับดูแลเขตประกอบการเสรีนั้นพิจารณาเป็นการเฉพาะราย
  5. กรณีขอตรวจรับสินค้ากลับคืน หรือการยกเลิกการส่งออก
    • 5.1. กรณีตรวจรับสินค้ากลับคืนบางส่วน เนื่องจากไม่ได้ใช้ในการผลิตสินค้า
      • 5.1.1. ให้ผู้ส่งของซึ่งได้รับยกเว้นอากรหรือคืนเงินอากรเมื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและได้นำของนั้นเข้าไปในเขตประกอบการเสรีแล้ว จัดทำคำร้องเพื่อแจ้งรายการของสินค้าที่ต้องการตรวจรับกลับคืนจากเขตประกอบการเสรี และยืนยันปริมาณหรือจำนวนหีบห่อสินค้าที่ส่งออกไปในเขตประกอบการเสรีให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงพร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ยื่นต่อหน่วยงานศุลกากรที่กำกับดูแลเขตประกอบการเสรีนั้นเพื่อพิจารณาอนุญาต
      • 5.1.2. เมื่อพนักงานศุลกากรตรวจสอบว่ามีการแก้ไขข้อมูลรายการของสินค้าที่ไม่ได้ส่งออกแล้ว ให้พิจารณาอนุญาตให้รับสินค้ากลับคืนได้ โดยไม่ต้องมีการพิจารณาความผิด
    • 5.2. กรณียกเลิกการส่งออกและขอตรวจรับสินค้ากลับคืนทั้งหมด
      • 5.2.1. ให้ผู้ส่งของซึ่งได้รับยกเว้นอากรหรือคืนเงินอากรเมื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและได้นำของนั้นเข้าไปในเขตประกอบการเสรีแล้ว จัดทำคำร้องเพื่อยกเลิกการส่งออก และขอตรวจรับสินค้ากลับคืน ยื่นต่อหน่วยงานศุลกากรที่กำกับดูแลเขตประกอบการเสรีเพื่อพิจารณาอนุญาต
      • 5.2.2. ให้พนักงานศุลกากรบันทึกข้อมูลการยกเลิกเลขที่ใบขนสินค้าฉบับนั้นออกจากระบบก่อนอนุญาตให้ตรวจรับกลับคืนทั้งหมด โดยไม่ต้องมีการพิจารณาความผิด
  6. การจัดทำรายงานยืนยันการโอนย้ายของเข้าออกเขตประกอบการเสรี (Confirmation of goods report) ส่งกรมศุลกากร ดังนี้ + 6.1. ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรีที่ประกอบการพาณิชยกรรม จัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำของเข้า การนำของออก การโอนย้ายของของเขตประกอบการเสรีตามที่กรมศุลกากรกำหนด เช่น เลขที่ใบขนสินค้า รหัสสถิติ พิกัดอัตราศุลกากร ลำดับรายการ ปริมาณ ของน้ำหนัก และหน่วยนับให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป + 6.2. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะดำเนินการรวบรวมและจัดทำข้อมูลตามข้อ (6.1) ของผู้ประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรีที่ประกอบการพาณิชยกรรม และจัดส่งให้กรมศุลกากรภายในวันที่ยี่สิบของเดือนถัดไป
  7. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะทำการประมวลผลการตัดบัญชีเพื่อรับบรรทุกของที่ส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายเข้าไปในเขตประกอบการเสรีโดยอัตโนมัติ

ส่วนที่ 4 การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรีทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 82 การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรีทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 82 การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรีทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการนำของออกจากเขตประกอบการเสรี เพื่อใช้หรือจำหน่ายภายในราชอาณาจักร หรือเพื่อโอนไปยังเขตประกอบการเสรีอื่น หรือโอนไปยังเขตปลอดอากร หรือคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้นำของเข้ามาตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หรือเพื่อจำหน่ายให้แก่ ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร หรือเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เป็นต้น

  1. ให้ผู้นำของออกจากเขตประกอบการเสรีเป็นผู้จัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรีตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด แล้วเป็นผู้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนการขนย้ายของออกจากเขตประกอบการเสรี + 1.1. การสำแดงราคา และฐานราคาในการคำนวณค่าภาษีอากร สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรี + 1.2. การคำนวณค่าภาษีอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรี ให้ถือตามสภาพแห่งของ ราคาศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่นำของนั้นออกจากเขตประกอบการเสรี
    + 1.3. ให้นำวิธีการกำหนดราคาศุลกากรสำหรับการนำของเข้ามาในราชอาณาจักรมาใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรสำหรับของที่นำออกจากเขตประกอบการเสรี + 1.4. กรณีที่ของที่นำออกจากเขตประกอบการเสรี เพื่อชำระภาษีอากรมีส่วนผสมของ ของในประเทศที่ได้นำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีโดยไม่มีสิทธิหรือไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นหรือคืนอากร
    • 1.4.1. ให้นำราคาของของในประเทศที่ผสมอยู่นั้นตามที่สำแดงไว้ในคำร้องขอนำเข้าในเขตประกอบการเสรีมาหักออกจากราคาของทั้งหมด และใช้ราคาที่ได้หักราคาของในประเทศ แล้วมาคำนวณเฉพาะอากรศุลกากร
    • 1.4.2. ในการคำนวณค่าภาษีตามกฎหมายอื่น (ถ้ามี) ให้เป็นไปตามที่กฎหมายอื่นนั้น ๆ กำหนดไว้ และให้ใช้ราคาศุลกากรสำหรับการนำเข้าที่ไม่ได้หักทอนเป็นฐานในการคำนวณ
  2. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง
    • 2.1. ถ้าพบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบรหัสข้อผิดพลาดกลับไปให้ผู้ส่งข้อมูล เพื่อทำการแก้ไขข้อมูลและส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรีที่แก้ไขแล้วเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
    • 2.2. ถ้าไม่พบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะกำหนดเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรีทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวนสิบสี่หลัก ในสถานะพร้อมตรวจปล่อย
    • 2.3. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบกลับเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรีทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้ส่งข้อมูล โดยถือเป็นการยื่นใบขนสินค้าถูกต้องต่อกรมศุลกากร
  3. การตรวจของตามใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรีให้ดำเนินการก่อนการนำของนั้นออกจากเขตประกอบการเสรี
    • 3.1. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะทำการแจ้งกลับให้ผู้ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรีทราบ เพื่อมาติดต่อรับพนักงานศุลกากรที่กำกับดูแลเขตประกอบการเสรี นั้นเป็นผู้ทำการตรวจสอบพิกัด ราคา และของ
    • 3.2. การตรวจสอบพิกัด ราคา และของ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร และให้ใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาศุลกากรโดยอนุโลม
      • 3.2.1. ให้ใช้พิกัดอัตราศุลกากรของของในเวลาซึ่งได้ปล่อยของเช่นว่านั้นออกไปจากเขตประกอบการเสรี ไม่ว่าจะปล่อยไปในสภาพเดิมที่นำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีหรือในสภาพอื่น
      • 3.2.2. ให้ใช้ราคาศุลกากรตามสภาพแห่งของในเวลาซึ่งได้ปล่อยของเช่นว่านั้นออกไปจากเขตประกอบการเสรี
      • 3.2.3. กรณีของที่นำออกจากเขตประกอบการเสรีนั้นได้มีการนำไปผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใด โดยมีของที่อยู่ในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรี โดยไม่มีสิทธิหรือไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นหรือคืนอากรรวมอยู่ด้วย ไม่ต้องนำราคาของของเช่นว่านั้นมารวมเป็นราคาในการคำนวณอากร
      • 3.2.4. ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (ถ้ามี) ที่ใช้อยู่ในวันที่นำของนั้นออกจากเขตประกอบการเสรี
    • 3.3. เมื่อตรวจสอบพิกัด ราคา และของแล้วเสร็จพนักงานศุลกากรจะทำการบันทึก การตรวจพร้อมวันที่ที่ทำการตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร และถือเป็นการนำของเข้ามาในราชอาณาจักรในเวลาที่ตรวจปล่อยของตามใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายจากเขตประกอบการเสรี ออกจากเขตประกอบการเสรี
  4. ให้นำของที่ตรวจสอบแล้วออกจากเขตประกอบการเสรีนั้นได้

ข้อ 83 การนำของในเขตประกอบการเสรีไปใช้เพื่อการบริโภค หรือใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น

ข้อ 83 การนำของในเขตประกอบการเสรีไปใช้เพื่อการบริโภค หรือใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเขตประกอบการเสรีหรือการประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรี
ให้ถือว่าเป็นการนำของออกจากเขตประกอบการเสรี

  1. ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรีหรือผู้นำของออกจากเขตประกอบการเสรีเป็นผู้จัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายชำระภาษีอากรจากเขตประกอบการเสรีตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด
  2. จัดส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร เพื่อขอชำระภาษีอากรให้ถูกต้องครบถ้วน
  3. การตรวจสอบของให้ดำเนินการเช่นเดียวกับการนำของนั้นออกจากเขตปลอดอากร
  4. เมื่อตรวจสอบพิกัด ราคา และของแล้วเสร็จ พนักงานศุลกากรจะทำการบันทึกการตรวจ พร้อมวันที่ที่ทำการตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
  5. ให้นำของที่ตรวจสอบแล้วไปบริโภคหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ๆ ได้