หมวดที่ 7 กระบวนการทางศุลกากรเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บน


ข้อ 67 ในหมวดนี้

  1. คำว่า “ผู้นำของเข้าในคลังสินค้าทัณฑ์บน” หมายความถึง ผู้นำของเข้าที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขนเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน และเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนแล้ว หรือผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนยินยอมให้นำของเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้น ๆ ได้
  2. คำว่า “ผู้นำของเข้าตามมาตรา 126 วรรคสาม” หมายความถึง ผู้รับโอนของที่เก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน เข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือจำหน่ายให้แก่ผู้นำของเข้าตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หรือผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร หรือผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายอื่น โดยให้ถือว่าของนั้นนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำเข้าสำเร็จในเวลาที่ปล่อยของนั้นออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน
  3. คำว่า “ผู้ส่งของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน” หมายความถึง ผู้ส่งของจากคลังสินค้าทัณฑ์บนออกไปนอกราชอาณาจักร ที่ได้ส่งข้อมูลใบขนสินค้า
    • 3.1. ขาออกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนการขนย้ายของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนที่เก็บของนั้น เพื่อเป็นข้อมูลกำกับการขนย้ายของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน
    • 3.2. ผู้ส่งของจากคลังสินค้าทัณฑ์บนโอนเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนอื่น หรือจำหน่ายให้แก่ผู้นำของเข้าตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หรือจำหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร หรือจำหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายอื่น โดยให้ถือว่าของนั้นได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเวลาที่ปล่อยของนั้นออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน
  4. คำว่า “โอนของเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนอื่น” หมายความถึง การโอนของระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนที่มีเจ้าของหรือเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน เป็นบุคคลหรือ นิติบุคคลที่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีต่างกัน

ส่วนที่ 1 บททั่วไป

ข้อ 68 กรณีการนำของเข้าไปในหรือออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนในนามของบุคคลอื่นที่มิใช่ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน

  1. ผู้นำของเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนหรือผู้นำของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าทัณฑ์บน
  2. ผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนต้องแจ้งการอนุญาตให้พนักงานศุลกากร ที่กำกับคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้นทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ดังนี้
    • 2.1. ชื่อของผู้นำของเข้าที่ได้รับอนุญาตให้นำของเข้าไปเก็บรักษาหรือดำเนินการใด ๆ ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของตนหรือในการนำของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนของตน
    • 2.2. ของที่ผู้ได้รับใบอนุญาต อนุญาตให้ผู้อื่นนำเข้าไปเก็บรักษาหรือดำเนินการใด ๆ ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของตน หรือในการนำของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนของตน
    • 2.3. ช่วงระยะเวลาหรือวันที่ที่อนุญาตให้นำของเข้าไปเก็บรักษาหรือดำเนินการใด ๆ ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของตน หรือในการนำของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนของตน
  3. การอนุญาตบุคคลอื่นนำของเข้าไปในหรือนำของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนของตน ให้ถือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้นยินยอมผูกพันตนเข้ารับผิดชอบในค่าภาษีอากร หรือค่าเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นจากบุคคลที่ตนอนุญาตเสมือนดำเนินการด้วยตนเอง

ส่วนที่ 2 การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าคลังสินค้าทัณฑ์บนทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 69 ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร

  1. กับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและขนเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนภายใต้การควบคุมทางศุลกากรในสถานที่ที่กำหนดให้เป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้นไม่ต้องชำระค่าภาษีอากรขาเข้า
    • 1.1. ให้ผู้นำของเข้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่ระบุไว้ในบัญชีสินค้าว่ามีชื่อส่งของถึง
    • 1.2. ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขนเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนและได้ตรวจปล่อยออกจากด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่นำเข้าแล้ว ให้ถือว่าได้จดแจ้งรายละเอียดแห่งของที่ขนขึ้นเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน ทั้งชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก ราคา หรือเกี่ยวกับอัตราอากรถูกต้องตรงตามที่ผู้นำของเข้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนได้ส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
  2. กับของที่จะทำการปล่อยออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อทำการขนย้ายไปยังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยยกเว้นการเก็บอากรขาเข้า และอากรขาออกแก่ของที่ปล่อยออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ว่าจะปล่อยออกในสภาพเดิมที่นำเข้าหรือสภาพอื่น
    • 2.1. ให้ผู้ส่งของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรสุดท้ายที่ระบุไว้ว่าจะทำการขนหรือย้ายขนของเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
    • 2.2. ให้ผู้ส่งของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนการขนย้ายสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนที่เก็บของนั้น เพื่อเป็นข้อมูลกำกับการขนย้ายของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนไปยังด่านศุลกากร หรือสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่จะทำการส่งของออก

ส่วนที่ 3 การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าโอนย้ายภายในประเทศของคลังสินค้าทัณฑ์บนทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 70 การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าโอนย้ายภายในประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับของ ที่ขนย้ายหรือจำหน่ายจากคลังสินค้าทัณฑ์บน

  1. การส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายภายในประเทศ
    • 1.1. ให้ผู้ส่งของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน จัดทำใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายภายในประเทศตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด โดยให้ถือสภาพของ ราคาของ พิกัดอัตราศุลกากร ที่เป็นอยู่ในวันที่จัดทำใบขนสินค้าขาออกนั้น
    • 1.2. กรณีผู้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนการขนย้ายสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนที่เก็บของนั้น โดยให้ถือเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ในขณะที่ปล่อยของนั้นออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ได้แก่
      • 1.2.1. การปล่อยของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อโอนไปยังคลังสินค้าทัณฑ์บนอื่น
      • 1.2.2. การปล่อยออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้นำของเข้ามาตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
      • 1.2.3. การปล่อยออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
      • 1.2.4. การปล่อยออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เป็นต้น
    • 1.3. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง
      • 1.3.1 ถ้าพบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบรหัสข้อผิดพลาดกลับไปให้ผู้ส่งข้อมูล ให้ผู้ส่งของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนทำการแก้ไขข้อมูลและส่งข้อมูลการแก้ไขข้อมูลใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายภายในประเทศเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
      • 1.3.2 ถ้าไม่พบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะกำหนดเลขที่ใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายภายในประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวนสิบสี่หลัก
    • 1.4. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบกลับเลขที่ใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายภายในประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้ส่งข้อมูลในสถานะพร้อมตรวจปล่อย โดยมีประเภทของเอกสารหลักมีค่าเป็น B = ใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายภายในประเทศ โดยถือเป็นการยื่นใบขนสินค้าขาออกต่อศุลกากรแล้ว
    • 1.5. การโอนของเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนอื่นที่เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเดียวกันให้ยื่นใบขนสินค้าขาออกโดยถือเป็นการส่งออกและนำเข้า
  2. การส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายภายในประเทศ
    • 2.1. ให้ผู้นำของเข้าตามมาตรา 126 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 จัดทำใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายภายในประเทศตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด โดยให้ถือสภาพแห่งของ ราคาศุลกากร พิกัดศุลกากร อัตราศุลกากร ที่เป็นอยู่ในวันที่จัดทำใบขนสินค้าขาออกและให้ระบุเลขที่ใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายภายในประเทศนั้นไว้ในข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายภายในประเทศด้วย
    • 2.2. แล้วเป็นผู้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนการขนย้ายสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนที่เก็บของนั้น โดยให้ถือเป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ในขณะที่ตรวจปล่อยของนั้น
    • 2.3. โดยข้อมูลของของที่รับโอนในใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายภายในประเทศต้องถูกต้องตรงกับข้อมูลของของที่โอนหรือจำหน่ายตามใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายภายในประเทศที่ได้ส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรแล้ว
    • 2.4. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง
      • 2.4.1. ถ้าพบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบรหัสข้อผิดพลาดกลับไปให้ผู้ส่งข้อมูล ให้ผู้นำของเข้าตามมาตรา 126 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ทำการแก้ไขข้อมูลและส่งข้อมูลการแก้ไขข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายภายในประเทศ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
      • 2.4.2. ถ้าไม่พบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะกำหนดเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายภายในประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวนสิบสี่หลัก ในสถานะพร้อมตรวจปล่อย
    • 2.5. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบกลับเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายภายในประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้ส่งข้อมูล โดยมีประเภทของเอกสารหลักมีค่าเป็น A = ใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายภายในประเทศ โดยถือเป็นการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าโดยถูกต้องต่อศุลกากรแล้ว
  3. การตรวจของตามใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายภายในประเทศตามมาตรา 126 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ให้ดำเนินการพร้อมกันกับการตรวจของตามใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายภายในประเทศ ณ คลังสินค้าทัณฑ์บนที่เก็บของนั้น
    • 3.1. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะทำการแจ้งกลับให้ผู้นำของเข้าตามมาตรา 126 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ทราบเพื่อมาติดต่อรับพนักงานศุลกากรหน่วยงานบริการศุลกากรที่มีเขตอำนาจในการกำกับดูแลคลังสินค้าทัณฑ์บน ที่เก็บของนั้นเป็นผู้ทำการตรวจสอบพิกัด ราคา และของ
    • 3.2. การตรวจสอบพิกัด ราคา และของ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร และให้ใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาศุลกากรโดยอนุโลม
    • 3.3. เมื่อตรวจสอบพิกัด ราคา และของแล้วเสร็จพนักงานศุลกากรจะทำการบันทึก การตรวจพร้อมวันที่ที่ทำการตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
  4. การรับบรรทุกของที่ส่งออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนภายในประเทศ
    • 4.1. ในวันทำการเดียวกันที่พนักงานศุลกากรทำการบันทึกผลการตรวจใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายของจากคลังสินค้าทัณฑ์บนภายในประเทศ ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะประมวลผลรับบรรทุกใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนภายในประเทศที่ปรากฏเลขที่ใบขนสินค้าในข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายภายในประเทศที่ได้บันทึกผลการตรวจนั้น โดยอัตโนมัติ
    • 4.2. ในวันทำการเดียวกันระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบกลับข้อมูลที่ทำการประมวลผลการรับบรรทุกไปให้ผู้ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกโอนย้ายภายในประเทศนั้น ทราบถึงการรับบรรทุกสินค้าโอนย้ายภายในประเทศดังกล่าว

ส่วนที่ 4 การนำของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร

ข้อ 71 กรณีการนำของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร

  1. ให้ผู้ที่นำของออกมาจากคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อใช้หรือจำหน่ายในประเทศมีความรับผิด ในอันต้องชำระภาษีอากรสำหรับของนั้นตั้งแต่เวลาที่ของนั้นนำเข้าสำเร็จ
  2. ให้ผู้นำของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายภายในประเทศเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนการขนย้ายสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนที่เก็บของนั้น ดังนี้
    • 2.1. ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ใช้อยู่ในวันที่นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร
    • 2.2. ให้ใช้สภาพแห่งของ ราคาศุลกากร และพิกัดศุลกากร ที่เป็นอยู่ในเวลาที่นำเข้าสำเร็จ แต่อัตราศุลกากรให้ถือตามอัตราศุลกากรที่ใช้อยู่ในเวลาซึ่งได้ปล่อยของเช่นว่านั้นออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ไม่ว่าจะปล่อยไปในสภาพเดิมที่นำเข้าหรือในสภาพอื่น
    • 2.3. กรณีคลังทัณฑ์บนทั่วไปให้ระบุเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้าที่นำของนั้นเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนด้วย
  3. การตรวจปล่อยของที่นำออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อใช้หรือจำหน่ายในประเทศ ให้ทำการตรวจปล่อยของที่นำเข้าในประเทศนั้น ณ คลังสินค้าทัณฑ์บนที่เก็บของนั้น
  4. ของที่ได้นำออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อใช้หรือจำหน่ายในประเทศ เมื่อได้ทำการปล่อยจากคลังสินค้าทัณฑ์บนที่เก็บของนั้นแล้ว ให้ถือว่าของที่นำออกมาเพื่อใช้หรือจำหน่ายในประเทศนั้น ทั้งชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก ราคา หรือเกี่ยวกับอัตราอากร ถูกต้องตรงตามที่ผู้นำของเข้าได้ส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร