หมวดที่ 5 กระบวนการทางศุลกากรเกี่ยวกับการนำของออก


ข้อ 44 ในหมวดนี้

  1. การส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร หมายถึง การนำของใด ๆ จากภายในราชอาณาจักร ขนหรือย้ายขน โดยทางเรือ ทางอากาศยาน ทางรถไฟ ทางบก ทางท่อ ทางสายส่งไฟฟ้า ทางไปรษณีย์ เป็นต้น เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
  2. ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากรกับของที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ด่านศุลกากร หรือสนามบิน ที่เป็นด่านศุลกากร สุดท้ายที่ระบุไว้ว่าจะทำการขน หรือย้ายขนของเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
  3. เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติพิธีการหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากรกับของที่เก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน หรืออยู่ในเขตปลอดอากร และ / หรือ ในเขตประกอบการเสรี ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรสุดท้ายที่ระบุไว้ว่าจะทำการขน หรือย้ายขนของเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
  4. ผู้รับผิดชอบการบรรจุ หมายความถึง
    • 4.1 ผู้ส่งของออกหรือตัวแทน
    • 4.2 ผู้จัดการโรงงาน หรือผู้จัดการสถานประกอบการของผู้ส่งของออกที่ทำการ บรรจุสินค้า
    • 4.3 ผู้ประกอบการสถานที่ตรวจปล่อยและบรรจุสินค้าเข้าคอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออก สตส.
    • 4.4 ผู้ประกอบการโรงพักสินค้าเพื่อการตรวจปล่อยของขาเข้าและบรรจุของขาออก ที่ขนส่งโดยระบบคอนเทนเนอร์นอกเขตทำเนียบท่าเรือ รพท.
    • 4.5 ผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรี
    • 4.6 ผู้ให้บริการบรรจุสินค้าเข้าคอนเทนเนอร์ในเขตทำเนียบท่าเรือ
    • 4.7 ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าหรือตัวแทนของเรือ

ส่วนที่ 1 การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าขาออกทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 45 การส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออก

  1. ให้ผู้ส่งของออกจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาออกตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด และเป็นผู้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร ก่อนการขนย้ายของมายังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร เพื่อการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
    • 1.1. ในกรณีของที่จะทำการปล่อยออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อทำการขนย้ายไปยังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้ส่งของออกที่ได้ปล่อยของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้น เป็นผู้ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนการขนย้ายของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนที่เก็บของนั้น เพื่อเป็นข้อมูลกำกับการขนย้ายของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน
    • 1.2. ในกรณีของที่จะนำออกจากเขตปลอดอากร เพื่อทำการขนย้ายไปยังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้ส่งของออกที่จะนำของออกจากเขตปลอดอากร เป็นผู้ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนการขนย้ายของออกจากเขตปลอดอากรที่เก็บของนั้น เพื่อเป็นข้อมูลกำกับการขนย้ายของออกจากเขตปลอดอากร
    • 1.3. ในกรณีของที่จะนำของออกจากเขตประกอบการเสรี เพื่อทำการขนย้ายไปยังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้ส่งของออกที่จะนำของออกจากเขตประกอบการเสรีเป็นผู้ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร ก่อนการขนย้ายของออกจากเขตประกอบการเสรีที่เก็บของนั้น เพื่อเป็นข้อมูลกำกับการขนย้ายของออกจากเขตประกอบการเสรี
  2. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิงตรวจสอบกับข้อมูลการอนุมัติ / อนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    • 2.1 ถ้าพบข้อผิดพลาดในการตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบรหัสข้อผิดพลาดกลับไปให้ผู้ส่งข้อมูล ให้ผู้ส่งของออกทำการแก้ไขข้อมูลและส่งข้อมูลการแก้ไขข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
    • 2.2 ในการตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลการอนุมัติ / อนุญาต ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากพบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบรหัสข้อผิดพลาดกลับไปให้ผู้ส่งข้อมูลให้ผู้ส่งของออกทำการแก้ไขข้อมูลและส่งข้อมูลการแก้ไขข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
    • 2.3 ถ้าไม่พบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะกำหนดเลขที่ใบขนสินค้าขาออกทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวนสิบสี่หลัก ในสถานะพร้อมชำระค่าภาษีอากร ถ้ามี และแจ้งเลขที่ใบขนสินค้าขาออกทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ตอบกลับไปยังผู้ส่งข้อมูล โดยมีประเภทของเอกสารหลัก มีค่าเป็น 1 = ใบขนสินค้าขาออก โดยถือเป็นการยื่นเอกสารใบขนสินค้าขาออกต่อศุลกากรแล้ว

ข้อ 46 การชำระค่าภาษีอากร

  1. ให้ผู้ส่งของออกดำเนินการตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด
    • 1.1. กรณีใบขนสินค้าขาออกที่ต้องมีการวางค้ำประกันของธนาคาร เมื่อผู้ส่งของออก ดำเนินการตั้งภาระค้ำประกันตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนดแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะออกเลขที่รับประกันธนาคาร พร้อมกับเปลี่ยนสถานะใบขนสินค้าขาออกเป็น “ใบขนสินค้าที่ชำระค่าภาษีอากรแล้ว” โดยอัตโนมัติ
    • 1.2. กรณีใบขนสินค้าขาออกที่ต้องชำระค่าภาษีอากร เมื่อผู้นำของออกชำระภาษีอากร แล้วระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะออกเลขชำระค่าภาษีอากร พร้อมกับเปลี่ยนสถานะใบขนสินค้าขาออกเป็น “ใบขนสินค้าที่ชำระค่าภาษีอากรแล้ว” โดยอัตโนมัติ
    • 1.3. กรณีใบขนสินค้าขาออกยกเว้นอากร ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะออกเลขที่ยกเว้นอากร พร้อมกับเปลี่ยนสถานะใบขนสินค้าขาออกเป็น “ใบขนสินค้าที่ยกเว้นอากรแล้ว” โดยอัตโนมัติ
  2. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบเลขที่วางประกัน หรือเลขที่ชำระอากร หรือเลขที่ยกเว้นอากร แต่ละรายการในใบขนสินค้าขาออกกลับไปให้ผู้ส่งข้อมูล

ข้อ 47 กรณีผู้ส่งของออกไม่ประสงค์จะทำการส่งของออกตามใบขนสินค้าขาออก

ข้อ 47 กรณีผู้ส่งของออกไม่ประสงค์จะทำการส่งของออกตามใบขนสินค้าขาออกที่ได้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มายังระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรแล้ว หรือข้อมูลใบขนสินค้าขาออกที่ได้รับการตอบรับเลขที่ใบขนสินค้าขาออกแล้วผิดพลาด หรือให้ผู้ส่งของออกขอยกเลิกเลขที่ใบขนสินค้าขาออกฉบับนั้น ๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรทำการยกเลิกเลขที่ใบขนสินค้าฉบับนั้นออกจากระบบก่อนการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของใบขนสินค้าขาออกที่ถูกต้องมาใหม่

ส่วนที่ 2 การปฏิบัติพิธีการการกำกับการขนย้ายสินค้าเพื่อการส่งออกทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 48 ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุที่เป็นผู้ทำการบรรจุสินค้าที่จะขนย้ายมายังด่านศุลกากร ดำเนินการบรรจุสินค้า

ข้อ 48 ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุที่เป็นผู้ทำการบรรจุสินค้าที่จะขนย้ายมายังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่ส่งออกเพื่อการส่งของออกดำเนินการบรรจุสินค้า ดังนี้

  1. กรณีบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุทำการปิดผนึกตู้คอนเทนเนอร์ ด้วยวิธีที่ผู้รับผิดชอบการบรรจุกำหนดเมื่อบรรจุของเข้าตู้คอนเทนเนอร์แล้วเสร็จ
    • 1.1. กรณีตู้คอนเทนเนอร์เป็นของผู้ส่งออกเพียงรายเดียว FCL ไม่ว่าจะมีใบขนสินค้าขาออกฉบับเดียวหรือหลายฉบับก็ตาม ให้ทำการบรรจุสินค้านอกเขตอารักขาของศุลกากรได้
    • 1.2. กรณีตู้คอนเทนเนอร์เป็นของผู้ส่งของออกมากกว่าหนึ่งราย LCL ต้องทำการบรรจุภายในเขตอารักขาของศุลกากรเท่านั้น
    • 1.3. กรณีตู้คอนเทนเนอร์เป็นของผู้ส่งของออกมากกว่าหนึ่งราย LCL ที่ทำการบรรจุนอกเขตอารักขาศุลกากรให้ดำเนินการดังนี้
      • 1.3.1 ผู้ส่งของออกต้องมีความจำเป็นในการบรรจุของในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกัน เช่น เป็นผู้ส่งออกในเครือบริษัทเดียวกัน หรือผู้ส่งออกที่มีสายการผลิตต่อเนื่องกัน หรือ ผู้ส่งออกที่มีเงื่อนไขจากลูกค้าให้ส่งออกโดยบรรจุพร้อมกับผู้ส่งออกรายอื่น หรือกรณีสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ เน่าเสียง่าย เป็นต้น
      • 1.3.2 ให้ผู้ส่งของออกซึ่งเป็นผู้ทำการบรรจุสินค้าทั้งหมดที่จะขนย้ายมายังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อการส่งของออก เป็นผู้จัดทำข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้า และเป็นผู้ส่งข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าสำหรับใบขนสินค้าขาออกที่บรรจุร่วมกันในตู้คอนเทนเนอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
      • 1.3.3 โดยผู้ส่งข้อมูลใบกำกับการขนย้ายดังกล่าวมีความรับผิดชอบต่อผู้ส่งของออกรายอื่นเช่นเดียวกับผู้รับผิดชอบการบรรจุที่อยู่ในเขตอารักขาศุลกากร
  2. กรณีทำการบรรจุสินค้าในพาหนะแบบปิด ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุทำการปิดผนึกประตูพาหนะที่ใช้ขนย้ายสินค้าด้วยวิธีที่ผู้รับผิดชอบการบรรจุกำหนดเมื่อบรรจุของขึ้นบนพาหนะแล้วเสร็จ
  3. กรณีทำการบรรจุสินค้าขึ้นบนยานพาหนะแบบเปิด ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุทำการคลุมผ้าใบหรือคลุมตาข่ายที่พาหนะที่ใช้ในการขนย้ายสินค้าแล้วใช้เชือกผูกประทับตราผนึกด้วยวิธีที่ผู้รับผิดชอบการบรรจุกำหนดเมื่อบรรจุของขึ้นบนพาหนะแล้วเสร็จ
  4. กรณีทำการขนย้ายสินค้าที่ไม่อาจทำการชั่งน้ำหนักสินค้าขณะทำการขนถ่ายได้ในคราวเดียวกัน เช่น การขนถ่ายโดยเรือฉลอม หรือโดยสายพานลำเลียง หรือโดยทางท่อขนส่ง เป็นต้น ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุทำการขนถ่ายสินค้าเข้าสู่เรือค้าต่างประเทศที่ใช้ในการขนย้ายของนั้นออกนอกราชอาณาจักร หรือให้ลำเลียงของทางท่อขนส่งออกไปนอกราชอาณาจักรทางบก จนเสร็จสิ้นตามใบขนสินค้าขาออก

ข้อ 49 การส่งข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้า

  1. ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุ จัดทำข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด แล้วเป็นผู้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร ก่อนการขนย้ายของมายังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
    • 1.1. กรณีการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุจัดทำข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าตามปริมาณและน้ำหนักที่บรรจุจริงเป็นรายตู้คอนเทนเนอร์
    • 1.2. กรณีการบรรจุสินค้ารายหีบห่อและทำการขนส่งไปยังสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อการส่งออก ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุจัดทำข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าตามปริมาณและน้ำหนักที่ส่งออกจริงเป็นรายใบขนสินค้าขาออกทางอากาศยาน
    • 1.3. กรณีการบรรจุสินค้าในยานพาหนะและทำการขนส่งผ่านเขตแดนทางบก ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุจัดทำข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าตามบัญชีสินค้าที่ทำการบรรจุจริง เป็นรายยานพาหนะที่ใช้ในการขนย้ายสินค้า และให้ใช้ใบกำกับการขนย้ายสินค้าดังกล่าวเป็นบัญชีสินค้า แบบ ศ.บ. 3 เพื่อแสดงในการกำกับการนำยานพาหนะที่ใช้ในการขนย้ายสินค้าผ่านเขตแดนทางบกออกไปนอกราชอาณาจักรด้วย
    • 1.4. กรณีการขนย้ายสินค้าโดยวิธีอื่น เนื่องจากโดยสภาพของการขนย้ายสินค้า แล้วไม่อาจทำการชั่งน้ำหนักสินค้าขณะทำการขนถ่ายได้ในคราวเดียวกัน เช่น การขนถ่ายโดยเรือฉลอม หรือโดยสายพานลำเลียง หรือโดยทางท่อขนส่ง เป็นต้น ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุจัดทำข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้ากำกับตามรายใบขนสินค้าขาออก
  2. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง และตรวจสอบเงื่อนไขความเสี่ยง ถ้าพบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรจะตอบรหัสข้อผิดพลาดกลับไปให้ผู้ส่งข้อมูล ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุทำการแก้ไขข้อมูลและส่งข้อมูลแก้ไขข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
  3. ถ้าไม่พบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร จะกำหนดเลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนสิบสองหลัก ให้ผู้ส่งข้อมูล
  4. ผู้ส่งข้อมูลสามารถส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรเพื่อแก้ไขข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าได้ ก่อนการขนย้ายสินค้าเข้าไปในสถานีรับบรรทุก หรือก่อนผ่านจุดรับบรรทุกที่กำหนด โดยไม่ต้องพิจารณาความผิด

ข้อ 50 การกำกับการขนย้ายสินค้า

  1. ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุกำกับการขนย้ายสินค้าไปยังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่ส่งออก ดังนี้
    • 1.1. ในกรณีบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออกให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุดำเนินการ เช่น สั่งพิมพ์ใบกำกับการขนย้ายสินค้าจากระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำสำเนาภาพถ่ายใบกำกับการขนย้ายสินค้า หรือแสดงเลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้าที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้กำหนดให้ในเอกสารอื่นใด มอบให้พนักงานขับรถที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เพื่อกำกับสินค้าที่ทำการขนย้ายนั้น
    • 1.2. ในกรณีบรรจุสินค้าในพาหนะที่จะทำการขนส่งมายังสนามบินที่ส่งออก ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุสั่งพิมพ์ใบกำกับการขนย้ายสินค้าจากระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำสำเนาภาพถ่ายใบกำกับการขนย้ายสินค้า หรือแสดงเลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้าที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้กำหนดให้ในเอกสารอื่นใด เพื่อแจ้งให้ผู้รับผิดชอบในการขนย้ายสินค้าทราบถึงเลขที่ ใบกำกับการขนย้ายสินค้าที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้กำหนดให้เพื่อกำกับสินค้าที่ทำการขนย้ายนั้น
    • 1.3. ในกรณีการบรรจุสินค้าในยานพาหนะเพื่อทำการขนส่งผ่านเขตแดนทางบก ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุดำเนินการสั่งพิมพ์ใบกำกับการขนย้ายสินค้าจากระบบคอมพิวเตอร์หรือทำสำเนาภาพถ่ายใบกำกับการขนย้ายสินค้า แล้วมอบให้ผู้ควบคุมยานพาหนะเพื่อนำไปยื่นต่อจุดรับบรรทุกสินค้าที่กำหนด และให้ใช้เป็นบัญชีสินค้า แบบ ศ.บ. 3 เพื่อยื่นต่อด่านพรมแดนในการนำยานพาหนะผ่านเขตแดนทางบกต่อไป
    • 1.4. ในกรณีการขนย้ายสินค้าโดยวิธีอื่น เนื่องจากโดยสภาพของการขนย้ายสินค้า แล้วไม่อาจทำการชั่งน้ำหนักสินค้าขณะทำการขนถ่ายได้ในคราวเดียวกัน ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุ สั่งพิมพ์ใบกำกับการขนย้ายสินค้าจากระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำสำเนาภาพถ่ายใบกำกับการขนย้ายสินค้า หรือแสดงเลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้าที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้กำหนดให้ในเอกสารอื่นใด เพื่อแจ้งให้ผู้รับผิดชอบในการขนย้ายสินค้าทราบถึงเลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้าที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้กำหนดให้
  2. หากด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่ส่งออกมีระบบตรวจสอบรหัสโดยใช้ความถี่วิทยุ Radio Frequency Identification : RFID ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุทำการติดอุปกรณ์ระบบตรวจสอบรหัสโดยใช้ความถี่วิทยุซึ่งมีข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าที่ตู้คอนเทนเนอร์ หรือพาหนะที่ใช้ขนย้ายสินค้าหรือที่ที่สามารถสื่อสารกับตัวอ่านระบบตรวจสอบรหัสโดยใช้ความถี่วิทยุ RFID Reader ได้

ส่วนที่ 3 การขนย้ายสินค้าผ่านสถานีรับบรรทุก ณ ด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร

ข้อ 51 ก่อนการขนย้ายสินค้าเข้าไปในสถานีรับบรรทุก หรือก่อนผ่านจุดรับบรรทุกที่กำหนดให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุดำเนินการ ดังนี้

  1. กรณีบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออก ให้พนักงานขับรถที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ หรือยานพาหนะที่ใช้ในการขนย้ายสินค้าไปยังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่ส่งออกดำเนินการชั่งน้ำหนักของตู้คอนเทนเนอร์ก่อนที่จะถึงสถานีรับบรรทุก
  2. กรณีบรรจุสินค้าในพาหนะที่จะทำการขนส่งมายังสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่ส่งออก ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุทำการชั่งน้ำหนักของสินค้าก่อนยื่นใบกำกับการขนย้ายสินค้า ณ จุดรับบรรทุกที่กำหนด
  3. กรณีการบรรจุสินค้าในยานพาหนะเพื่อทำการขนส่งผ่านเขตแดนทางบก หากจุดรับบรรทุกสินค้าที่กำหนดมีเครื่องชั่งน้ำหนักให้ผู้ควบคุมยานพาหนะดำเนินการชั่งน้ำหนักของสินค้าก่อนยื่นใบกำกับการ ขนย้ายสินค้า ณ จุดรับบรรทุกที่กำหนด
  4. กรณีการขนย้ายสินค้าโดยวิธีอื่น เนื่องจากโดยสภาพของการขนย้ายสินค้าแล้วไม่อาจทำการชั่งน้ำหนักสินค้าขณะทำการขนถ่ายได้ในคราวเดียวกัน ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุดำเนินการขนย้ายสินค้า จนเสร็จสิ้นตามใบขนสินค้าขาออก

ข้อ 52 ทำการชั่งน้ำหนักของตู้คอนเทนเนอร์หรือสินค้า แล้วออกใบตรวจรับสภาพตู้สินค้าหรือใบชั่ง

ข้อ 52 ให้ผู้ประกอบการทำเนียบท่าเรือ ผู้ประกอบการสถานที่ที่ส่งออก หรือผู้ประกอบการคลังสินค้า / ผู้ประกอบการเขตปลอดอากร ณ สนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่ส่งออก ทำการชั่งน้ำหนักของตู้คอนเทนเนอร์หรือสินค้า แล้วออกใบตรวจรับสภาพตู้สินค้าหรือใบชั่ง Equipment Interchange Receipt : EIR พร้อมกับบันทึกข้อมูลใบตรวจรับสภาพตู้สินค้าหรือใบชั่งสินค้าตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร เพื่อใช้ประกอบการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าของศุลกากร

ส่วนที่ 4 การตรวจสอบ ณ สถานีรับบรรทุก

ข้อ 53 การตรวจสอบและตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า

  1. ให้พนักงานขับรถหรือตัวแทนผู้รับผิดชอบการบรรจุแสดงใบกำกับการขนย้ายสินค้า ถ้ามี หรือแจ้งเลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้าที่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรได้กำหนดให้ พร้อมแนบใบตรวจรับสภาพตู้หรือใบชั่งสินค้า ถ้ามี แก่พนักงานศุลกากรที่ประจำสถานีรับบรรทุกหรือจุดรับบรรทุกสินค้าที่กำหนดนั้น
  2. พนักงานศุลกากรจะตรวจสอบเลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้าที่ได้รับแจ้งว่ามีข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรแล้ว
  3. ของที่จะนำผ่านสถานีรับบรรทุกหรือจุดรับบรรทุกสินค้าที่กำหนดต้องถูกต้องตรงตามข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้า ดังนี้
    • 3.1 ในกรณีบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ เลขที่ตู้คอนเทนเนอร์ที่จะนำผ่านสถานีรับบรรทุกหรือจุดรับบรรทุกสินค้าที่กำหนดต้องถูกต้องตรงตามข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรเท่านั้น
    • 3.2 ในกรณีบรรจุสินค้าในพาหนะที่จะทำการขนส่งมายังสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่ส่งออก ในขณะที่จะนำสินค้าผ่านสถานีรับบรรทุกหรือจุดรับบรรทุกสินค้าที่กำหนด ให้ผู้รับผิดชอบ การบรรจุแจ้งเลขที่ ใบตราส่งสินค้าทางอากาศยาน Air WayBill ให้พนักงานศุลกากรทราบก่อนนำสินค้าผ่านสถานีรับบรรทุกหรือจุดรับบรรทุกสินค้าที่กำหนด
    • 3.3 ในกรณีการบรรจุสินค้าในยานพาหนะเพื่อทำการขนส่งผ่านเขตแดนทางบก เลขทะเบียนยานพาหนะที่บรรทุกสินค้ามายังด่านศุลกากรที่ส่งออก หรือจุดรับบรรทุกที่กำหนดต้องถูกต้องตรงตามข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรเท่านั้น
  4. การตรวจสอบตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า
    • 4.1 พนักงานศุลกากรจะตรวจสอบข้อมูลใบขนสินค้าขาออกที่ระบุเลขที่ไว้ในใบกำกับการขนย้ายสินค้าว่าอยู่ในเงื่อนไขความเสี่ยงที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรกำหนดว่ารับได้ แล้วทำการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าดังกล่าว และอนุญาตให้นำสินค้าผ่านสถานีรับบรรทุกหรือจุดรับบรรทุกสินค้าที่กำหนดได้
    • 4.2 กรณีที่ใช้ระบบตรวจสอบรหัสโดยใช้ความถี่วิทยุสำหรับติดตามรถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ หรือยานพาหนะที่ทำการขนย้ายสินค้า และที่สถานีรับบรรทุกมีตัวอ่านระบบตรวจสอบรหัสโดยใช้ความถี่วิทยุ เมื่อยานพาหนะที่ติดอุปกรณ์ระบบตรวจสอบรหัสโดยใช้ความถี่วิทยุวิ่งผ่านสถานีรับบรรทุกตัวอ่านข้อมูล จะอ่านข้อมูลที่ติดมากับตู้คอนเทนเนอร์หรือยานพาหนะที่ทำการขนย้ายสินค้านั้นเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร ถ้าข้อมูลถูกต้องตรงกันระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าโดยอัตโนมัติ
  5. ในวันทำการเดียวกันที่ทำการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบกลับข้อมูลการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าไปให้ผู้ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกที่ปรากฏเลขที่ใบขนสินค้าในใบกำกับการขนย้ายสินค้านั้น ทราบถึงการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าดังกล่าว

ข้อ 54 การเปิดตรวจของขาออก

  1. กรณี ของขาออกที่มีคำสั่ง “ให้เปิดตรวจ”
    • 1.1. ของส่งออกที่ขนย้ายมายังสถานีหรือจุดรับบรรทุกติดเงื่อนไขความเสี่ยงที่ต้องตรวจสอบพิกัด ราคา และของ
    • 1.2. กรณี ผู้ส่งของออกมีความประสงค์ขอให้เปิดตรวจของที่จะส่งออก ให้จัดทำคำร้องขอยื่นต่อหัวหน้าหน่วยงานบริการศุลกากร ณ ด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่ส่งออก ก่อนการขนย้ายของเข้าไปในสถานีรับบรรทุกหรือก่อนผ่านจุดรับบรรทุกที่กำหนด เพื่อพิจารณาอนุมัติเป็นการเฉพาะราย
  2. การตรวจสอบพิกัด ราคา และของ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรและการกำหนดราคาศุลกากร
    • 2.1 ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะแจ้งให้พนักงานศุลกากรหน่วยงานบริการศุลกากรประจำสถานีรับบรรทุกหรือจุดรับบรรทุกสินค้าทราบถึงเลขที่ใบขนสินค้าขาออกที่ติดเงื่อนไขความเสี่ยง และกำหนดชื่อพนักงานศุลกากรที่จะทำการตรวจของโดยอัตโนมัติ
    • 2.2 ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบกลับข้อมูลการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า ไปให้ผู้ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกทราบถึงการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าและการให้เปิดตรวจเพื่อมาติดต่อหน่วยงานบริการศุลกากร ณ ด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่ส่งออกต่อไป
    • 2.3 พนักงานศุลกากรจะแจ้งให้พนักงานขับรถทราบ และนำรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ หรือยานพาหนะที่ใช้ในการขนย้ายสินค้าไปยังจุดตรวจสินค้า เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งการตรวจแล้วแต่กรณี
  3. เมื่อตรวจสอบพิกัด ราคา และของแล้วเสร็จพนักงานศุลกากรจะทำการบันทึกการตรวจ ในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร

ข้อ 55 ของส่งออกทางไปรษณีย์

  1. เมื่อตรวจของที่จะส่งแล้ว หน่วยงานตรวจปล่อยต้องควบคุมให้ผู้ส่งของออกทำการบรรจุ และผูกมัดห่อสิ่งของให้แน่นหนาแข็งแรงเหมาะแก่การส่งออกโดยทางไปรษณีย์
  2. แล้วบันทึกบนหีบห่อว่าเป็นของส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกฉบับใด ตรวจปล่อยเมื่อใดและประทับตราด่านศุลกากรไปรษณีย์
  3. เมื่อที่ทำการไปรษณีย์ได้รับฝากส่งเรียบร้อยแล้ว พนักงานศุลกากรจะทำการบันทึกการตรวจในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร

ส่วนที่ 5 การดำเนินการในกระบวนการศุลกากรในการส่งออก

ข้อ 56 ให้ผู้นำของออกดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากรให้ครบถ้วนก่อนการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า

ข้อ 56 ให้ผู้นำของออกดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากรให้ครบถ้วนก่อนการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า ณ สถานีรับบรรทุก หรือจุดรับบรรทุกที่กำหนด

  1. กรณีใบขนสินค้าขาออกที่มีคำสั่งยกเว้นการตรวจ

    • 1.1. กรณีสามารถดำเนินกระบวนการทางศุลกากรโดยระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวได้ และหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมการนำเข้า/ส่งออก ได้ส่งผ่านข้อมูลการอนุมัติ / อนุญาตเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรโดยผ่านระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว แล้วระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะทำการบันทึกผลการปล่อยของและข้อมูลเลขที่การอนุมัติ/อนุญาตไว้ โดยผู้ส่งของออกไม่ต้องยื่นเอกสารในรูปเอกสารให้ศุลกากรอีก
    • 1.2. กรณีไม่สามารถดำเนินกระบวนการทางศุลกากรโดยระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวได้
      • 1.2.1 กรณีการอนุมัติ / อนุญาตให้กับของที่ส่งออกตามบัญชีราคาสินค้าที่ส่งออกเป็นรายครั้ง ให้ผู้ส่งของออกนำเอกสารในรูปแบบเอกสาร เช่น เอกสารแสดงการได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ใบอนุญาต / ใบทะเบียน / หนังสืออนุญาตตามเงื่อนไขของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยื่นต่อหน่วยควบคุมทางศุลกากรของด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรสุดท้ายที่ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า
      • 1.2.2 กรณีการอนุมัติ / อนุญาตให้กับของที่ส่งออกตามปริมาณที่กำหนดไว้ หรือเป็นรายงวด / รายปี หรือตามใบขนสินค้าขาออกมากกว่าหนึ่งฉบับ
          1. ให้ผู้ส่งออกยื่นเอกสารในรูปเอกสาร ณ จุดรับรองใบขนสินค้า ขาออกของด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรสุดท้ายที่ได้ทำการส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า
          1. เพื่อให้พนักงานศุลกากรหน่วยงานบริการศุลกากรตรวจสอบข้อมูลใบขนสินค้าขาออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรกับเอกสารในรูปเอกสารดังกล่าว และรับรองปริมาณการส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกไว้ในเอกสารดังกล่าว พร้อมลงชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้ด้วย
          1. กรณีใบอนุญาตที่เป็นการตัดงวดสุดท้าย ให้หน่วยงานบริการศุลกากรจัดส่งให้หน่วยงานเจ้าของใบอนุญาตต่อไป
          1. ให้ผู้ส่งของออกจัดทำสำเนาเอกสารที่รับรองปริมาณการส่งออกแล้ว พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ยื่นต่อหน่วยควบคุมทางศุลกากรทุกครั้งที่มีการส่งของออก
    • 1.3. กรณียื่นเอกสารในรูปแบบเอกสารต่อหน่วยควบคุมทางศุลกากรภายหลังสิบห้าวัน นับแต่วันตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า พนักงานศุลกากรจะพิจารณาความผิดกรณีไม่ยื่นเอกสาร ในรูปแบบเอกสารในเวลาอันควร
    • 1.4. ให้หน่วยงานควบคุมทางศุลกากร เป็นผู้รวบรวมใบอนุญาต หรือใบรับรองการส่งออก หรือเอกสารอื่นใดที่ได้รับอนุมัติ อนุญาต หรือดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร เพื่อจัดเก็บไว้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบภายหลังการตรวจปล่อยต่อไป
  2. กรณีใบขนสินค้าขาออกที่มีคำสั่งให้เปิดตรวจเพื่อตรวจสอบพิกัด ราคา และของ

    • 2.1 กรณีสามารถดำเนินกระบวนการทางศุลกากรโดยระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวได้ ผู้ส่งของออกไม่ต้องยื่นเอกสารให้ศุลกากรอีก
    • 2.2 กรณีไม่สามารถดำเนินกระบวนการทางศุลกากรโดยระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวได้ ให้ผู้ส่งของออกนำเอกสาร เช่น เอกสารแสดงการได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ใบอนุญาต / ใบทะเบียน / หนังสืออนุญาตตามเงื่อนไขของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยื่นต่อพนักงานศุลกากรขณะทำการตรวจของที่ส่งออกนั้น

ส่วนที่ 6 การรับบรรทุกของส่งออก

ข้อ 57 การรับบรรทุกของที่ส่งออก

  1. เมื่อได้มีการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะเปลี่ยนสถานะใบขนสินค้าขาออกเป็น “ใบขนสินค้าที่พร้อมรับบรรทุก” โดยอัตโนมัติ
  2. เมื่อมีการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว พนักงานศุลกากรจะบันทึกข้อมูลวันที่ส่งออกจริงในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
    • 2.1 ในกรณีการขนย้ายของโดยเรือ ณ ท่าเรือที่ส่งออกจะบันทึกข้อมูลชื่อเรือ วันเรือออก เมื่อมีการรายงานเรือออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว
    • 2.2 ในกรณีการขนย้ายของโดยอากาศยาน ณ สนามบินที่เป็นด่านศุลกากร อากาศยาน จะบันทึกข้อมูลเที่ยวบินและวันที่อากาศยานออกเมื่อมีการรายงานอากาศยานออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว
    • 2.3 ในกรณีการขนย้ายของโดยยานพาหนะทางบก จะบันทึกข้อมูลยานพาหนะออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อผู้ควบคุมยานพาหนะยื่นใบกำกับการขนย้ายสินค้าโดยให้ใช้เป็นบัญชีสินค้า แบบ ศ.บ.3 ต่อด่านพรมแดนในการนำยานพาหนะผ่านเขตแดนทางบก
    • 2.4 ในกรณีการขนย้ายของโดยรถไฟ จะบันทึกข้อมูลเที่ยวที่และวันที่ที่รถไฟออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีการรายงานรถไฟออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว
    • 2.5 ในกรณีการขนย้ายสินค้าโดยวิธีอื่น เช่น โดยทางท่อขนส่ง ทางสายส่งไฟฟ้า จะบันทึกข้อมูลวันที่ส่งออกตามรายงานการส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร
  3. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะทำการประมวลผลการรับบรรทุกโดยอัตโนมัติตามเวลา ที่กำหนดไว้
  4. ในวันทำการเดียวกันระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบกลับข้อมูลที่ทำการประมวลผล การรับบรรทุกไปให้ผู้ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกนั้น ทราบถึงการรับบรรทุกสินค้าดังกล่าว

ส่วนที่ 7 การขอแก้ไขข้อมูลการส่งออก

ข้อ 58 ในกรณีที่พบว่าข้อมูลที่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรแล้วมีความผิดพลาด คลาดเคลื่อนไม่ตรงตามความจริง ให้แจ้งพนักงานศุลกากรทราบโดยพลัน

  1. กรณีที่มีการเปลี่ยน ชื่อเรือ เที่ยวเรือ ชื่ออากาศยาน หรือเที่ยวบิน โดยไม่เปลี่ยนเขตท่าที่จะขนถ่ายตู้สินค้าลงเรือหรือไม่เปลี่ยนคลังสินค้า
    • 1.1. ให้ตัวแทนเรือหรือตัวแทนอากาศยานจัดทำคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง ยื่นต่อพนักงานศุลกากรหน่วยงานบริการศุลกากรของทำเนียบท่าเรือหรือคลังสินค้าที่ส่งออกนั้น
    • 1.2. เมื่อพนักงานศุลกากรพิจารณาและทำการแก้ไขข้อมูลแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะเก็บข้อมูลก่อนการแก้ไขและข้อมูลหลังการแก้ไข พร้อมชื่อพนักงานศุลกากรผู้ทำการแก้ไข โดยไม่ต้องมีการพิจารณาความผิด
  2. กรณีที่มีการเปลี่ยน เขตท่าที่จะขนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ คลังสินค้าที่จะบรรทุกขึ้นอากาศยาน ท่าเรือที่จะส่งออก สถานที่ที่จะส่งออก หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร ที่จะส่งออก
    • 2.1 ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุจัดทำคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง ยื่นต่อพนักงานศุลกากร ณ หน่วยงานบริการนั้น ๆ เพื่อยกเลิกเลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้าออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรและแก้ไขสถานะของใบขนสินค้าเป็นใบขนสินค้าที่ยังมิได้ตัดบัญชีใบกำกับการขนย้าย
    • 2.2 เมื่อพนักงานศุลกากรพิจารณาอนุญาตและทำการแก้ไขข้อมูลแล้ว ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุส่งข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าที่ถูกต้องมาใหม่ โดยไม่ต้องมีการพิจารณาความผิด
  3. กรณีที่ต้องการขอเปิดตู้สินค้า เพื่อเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าใหม่หรือเพื่อทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ในเขตด่านศุลกากรจะขนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ คลังสินค้าที่จะบรรทุกขึ้นอากาศยาน
    • 3.1 ให้ผู้รับผิดชอบการบรรจุจัดทำคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยให้ผู้ประกอบการทำเนียบท่าเรือ ผู้ประกอบการสถานที่ หรือผู้ประกอบการคลังสินค้า ณ สนามบินที่เป็นด่านศุลกากร ลงชื่อรับรองในคำร้องด้วย แล้วยื่นต่อพนักงานศุลกากร ณ หน่วยงานบริการนั้น ๆ
    • 3.2 ให้พนักงานศุลกากรหน่วยงานบริการศุลกากรร่วมกับพนักงานศุลกากร หน่วยควบคุมทางศุลกากรทำการกำกับควบคุมการเปิดตู้สินค้า เพื่อทำการเปลี่ยนถ่ายสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ หรือการดำเนินการอื่นใดจนเสร็จสิ้น
    • 3.3 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ให้พนักงานศุลกากรหน่วยงานบริการศุลกากรทำการแก้ไขข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรให้ถูกต้อง ระบบคอมพิวเตอร์จะเก็บข้อมูลก่อนการแก้ไข และข้อมูลหลังการแก้ไข พร้อมชื่อพนักงานศุลกากรผู้ทำการแก้ไข โดยไม่ต้องมีการพิจารณาความผิด
  4. กรณีสินค้าที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ครบตามจำนวน Short Packing
    • 4.1 ภายในสิบวันนับแต่วันตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า ผู้ส่งของออกสามารถส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรเพื่อแก้ไขข้อมูลรายการของสินค้าที่ไม่ได้ส่งออก และยืนยันปริมาณหรือจำนวนหีบห่อสินค้าที่ส่งออกให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้โดยไม่ต้องพิจารณาความผิด
    • 4.2 การขอแก้ไขข้อมูลรายการของสินค้าที่ไม่ได้ส่งออก และยืนยันปริมาณหรือจำนวนหีบห่อสินค้าที่ส่งออกภายหลังสิบวัน นับแต่วันตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าให้
      • 4.2.1 ให้ผู้ส่งของออกจัดทำคำร้องเพื่อแจ้งรายการของสินค้าที่ไม่ได้ส่งออก และยืนยันปริมาณหรือจำนวนหีบห่อสินค้าที่ส่งออกให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงพร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ยื่นต่อหน่วยควบคุมทางศุลกากรเพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะราย
      • 4.2.2 พนักงานศุลกากรจะพิจารณาคำร้องพร้อมการพิจารณาความผิด กรณีที่พิจารณาอนุญาตให้ทำการแก้ไขข้อมูล และระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะเก็บข้อมูลก่อนการแก้ไขและข้อมูลหลังการแก้ไข พร้อมชื่อพนักงานศุลกากรผู้ทำการแก้ไขดังกล่าว
  5. กรณีเป็นสินค้าเทกองในลักษณะ Bulk Cargo ซึ่งการขนย้ายสินค้ากระทำโดยวิธีอื่น หรือต้องตรวจสอบปริมาณโดยวิธีวัดระดับเรือ Draft Survey
    • 5.1 ภายในสิบวันนับแต่วันตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า ผู้ส่งของออกสามารถจัดทำคำร้องเพื่อแจ้งรายการของสินค้าที่ไม่ได้ส่งออก และยืนยันปริมาณหรือจำนวนหีบห่อสินค้าที่ส่งออกให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงพร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ยื่นต่อหน่วยงานบริการศุลกากรเพื่อพิจารณาอนุญาต เมื่อพนักงานศุลกากรพิจารณาอนุญาตและทำการแก้ไขข้อมูลแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะเก็บข้อมูลก่อนการแก้ไขและข้อมูลหลังการแก้ไข พร้อมชื่อพนักงานศุลกากรผู้ทำการแก้ไข โดยไม่ต้องมีการพิจารณาความผิด
    • 5.2 การแจ้งรายการของสินค้าที่ไม่ได้ส่งออก และยืนยันปริมาณหรือจำนวนหีบห่อสินค้าที่ส่งออกให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงภายหลังสิบวันนับแต่วันตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า พนักงานศุลกากรจะพิจารณาคำร้องพร้อมการพิจารณาความผิด กรณีที่พิจารณาอนุญาตให้ทำการแก้ไขข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะเก็บข้อมูลก่อนการแก้ไขและข้อมูลหลังการแก้ไข พร้อมชื่อพนักงานศุลกากรผู้ทำการแก้ไขดังกล่าว
  6. กรณีขอตรวจรับสินค้ากลับคืน หรือการยกเลิกการส่งออก
    • 6.1 กรณีตรวจรับสินค้ากลับคืนบางส่วน เนื่องจากส่งออกไม่ครบจำนวน
      • 6.1.1 ให้ผู้ส่งของออกจัดทำคำร้องเพื่อแจ้งรายการของสินค้าที่ไม่ได้ส่งออก และยืนยันปริมาณหรือจำนวนหีบห่อสินค้าที่ส่งออกให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงพร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ยื่นต่อหน่วยควบคุมทางศุลกากรเพื่อพิจารณาอนุญาต
      • 6.1.2 เมื่อพนักงานศุลกากรตรวจสอบว่ามีการแก้ไขข้อมูลรายการของสินค้าที่ไม่ได้ส่งออกแล้ว ให้พิจารณาอนุญาตให้รับสินค้ากลับคืนได้ โดยไม่ต้องมีการพิจารณาความผิด
    • 6.2 กรณียกเลิกการส่งออกและขอตรวจรับสินค้ากลับคืนทั้งหมด
      • 6.2.1 ให้ผู้ส่งของออกจัดทำคำร้องเพื่อยกเลิกการส่งออกและขอตรวจรับสินค้ากลับคืน ยื่นต่อหน่วยควบคุมทางศุลกากรเพื่อพิจารณาอนุญาต
      • 6.2.2 ให้พนักงานศุลกากรบันทึกข้อมูลการยกเลิกเลขที่ใบขนสินค้าฉบับนั้น ออกจากระบบก่อนอนุญาตให้ตรวจรับกลับคืนทั้งหมด โดยไม่ต้องมีการพิจารณาความผิด
  7. กรณีขอให้เพิ่มเติมข้อมูลเลขที่ใบขนสินค้าขาออกเพื่อรับรองการส่งออก
    • 7.1 ให้ผู้ส่งของออกจัดทำคำร้อง ยื่นต่อหน่วยควบคุมทางศุลกากรในกรณีของที่ส่งออก ได้ผ่านสถานีรับบรรทุกหรือจุดรับบรรทุกสินค้าที่กำหนดแล้ว แต่ผู้รับผิดชอบการบรรจุมิได้จัดส่งข้อมูลเลขที่ใบขนสินค้าขาออกของผู้ส่งของออกมาเพื่อทำการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า
    • 7.2 หากพนักงานศุลกากรพิจารณาอนุญาตให้รับรองการส่งออกเป็นการเฉพาะรายแล้ว ในการพิจารณาความผิดให้ดำเนินการกับผู้ส่งข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้า และให้ผ่อนผันการปรับแก่ผู้ส่งของออก
  8. การขอแก้ไขข้อมูลใบขนสินค้าในเรื่องอื่น ๆ ภายหลังการส่งออก ให้ผู้ส่งของออกจัดทำคำร้องขอแก้ไข ยื่นต่อหน่วยงานบริการศุลกากรที่ทำการส่งออก เพื่อพิจารณาความผิดที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาอนุญาตเป็นการเฉพาะเป็นราย ๆ ไป แล้วพนักงานศุลกากรจะทำการแก้ไขข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรต่อไป