หมวดที่ 2 การเสียค่าภาษีอากร

ข้อ 7 การเสียค่าภาษีอากรให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร กฎหมายพิกัดอัตราศุลกากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยให้ดำเนินการดังนี้

  1. ชำระเงินค่าภาษีอากร ณ หน่วยการเงินของด่านศุลกากรที่นำของเข้า / ส่งของออก เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้ออกเลขที่ใบขนสินค้าให้
    • 1.1. ให้แจ้งเลขที่ใบขนสินค้าและจำนวนค่าภาษีอากร เพื่อยื่นขอชำระค่าภาษีอากร เป็นเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คหรือบัตรภาษี ได้ ณ หน่วยการเงินของด่านศุลกากรที่นำของเข้า / ส่งของออก
    • 1.2. เมื่อพนักงานศุลกากรหน่วยการเงินได้รับชำระค่าภาษีอากรแล้ว จะสั่งพิมพ์ และลงนามในใบเสร็จรับเงิน เพื่อมอบใบเสร็จรับเงินให้ผู้ชำระค่าภาษีอากรทันที
  2. ชำระค่าภาษีอากรโดยวิธีตัดบัญชีธนาคาร
    • 2.1. ให้แจ้งความประสงค์ขอชำระค่าภาษีอากร โดยระบุให้ตัดบัญชีเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ของผู้ชำระค่าภาษีอากร และโอนเงินผ่านระบบของธนาคารศุลกากรเพื่อนำเข้าบัญชีเงินฝากของกรมศุลกากรในขณะส่งข้อมูลใบขนสินค้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
    • 2.2. เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรออกเลขที่ใบขนสินค้าให้ ระบบคอมพิวเตอร์ ของศุลกากรจะส่งข้อมูลขอตัดบัญชีเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ที่ผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากร ทางอิเล็กทรอนิกส์แจ้งไว้ไปยังธนาคารศุลกากร (Customs Banks)
    • 2.3. เพื่อให้ธนาคารศุลกากรดำเนินการขอตัดบัญชีเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว และโอนเงินผ่านระบบของธนาคารศุลกากรเพื่อนำเข้าบัญชีเงินฝากของกรมศุลกากรที่เปิดไว้กับธนาคารศุลกากรนั้น
    • 2.4. เมื่อธนาคารศุลกากรสามารถตัดบัญชีรับชำระค่าภาษีอากรได้และทำการตอบกลับการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของกรมศุลกากรแล้ว
    • 2.5. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะออกเลขรับชำระค่าภาษีอากร และส่งกลับข้อมูลให้ผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ทราบพร้อมกับเปลี่ยนสถานะใบขนสินค้าเป็น “ใบขนสินค้า ที่ชำระค่าภาษีอากรแล้ว” โดยอัตโนมัติ
    • 2.6. พนักงานศุลกากรหน่วยการเงินจะเรียกข้อมูลตามวันที่รับชำระและเลขที่ชำระอากรแล้วสั่งพิมพ์และลงนามในใบเสร็จรับเงินของใบขนสินค้าแต่ละฉบับ เพื่อให้ผู้ชำระค่าภาษีอากรรับใบเสร็จรับเงินได้ ณ หน่วยงานบริการศุลกากรที่ตรวจปล่อยสินค้า
    • 2.7. กรณีไม่สามารถตัดบัญชีเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ที่ผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากร ทางอิเล็กทรอนิกส์แจ้งไว้ได้ ต้องดำเนินการตาม ข้อ 7 (1) โดยมาชำระเงินที่หน่วยรับชำระเงิน ของด่านศุลกากรที่นำของเข้า / ส่งของออก
  3. การวางประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Guarantee) กรณีใบขนสินค้าที่ต้องมีการวางประกัน
    • 3.1. ให้ผู้ประสงค์จะวางประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Guarantee) ตั้งวงเงินค้ำประกันหลักกับธนาคารศุลกากร และแจ้งความประสงค์ขอวางค้ำประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Guarantee) ในขณะส่งข้อมูลใบขนสินค้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
    • 3.2. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะส่งข้อมูลตั้งภาระค้ำประกันไปยังธนาคาร และธนาคารจะตัดวงเงินค้ำประกันของผู้ขอวางประกัน โดยธนาคารจะแจ้งผลการตั้งภาระค้ำประกันกลับมายังระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร พร้อมหักยอดวงเงินประกันลงตามจำนวนภาระค้ำประกันของใบขนสินค้านั้น ๆ
    • 3.3. เมื่อธนาคารศุลกากรสามารถหักยอดวงเงินประกันตามจำนวนภาระค้ำประกัน ของใบขนสินค้านั้น และได้แจ้งผลการตั้งภาระค้ำประกันกลับมายังระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะออกเลขที่รับประกันธนาคาร และส่งกลับข้อมูลให้ผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ทราบพร้อมกับเปลี่ยนสถานะใบขนสินค้าเป็น “ใบขนสินค้าที่วางประกันค่าภาษีอากรแล้ว” โดยอัตโนมัติ
    • 3.4. พนักงานศุลกากรหน่วยการเงินจะเรียกข้อมูลตามวันที่วางประกันและเลขที่วางประกันแล้วสั่งพิมพ์และลงนามในใบเสร็จรับเงินของใบขนสินค้าแต่ละฉบับ เพื่อให้ผู้ชำระประกัน รับใบเสร็จรับเงินได้ ณ หน่วยบริการศุลกากรที่ตรวจปล่อยสินค้า
    • 3.5. กรณีไม่สามารถตั้งภาระค้ำประกันได้ ให้ดำเนินการติดต่อธนาคาร เพื่อดำเนินการตั้งวงเงินประกันเพิ่ม และให้ธนาคารแจ้งผลการตั้งภาระค้ำประกันกลับมายังระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร พร้อมหักยอดวงเงินประกันตามจำนวนภาระค้ำประกันของใบขนสินค้านั้น
  4. กรณีวางประกันของธนาคารหรือหนังสือสัญญาประกันการชำระเงินค่าภาษีอากร ณ หน่วยการเงินของด่านศุลกากรที่นำของเข้า / ส่งของออก
    • 4.1. ให้แจ้งเลขที่ใบขนสินค้าและจำนวนค่าภาษีอากร เพื่อยื่นขอวางประกัน เป็นเงินสด หรือแคชเชียร์เช็ค หรือบัตรภาษี หรือสัญญาประกันในกรณีที่ธนาคารค้ำประกัน หรือหนังสือสัญญาประกัน ในกรณีประกันตนเองของหน่วยราชการได้ ณ หน่วยการเงินประจำด่านศุลกากรที่นำของเข้า / ส่งของออก
    • 4.2. เมื่อพนักงานศุลกากรหน่วยการเงินได้รับวางประกันแล้ว จะสั่งพิมพ์และลงนามในใบเสร็จรับเงิน เพื่อมอบใบเสร็จรับเงินให้ผู้วางประกันทันที
    • 4.3. หนังสือสัญญาประกันในกรณีที่ธนาคารค้ำประกันและ / หรือหนังสือสัญญาประกันตนเองของหน่วยราชการ ให้หน่วยงานบัญชีและอากรเป็นผู้เก็บรักษาหนังสือค้ำประกัน
  5. โดยใบเสร็จรับเงินมีรายการ เลขที่ใบเสร็จรับเงิน เลขที่ชำระอากรหรือเลขที่วางประกันหรือเลขที่ยกเว้นอากร เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ชื่อผู้นำของเข้าผู้ส่งของออก เลขที่ใบขนสินค้า และรายการภาษีที่ชำระ เป็นต้น