หมวดที่ 1 กระบวนการทางศุลกากรโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์


ข้อ 2 เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนการทางศุลกากร

ข้อ 2 เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนการทางศุลกากร การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสามารถกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

  1. ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์
    • 1.1. ห้ามปฏิเสธความผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะ เหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์.
    • 1.2. ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้จัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้ โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว
    • 1.3. ในกรณีที่ต้องลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้าได้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด
  2. การปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้สามารถกระทำได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์พร้อมลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) ของเจ้าของลายมือชื่อ ผ่านบุคคลที่เป็นสื่อกลางผู้ให้บริการรับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Value Added Network Services : VANS) เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด (ebXML/ XML Format) แทนการจัดทำ ยื่น ส่ง รับเอกสาร และการลงลายมือชื่อในกระดาษ
  3. การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรทดแทนเอกสารใด ๆ หากระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรผู้รับข้อมูลได้ทำการตอบรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นในการปฏิบัติพิธีการแล้ว ถือเป็นการยื่นเอกสารนั้น ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรแล้ว

ส่วนที่ 1 การลงทะเบียน

ข้อ 3 ผู้ประสงค์จะปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. ให้ยื่นแบบคำร้องขอลงทะเบียนเป็นผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการศุลกากร ณ ส่วนทะเบียนและสิทธิพิเศษ สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร หรือฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักงานศุลกากรหรือด่านศุลกากร หรือยื่นแบบคำขอลงทะเบียน ทางระบบลงทะเบียนผู้มาติดต่อออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต
  2. หลักเกณฑ์และวิธีการในการขอจดทะเบียนและคุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแบบ คำขอลงทะเบียน
  3. หากผู้ลงทะเบียนประสงค์จะเป็นผู้ส่งข้อมูลและผู้รับข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กับระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร ให้ลงทะเบียนตามประกาศกรมศุลกากรว่าด้วยการลงทะเบียนใช้บริการระบบ National Single Window (NSW) ของประเทศ และให้ทำการทดสอบระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลและ / หรือการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ส่วนแผนงานและมาตรฐาน สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำหนดแล้วจึงรับส่งข้อมูลโดยใช้หมายเลขผู้มีสิทธิรับส่งข้อมูล ทางอิเล็กทรอนิกส์กับระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร (Production System) ต่อไป
  4. ผู้ที่ได้รับการอนุมัติให้ลงทะเบียนเป็นผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ให้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการนำของเข้า การส่งของออกและการดำเนินการในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร รวมถึงการชดเชยค่าภาษีอากรได้ทุกขั้นตอน โดยไม่ต้องใช้บัตรผ่านพิธีการใด ๆ อีก

ส่วนที่ 2 กระบวนการทางศุลกากรโดยระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว

ข้อ 4 กระบวนการทางศุลกากรโดยระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (Single Window)

  1. กรณีการปฏิบัติพิธีการศุลกากร โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร
    • 1.1. ให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกส่งข้อมูลการปฏิบัติพิธีการพร้อมลงลายมือชื่อ อิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด (ebXML / XML Format) ผ่านผู้ให้บริการรับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Value Added Network Services : VANS) เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ของศุลกากร
    • 1.2. เมื่อของได้ปล่อยออกจากอารักขาศุลกากรหรือระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร ทำการรับบรรทุกของส่งออกแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะทำการส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบ การดำเนินการต่อเนื่องในกระบวนการของศุลกากร เช่น ระบบการคืนอากรเพื่อการส่งออก ระบบคลังสินค้าทัณฑ์บน ระบบคืนอากรทั่วไป ต่อไป
  2. กรณีการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร
    • 2.1. สำหรับการอนุมัติ / อนุญาตให้กับของที่นำเข้า / ส่งออกตามบัญชีราคาสินค้าที่นำเข้าเป็นรายครั้ง
      • 2.1.1. ให้ผู้ขออนุญาตทำการส่งข้อมูลบัญชีราคาสินค้าตามมาตรฐาน ที่กรมศุลกากรกำหนดร่วมกับหน่วยงานนั้น ๆ พร้อมข้อมูลการขออนุมัติ / อนุญาตที่หน่วยงานนั้น กำหนดผ่านผู้ให้บริการรับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานดังกล่าว
      • 2.1.2. เมื่อหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมการนำเข้าพิจารณาข้อมูลคำขอของผู้นำของเข้า และทำการบันทึกการอนุมัติ / อนุญาตในระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานนั้น ๆ แล้วระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานนั้นจะแจ้งกลับผ่านผู้ให้บริการรับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ส่งข้อมูลทราบเลขที่การอนุมัติ/อนุญาตดังกล่าว
      • 2.1.3. ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานนั้นจะส่งผ่านข้อมูลบัญชีราคาสินค้าพร้อมข้อมูลการอนุมัติ / อนุญาตของหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรโดยผ่านระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว โดยผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรไม่ต้องยื่นแสดงเอกสารการอนุมัติ / อนุญาตในรูปแบบกระดาษให้ศุลกากรในขณะปฏิบัติพิธีการศุลกากรอีก
      • 2.1.4. เมื่อของได้ปล่อยออกจากอารักขาศุลกากรหรือระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรทำการรับบรรทุกของส่งออกแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะทำการส่งข้อมูลตอบกลับให้หน่วยงานนั้นทราบโดยผ่านระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว
    • 2.2. สำหรับการอนุมัติ / อนุญาตให้กับของที่นำเข้า-ส่งออกในกรณีอื่น ๆ
      • 2.2.1. ให้ผู้ขออนุมัติ / อนุญาตจัดส่งข้อมูลตามมาตรฐานที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด ผ่านผู้ให้บริการรับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานดังกล่าว
      • 2.2.2. เมื่อหน่วยงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมการนำเข้า / ส่งออกพิจารณาข้อมูลคำขอและทำการบันทึกการอนุมัติ / อนุญาตในระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานนั้น ๆ แล้วระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานดังกล่าวจะแจ้งกลับให้ผู้ส่งข้อมูลทราบเลขที่การอนุมัติ / อนุญาตดังกล่าว โดยผ่านผู้ให้บริการรับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
      • 2.2.3. ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานนั้นจะส่งผ่านข้อมูลการอนุมัติ / อนุญาตดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรโดยผ่านระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว
      • 2.2.4. เมื่อของได้ปล่อยออกจากอารักขาศุลกากรหรือระบบคอมพิวเตอร์ ของศุลกากรทำการรับบรรทุกของส่งออกแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะทำการบันทึกผลการปล่อยของ / การรับบรรทุกและข้อมูลเลขที่การอนุมัติ / อนุญาตไว้ โดยผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรไม่ต้องยื่นแสดงเอกสารการอนุมัติ / อนุญาตในรูปแบบกระดาษให้ศุลกากรในขณะปฏิบัติพิธีการศุลกากรอีก
    • 2.3. กรณีหน่วยงานนั้นต้องการข้อมูลเพื่อดำเนินการในระบบการดำเนินการต่อเนื่อง ในกระบวนการของหน่วยงานดังกล่าว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะส่งผ่านข้อมูลการดำเนินกระบวนการศุลกากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้มีการบันทึกผลการปล่อยของหรือการรับบรรทุกแล้วให้กับหน่วยงานนั้น ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ระหว่างหน่วยงานต่อไป

ส่วนที่ 3 การรับรองข้อมูลในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 5 การรับรองข้อมูลในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้ตอบรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นในการปฏิบัติพิธีการแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะส่งผ่านข้อมูลซึ่งรับรองแล้วเข้าสู่ระบบการดำเนินการต่อเนื่อง ดังนี้
    • 1.1. ในกระบวนการศุลกากร เช่น ระบบคลังสินค้าทัณฑ์บน ระบบเขตปลอดอากร ระบบคืนอากรเพื่อการส่งออก ระบบคืนอากรทั่วไป ระบบชดเชยอากร ระบบคดี เป็นต้น โดยผู้นำของเข้าไม่ต้องจัดส่งเอกสารในรูปแบบเอกสารอีก
    • 1.2. ในกระบวนการของหน่วยงานอื่น เช่น ระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของสรรพากร ระบบตัดบัญชีวัตถุดิบตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ระบบการคืนภาษีสรรพสามิต เป็นต้น โดยไม่ต้องจัดส่งเอกสารสำเนาใบขนสินค้ามุมน้ำเงินในรูปแบบกระดาษอีก
  2. ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกหรือผู้ส่งข้อมูลต้องการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรเก็บรักษาไว้เป็นเอกสารต้นฉบับตามกฎหมาย ให้ผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากร ยื่นคำขอรับรองเอกสารใบขนสินค้าขาเข้า ใบขนสินค้าขาออก ต่อหน่วยงานบริการศุลกากร พร้อมชำระค่าธรรมเนียมการจำลองเอกสารตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง พนักงานศุลกากรจะพิมพ์เอกสารจากระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรและลงชื่อรับรองว่า “ใบขนสินค้าได้พิมพ์จากระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร”
  3. ในกรณีต้องการให้ลงนามรับรองในเอกสารตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศของหน่วยงานอื่น ให้ผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรยื่นเอกสารต่อหน่วยงานบริการศุลกากรในขณะปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อขอให้ตรวจสอบและลงนามรับรองในเอกสารดังกล่าวได้

ส่วนที่ 4 การจัดเก็บหลักฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 6 ให้ผู้ดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากรไว้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องนั้น ๆ
Previous