หมวดที่ 3 การยื่นรายงานการนำของเข้า


ข้อ 8 การรายงานการนำของเข้า

ให้ผู้รับผิดชอบในการขนส่งของจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร ทำการรายงานการนำของเข้ามาในราชอาณาจักร ก่อนการขนถ่ายของออกจากยานพาหนะที่ทำการขนส่งนั้น

ส่วนที่ 1 การรายงานเรือเข้าและการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือ

ข้อ 9 การลงทะเบียนเป็นผู้ยื่นรายงานเรือเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. ให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนายเรือทำการลงทะเบียนเป็นผู้ยื่นรายงานเรือเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยระบุชื่อเรือที่ทำการรายงานเรือเข้าไว้ด้วย
  2. เมื่อได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรให้เป็นผู้รับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวเป็นผู้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร

ข้อ 10 ให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนายเรือดำเนินการเกี่ยวกับการรายงานเรือเข้า

ข้อ 10 ให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนายเรือดำเนินการเกี่ยวกับการรายงานเรือเข้า ขออนุมัติเปิดระวางเรือ และการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้

  1. การรายงานเรือเข้ามาในราชอาณาจักร
    • 1.1. ก่อนเรือเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ตัวแทนเรือจัดทำข้อมูลการรายงานเรือเข้า และการขอเปิดระวางเรือ (Vessel Schedule : VSED) ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด และส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ล่วงหน้าไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ยกเว้นเรือที่เดินทางมาจากประเทศเวียดนามและกัมพูชา ให้ส่งข้อมูลล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร โดยถือเป็นการยื่นรายงานเรือเข้าต่อศุลกากรแล้ว
    • 1.2. เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรรับข้อมูลรายงานเรือเข้าแล้วจะแจ้งกลับเลขที่รับรายงานเรือเข้า (Receive Control Number) ให้ผู้ส่งข้อมูลทราบ ถือเป็นการอนุญาตพิเศษ ให้เปิดระวางเรือเพื่อขนถ่ายของได้ทันที
    • 1.3. เรือที่มาจากต่างประเทศนั้นไม่ต้องจอดทอดสมอเพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่ด่านตรวจศุลกากร และให้เรือผ่านด่านตรวจเข้าเขตท่าภายในได้โดยไม่ต้องจัดพนักงานศุลกากรกำกับควบคุม
    • 1.4. ให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนายเรือจัดทำข้อมูลรายงานเรือเข้าสำเร็จ โดยแจ้งวันนำเข้าจริงและเวลาที่เรือถึงเขตท่า (Actual Date, Actual Time) ตามมาตรฐาน ที่กรมศุลกากรกำหนด และส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร ให้ถือเป็นการลงรายละเอียดไว้ในสมุดทะเบียนเรือเข้าจากต่างประเทศหรือสมุดรับเรือ (แบบที่ 314) ประจำด่านตรวจนั้น ๆ แล้ว
  2. ให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนายเรือ และ / หรือ ผู้ที่ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ จากนายเรือมอบหมายให้รับส่งข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือภายใต้เลขที่รับรายงานเรือเข้า
    • 2.1 จัดทำข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (Ship Agent Operator : SAOPER) ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด
    • 2.2 จัดทำข้อมูลบัญชีตู้สินค้า (Container List : CLIS) และบัญชีคอนเทนเนอร์แรค (Container Rack) ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด
    • 2.3 จัดทำข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือรายใบตราส่งสินค้า (Master Sea Cargo Manifest : MMAN) ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด
    • 2.4 โดยแยกข้อมูลบัญชีสินค้าถ่ายลำ, บัญชีสินค้าผ่านแดน, บัญชีสินค้าขนขึ้นท่านำเข้า, บัญชีสินค้าติดเรือ (Through Cargo) และบัญชีของที่ขนขึ้นท่าอื่นภายในราชอาณาจักรนอกจากท่านำเข้า (ไม่ต้องจัดทำสำเนาเดินทางในรูปแบบเอกสารอีก)
    • 2.5 แล้วส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรภายใต้ เลขที่รับรายงานเรือเข้าภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่ได้รับการรายงานเรือเข้าสำเร็จ
  3. การสำแดงเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อ (Shipping Marks) ในข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือ ถ้าข้อมูลเป็นรูปภาพให้บันทึกเป็น Picture แต่ถ้าเป็นข้อความให้บันทึกเป็นข้อความตามจริง
  4. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง
    • 4.1 ถ้าพบข้อผิดพลาดในการตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้น ระบบคอมพิวเตอร์ ของศุลกากรจะตอบรหัสข้อผิดพลาด (Error Message) กลับไปให้ผู้ส่งข้อมูล
    • 4.2 ถ้าไม่พบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะนำข้อมูลชื่อเรือ วันเรือเข้า ตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือนั้น ๆ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ให้ผู้นำของเข้าทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

ข้อ 11 การแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. ภายในกำหนดสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่ได้รับการรายงานเรือเข้าสำเร็จ สามารถส่งข้อมูล ทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรเพื่อแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือภายใต้ เลขที่รับรายงานเรือเข้าได้โดยไม่ต้องพิจารณาความผิด
  2. การขอแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือภายหลังสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่ได้รับการรายงานเรือเข้าสำเร็จ ให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนายเรือจัดทำคำร้องขอแก้ไข (Amend Should Be / Shortlanded / Overlanded) ยื่นต่อหน่วยควบคุมการขนถ่าย ณ ด่านศุลกากร เพื่อพิจารณาอนุญาตและพิจารณาความผิดเป็นการเฉพาะเป็นราย ๆ ไป แล้วพนักงานศุลกากรจะทำการบันทึกแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรต่อไป
  3. กรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้ทำการตรวจสอบข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้ากับ บัญชีสินค้าสำหรับเรือและทำการตัดบัญชีสินค้าให้โดยอัตโนมัติแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร จะไม่ยอมรับข้อมูลแก้ไขใบตราส่งดังกล่าวอีก

ข้อ 12 ข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง

ข้อ 12 ข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้องก่อนส่งใบขนสินค้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร คือข้อมูลดังต่อไปนี้

  1. ชื่อเรือ
  2. รหัสสถานที่นำเข้า (Discharge Port)
  3. วันเรือเข้า (Arrival Date)
  4. เลขที่ใบตราส่ง (Bill of Lading)
  5. ชื่อผู้นำเข้าภาษาอังกฤษเพื่อใช้ตรวจสอบกับชื่อผู้รับสินค้า (Consignee Name or Notify Party Name)
  6. จำนวนหีบห่อรวม (Total Package Amount)
  7. ลักษณะหีบห่อรวม (Total Package Unit)
  8. น้ำหนักรวม (Gross Weight)
  9. หน่วยของน้ำหนักรวม (Gross Weight Unit)

กรณีข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือผิดเล็กน้อย หากเห็นว่าไม่ทำให้ความหมายผิดไปหรือยังอ่านได้ ความหมายเดิม ไม่ต้องยื่นขอแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือแต่อย่างใด เช่น

  • บัญชีสินค้าสำหรับเรือพิมพ์รายการสิ่งของผิดหรือพิมพ์ตกเป็นบางตัวอักษรแต่อ่านได้ ความหมายเดิมเช่นพิมพ์คำว่า “Pleyer” แต่ในใบขนสินค้าสำแดงว่า “Player” เป็นต้น
  • บัญชีสินค้าสำหรับเรือแสดงเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อว่า “B.C.L.#1 / 5” แต่ในใบขนสินค้าแสดงว่า “B.C.L.#1 / 5 Bangkok” หรือแสดงลักษณะหีบห่อไว้อย่างย่อ ๆ ว่า “P’kgs” “C / S” “B’dles” แต่ใบขนสินค้าแสดงเต็มว่า “Package” “Cases” “Bundles”

ข้อ 13 การแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ

ข้อ 13 การแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ .ให้เป็นหน้าที่ของนายเรือหรือตัวแทนที่จะขอยื่นแก้ไข บัญชีสินค้าสำหรับเรือให้ถูกต้องก่อนการตรวจปล่อยของออกจากอารักขาศุลกากร ดังนี้

  1. เงื่อนไขการอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ
    • 1.1. ถ้ามีการอายัดหรือยึดหรือหน่วยงานควบคุมทางศุลกากร หรือสำนักสืบสวนและปราบปราม มีหนังสือขอตรวจสอบของที่นำเข้าไว้จะแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือได้เมื่อได้มีการวินิจฉัย เรื่องของที่อายัดหรือยึดไว้ หรือของตามที่หน่วยงานควบคุมทางศุลกากร หรือสำนักสืบสวนและปราบปรามขอตรวจสอบนั้นเสร็จเด็ดขาดแล้ว
    • 1.2. ผู้นำของเข้าที่ถูกสั่งงดปฏิบัติพิธีการจะแก้ไขได้เมื่อหน่วยงานฯ ที่สั่งงดได้สั่งยกเลิกการงดปฏิบัติพิธีการแล้ว
    • 1.3. กรณีเรือคอนเทนเนอร์ที่มีตู้คอนเทนเนอร์นำเข้ามาโดยหลายเจ้าของในเรือลำเดียวกันให้แต่ละบริษัทฯ เจ้าของตู้คอนเทนเนอร์เป็นผู้ยื่นคำร้องขอแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ
    • 1.4. การขอแก้ไข/เปลี่ยนแปลงรายการในกรณีต่อไปนี้ จะแก้ไขได้เมื่อพนักงานศุลกากร ผู้ได้รับมอบหมายได้ตรวจสอบหลักฐานให้ได้ข้อเท็จจริงว่าไม่มีการทุจริต
      • กรณีเปลี่ยนแปลงจำนวนหีบห่อลดลงหรือเพิ่มขึ้นจากที่ได้สำแดงไว้เดิม
      • กรณีเปลี่ยนแปลงชนิดของให้ต่างไปจากที่สำแดงไว้เดิม
      • กรณีเปลี่ยนแปลงชนิดของจากของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของที่มีอากรสูงเป็นของอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัดหรือของต้องชำระอากรต่ำ
  2. การอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ
    • 2.1. กรณีของขาด (Shortlanded)

      • หากปรากฏว่าหีบห่อของที่นำเข้ามามีจำนวนน้อยกว่าที่สำแดงในบัญชีสินค้า สำหรับเรือหรือหีบห่อของที่สำแดงไว้ในบัญชีสินค้าสำหรับเรือไม่มีการนำเข้า
      • เอกสารที่ยื่นประกอบการพิจารณานายเรือ หรือตัวแทนเรือ หรือเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์จะต้องยื่นเอกสารต่อหน่วยงานตรวจปล่อย ณ ด่านศุลกากรที่นำของเข้าดังนี้
        • (1) คำร้องขอแก้ไขซึ่งระบุเลขที่ใบตราส่ง (B/L) เครื่องหมายและเลขหมายจำนวนและลักษณะหีบห่อน้ำหนักชนิดของชื่อผู้รับตราส่งและเหตุผลที่ขอแก้ไขกรณีของขาดบางส่วน ให้ระบุจำนวนเดิมและจำนวนที่ขอแก้ไขไว้ในคำร้องด้วย
        • (2) แบบอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (แบบที่ 29)
        • (3) รายการสินค้าขาดและเกินจากบัญชีสินค้าเรือ (Short and Overlanded Cargo List) ของโรงพักสินค้า
        • (4) สำเนาใบรายการขนสินค้าจากเรือ (Tally Sheet) ของโรงพักสินค้าและ / หรือตัวแทนเรือ
        • (5) โทรสาร (Fax) โทรเลข (Telex) หรือ E-mail หรือเอกสารอื่น ที่เชื่อถือได้จากท่าต้นทางที่บรรทุกสินค้า
    • 2.1.3 การพิจารณาตรวจสอบและอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ

      • (1) ให้พนักงานศุลกากรหน่วยงานตรวจปล่อยลงทะเบียนรับคำขอแก้ไขและตรวจสอบลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงนามตามที่บริษัทตัวแทนเรือยื่นไว้ตลอดจนความครบถ้วน และรายละเอียดในเอกสารประกอบการพิจารณาแล้วบันทึกหมายเหตุการยื่นขอแก้ไขไว้ในบัญชีสินค้าสำหรับเรือว่า “Amend….…(การขอแก้ไข)…..” พร้อมลงลายมือชื่อและรับรองผลการตรวจสอบในคำขอแก้ไขแล้วเสนอหัวหน้าหน่วยงานตรวจปล่อยหรือผู้ทำการแทนเพื่อพิจารณาต่อไป
      • (2) ให้หัวหน้าหน่วยงานตรวจปล่อยหรือผู้ทำการแทนสั่งการให้พนักงานศุลกากรประจำเรือหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตรวจสอบความถูกต้องและสมบูรณ์ของเอกสารประกอบการพิจารณา ซึ่งจะต้องไม่อยู่ในเงื่อนไขตามประมวลวิธีปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2560 สำหรับกรณีของ Shortlanded บางส่วนให้ตรวจสอบเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อสินค้าที่เหลือด้วย
      • (3) เมื่อพนักงานศุลกากรประจำเรือหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตรวจสอบ จนเป็นที่แน่ชัดว่าถูกต้องตรงตามคำขอแก้ไขให้บันทึกผลการตรวจสอบและเสนอความเห็นพร้อมลงลายมือชื่อ และวันเดือนปีรับรองในแบบที่ 29 เพื่อให้หัวหน้าหน่วยงานตรวจปล่อยหรือผู้ทำการแทนพิจารณาอนุญาตและลงลายมือชื่อในแบบที่ 29 ต่อไปกรณีที่ต้องพิจารณาความผิดกับนายเรือหรือตัวแทนเรือหรือเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์ให้ส่งหน่วยงานคดีพิจารณาแล้วให้บันทึกผลการพิจารณาและเลขที่แฟ้มคดีไว้ในแบบที่ 29 ด้วย
      • (4) ให้พนักงานศุลกากรบันทึกข้อมูลการแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรแล้วหมายเหตุเพิ่มเติมไว้ในบัญชีสินค้าสำหรับเรือพร้อมเก็บเอกสารหลักฐานไว้เพื่อปิดบัญชีสินค้าสำหรับเรือต่อไป
    • 2.2. กรณีของเกิน (Overlanded)

      • หากปรากฏว่ามีหีบห่อของซึ่งมิใช่หีบห่อส่วนตัวคนโดยสารในเรือและไม่ได้สำแดงไว้ในบัญชีสินค้าสำหรับเรือนายเรือหรือตัวแทนเรือหรือเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์ต้องยื่นบัญชีเพิ่มเติมแสดงรายการหีบห่อนั้นให้ครบถ้วนหรือขออนุญาตเพิ่มเติมบัญชีสินค้าสำหรับเรือถ้าเรือลำใดกระทำผิดบ่อยครั้งหรือมีพฤติการณ์ส่อไปในลักษณะที่สมคบกันนำของเข้ามาโดยไม่แจ้งไว้ในบัญชีสินค้าสำหรับเรือเจตนาเพื่อลักลอบหนีศุลกากรให้พิจารณาลงโทษได้
      • เอกสารที่ยื่นประกอบการพิจารณา
        • (1) คำร้องขอแก้ไขที่ระบุเครื่องหมายและเลขหมายจำนวนและลักษณะหีบห่อน้ำหนักชนิดของชื่อผู้รับตราส่งของที่เกินมาพร้อมเหตุผลโดยแยกให้เห็นได้ชัดเจนและระบุข้อความ “สำแดงไว้เดิม……..” “แก้ไขเป็น…………”
        • (2) แบบอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (แบบที่ 29)
        • (3) รายการสินค้าขาดและเกินจากบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (Short and Overlanded Cargo List) ของโรงพักสินค้า
      • 2.2.3 การพิจารณาตรวจสอบและอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ กรณีของเกินให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ (2.1.3)

        ของเกิน (Overlanded) ที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินกว่าสามสิบวันนับแต่วันเรือเข้า และไม่ได้มายื่นบัญชีเพิ่มเติมแสดงรายการหีบห่อของนั้นให้ครบถ้วนหรือขออนุญาตเพิ่มเติมบัญชีสินค้าสำหรับเรือ ให้พนักงานศุลกากรประจำเรือลำนั้นพิจารณาเสนอหัวหน้าหน่วยงาน ตรวจปล่อยหรือผู้ทำการแทน มีหนังสือแจ้งไปยังตัวแทนเรือที่นำของเข้ามาเพื่อให้มาดำเนินการภายในสิบห้าวัน นับแต่วันรับหนังสือแจ้ง โดยในหนังสือแจ้งให้มีข้อความว่า “หากไม่ไปดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดจะพิจารณาความผิดและถือเป็นของตกค้างตามกฎหมายศุลกากร”
        เมื่อครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่มีหนังสือแจ้งตัวแทนของเรือที่นำของเข้า ไม่ได้ยื่นบัญชีเพิ่มเติมแสดงรายการหีบห่อของนั้นให้ครบถ้วนหรือขออนุญาตเพิ่มเติมบัญชีสินค้าสำหรับเรือ และไม่มีใบขนสินค้าอันได้รับรองและชำระอากรหรือวางประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้น ให้พิจารณาความผิดบริษัทตัวแทนเรือและให้ดำเนินการกับหีบห่อของนั้นเช่นของตกค้างทั่วไปโดยถือว่าบริษัทตัวแทนเรือนั้นเป็นผู้นำของเข้า

    • 2.3 กรณีอื่น ๆ (Should Be)

      • 2.3.1. การขอแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งหรือที่อยู่ (Amend Should Be Consignee or Address)
          1. กรณีชื่อผู้รับตราส่งหรือที่อยู่ไม่ถูกต้องให้นายเรือหรือตัวแทนเรือหรือเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์ยื่นขอแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือให้ถูกต้อง เช่น
          • 1.1. บัญชีสินค้าสำหรับเรือสำแดงชื่อผู้รับตราส่ง และ / หรือ ที่อยู่ไว้ไม่เฉพาะเจาะจงโดยใช้คำว่า “Order” แต่ใบขนสินค้าสำแดงชื่อผู้รับตราส่ง และ / หรือ ที่อยู่ตรงตามความเป็นจริง
          • 1.2 มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือมีการซื้อขายกันแล้วทำให้ชื่อผู้รับตราส่งไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง หรือผู้รับตราส่งมีที่อยู่หลายแห่ง
          • 1.3 บัญชีสินค้าสำหรับเรือสำแดงชื่อบริษัทตัวแทนเรือหรือผู้รับช่วงสิทธิ (Agent or Forwarder) หรือตัวแทนผู้ขายภายในประเทศกรณีที่ขนส่งโดยระบบคอนเทนเนอร์ทั้งประเภทบรรจุสินค้าหลายเจ้าของ (LCL) หรือบรรจุสินค้าเจ้าของเดียว (FCL) โดยไม่ได้สำแดงชื่อผู้รับตราส่งหรือผู้นำของเข้าที่แท้จริง
          • 1.4. กรณีนิติบุคคลให้ตรวจสอบผู้มีอำนาจลงนามในหนังสือรับรองการจดทะเบียน กระทรวงพาณิชย์ ทั้งผู้โอนและผู้รับโอน กรณีเป็นบุคคลธรรมดาให้ตรวจสอบ บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง (Passport)
          1. เอกสารที่ยื่นประกอบการพิจารณา
          • 2.1. คำร้องขอแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือซึ่งต้องระบุเลขที่ใบตราส่ง (B / L) เครื่องหมายและเลขหมายจำนวนและลักษณะหีบห่อน้ำหนักชนิดของชื่อผู้รับตราส่ง และ/หรือ ที่อยู่พร้อมเหตุผลโดยแยกให้เห็นได้ชัดเจนและระบุข้อความ “สำแดงไว้เดิม…….” และ “แก้ไขเป็น………”
          • 2.2. แบบอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (แบบที่ 29)
          • 2.3. หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ หรือหลักฐานการซื้อขายเช่นใบสั่งปล่อย (Delivery Order : D / O) หรือใบตราส่งสินค้าหรือบัญชีราคาสินค้า (Invoice) หรือเอกสารหลักฐานอื่นซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นผู้นำของเข้าที่แท้จริงเป็นต้น การขอแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับตราส่ง (Consignee) กรณีมีผลกระทบต่อค่าภาษี และ / หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเหตุทำให้เงินอากรต่ำลงเช่นโอนหรือขายให้แก่สถานทูต หรือผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งมีสิทธิหรือได้รับสิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนอากรให้เรียกหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นหนังสือรับรองของหน่วยราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นต้นเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา
          1. การพิจารณาตรวจสอบและอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ
          • 3.1 การพิจารณาตรวจสอบและอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้า สำหรับเรือกรณีแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งหรือที่อยู่ตามความเป็นจริง (Amend Consignee or Address) ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ (2.1.3)
          • 3.2. ให้ตรวจสอบลายมือชื่อและตราบริษัท (ถ้ามี) ในหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างผู้โอนและผู้รับโอนให้ถูกต้องตรงกับหลักฐานที่ได้ยื่นไว้ต่อกรมศุลกากร หรือหลักฐานอื่นที่หน่วยราชการออกให้
          • 3.3 กรณีแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับตราส่งเป็นคนละราย และไม่สามารถนำเอกสารหลักฐานการโอนสิทธิ์มาแสดงได้ให้รายงานหัวหน้าหน่วยงานตรวจปล่อยหรือผู้ทำการแทนเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
      • 2.3.2. การขอแก้ไขชนิดของหรือรายละเอียดของ (Amend Should Be Description)
          1. กรณีบัญชีสินค้าสำหรับเรือสำแดงชนิดของหรือรายละเอียดของ ไม่ชัดเจน เป็นชนิดสินค้าแบบไม่เจาะจง เช่น “vehicle” ไม่สำแดงว่ารถอะไร Brand รุ่นอะไร หรือ สำแดง“Merchandise” “Piece Goods” “Cotton” “Notions” “Sundries” เป็นต้นหรือสำแดงว่า “Cloths” ให้นายเรือหรือตัวแทนเรือหรือเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์ยื่นขอแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือให้ถูกต้องโดยต้องพิจารณาความผิดก่อน
          1. เอกสารที่ยื่นประกอบการพิจารณา
          • คำร้องขอแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือซึ่งต้องระบุเลขที่ใบตราส่ง (B / L) เครื่องหมายและเลขหมายจำนวนและลักษณะหีบห่อน้ำหนักชนิดของชื่อผู้รับตราส่งและที่อยู่พร้อมเหตุผลโดยแยกให้เห็นได้ชัดเจนและระบุข้อความ “สำแดงไว้เดิม…….” และ “แก้ไขเป็น………”
          • แบบอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (แบบที่ 29)
          • ใบสั่งปล่อยของบริษัทตัวแทนเรือ (Delivery Order : D / O) หรือ ใบตราส่ง (Bill of Lading : B / L)
          • บัญชีราคาสินค้า (Invoice) หรือเอกสารอื่นที่ใช้เป็นหลักฐานการสั่งซื้อสินค้า เช่น Commercial Invoice หรือ Performa Invoice หรือ Sale Contract เป็นต้น
        1. การพิจารณาตรวจสอบและอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ การพิจารณาตรวจสอบและอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือกรณีแก้ไขชนิดของ หรือรายละเอียดของตามความเป็นจริงให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ (2.1.3)
      • 2.3.3. การขอแก้ไขเครื่องหมายและเลขหมาย (Amend Should Be Mark & Number)
          1. หากตรวจพบว่าบัญชีสินค้าสำหรับเรือสำแดงเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อต่างจากที่สำแดงในใบขนสินค้า ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบของได้ถูกต้องให้นายเรือหรือตัวแทนเรือ หรือเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์ยื่นขอแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือให้ถูกต้อง เช่น
          • บัญชีสินค้าสำหรับเรือสำแดงเครื่องหมายเลขหมายหีบห่อว่า “Address” แต่ในใบขนสินค้าสำแดงเครื่องหมายและเลขหมายตามที่ระบุไว้บนหีบห่อแต่ชนิดของตรงกัน
          • บัญชีสินค้าสำหรับเรือสำแดงเครื่องหมายว่า “AB” ในใบขนสินค้าสำแดงว่า “CD” แต่ของตรงกันหรือบัญชีสินค้าสำหรับเรือสำแดงว่า “เลขหมาย 1 / 10” แต่มีของเข้ามาจำนวนเจ็ดหีบห่อและตามใบขนสินค้าสำแดงเจ็ดหีบห่อ
          • บัญชีสินค้าสำหรับเรือผิดมากจนตรวจสอบให้ถูกต้องไม่ได้เช่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือสำแดงเครื่องหมาย “BC15” แต่ใบขนสินค้าสำแดง “BC20L” และรายการของไม่ตรงกันเพราะเป็นของตามใบตราส่งต่างฉบับกัน
          1. เอกสารที่ต้องยื่นประกอบการพิจารณา
          • คำร้องขอแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือซึ่งต้องระบุเลขที่ใบตราส่ง (B / L) เครื่องหมายและเลขหมายจำนวนและลักษณะหีบห่อน้ำหนักชนิดของชื่อผู้รับตราส่งและที่อยู่พร้อมเหตุผลโดยแยกให้เห็นได้ชัดเจนและระบุข้อความ “สำแดงไว้เดิม…….” และ “แก้ไขเป็น………”
          • แบบอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (แบบที่ 29)
          • ใบสั่งปล่อยของบริษัทตัวแทนเรือ (Delivery Order : D/O)
          • สำเนาใบรายการขนสินค้าจากเรือ (Tally Sheet) ของโรงพักสินค้า และ/หรือ ตัวแทนเรือ
          1. การพิจารณาตรวจสอบและอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ
          • การพิจารณาตรวจสอบและอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือกรณีแก้ไขเครื่องหมายและเลขหมายตามความเป็นจริงให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ (2.1.3)
          • ให้ตรวจสอบเครื่องหมายและเลขหมายที่หีบห่อของที่นำเข้าจริง
      • 2.3.4. การขอแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือรายการหรือยอดรวมสำหรับของที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์
          1. ของที่ขนส่งโดยระบบตู้คอนเทนเนอร์ทั้งประเภทบรรจุสินค้า หลายเจ้าของ (LCL) และบรรจุสินค้าเจ้าของเดียว (FCL) หากปรากฏว่าบัญชีสินค้าสำหรับเรือไม่ได้สำแดงของในตู้คอนเทนเนอร์หรือสำแดงจำนวนไม่ครบถ้วนจะต้องตรวจสอบด้วยว่ามีหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุของดังกล่าวระบุไว้ในบัญชีรายละเอียดตู้คอนเทนเนอร์ (Inward Container List) จึงจะอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมได้
          1. เอกสารที่ต้องยื่นเพื่อประกอบการพิจารณา
          • คำร้องขอแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือซึ่งต้องระบุเลขที่ใบตราส่ง (B / L) เครื่องหมายและเลขหมายจำนวนและลักษณะหีบห่อน้ำหนักชนิดของชื่อผู้รับตราส่งและ / หรือ ที่อยู่ พร้อมเหตุผล
          • แบบอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (แบบที่ 29)
          • ใบสั่งปล่อยของบริษัทตัวแทนเรือ (Delivery : D/O) หรือใบตราส่ง (Bill of Lading : B/L)
          1. การพิจารณาตรวจสอบและอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ
          • การพิจารณาตรวจสอบและอนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ กรณีขอเพิ่มเติมจำนวนหรือรายการหรือยอดรวมตามความเป็นจริงให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ (2.1.3)
          • ให้ตรวจสอบจำนวนของจริงที่นำเข้า

ข้อ 14 การบันทึกรายการในคอมพิวเตอร์

เมื่ออนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือแล้ว ให้พนักงานศุลกากรหน่วยงานตรวจปล่อยบันทึกรายการแก้ไขลงในบัญชีสินค้าสำหรับเรือในระบบคอมพิวเตอร์ และ / หรือ ฉบับเอกสารพร้อมจัดเก็บแบบใบอนุญาต (แบบที่ 29) ไว้เป็นหลักฐานต่อไป

ข้อ 15 การยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือกรณีอื่น ๆ โดยมิได้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. กรณียื่นเอกสารประกอบการรายงานเรือเข้าอื่น ๆ ให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนายเรือจัดทำบัญชีและเอกสารประกอบการรายงานเรือเข้าในรูปเอกสารยื่นต่อหน่วยควบคุมการขนถ่าย ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เรือมาถึงท่าในราชอาณาจักร ดังนี้
    • 1.1. บัญชีแสดงจำนวนคนโดยสาร
    • 1.2. บัญชีแสดงจำนวนรายชื่อ และตำแหน่งหน้าที่คนในเรือทุกแผนก
    • 1.3. บัญชีแสดงจำนวนอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนที่คนโดยสารนำเข้ามา
    • 1.4. บัญชีแสดงจำนวนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด (ซึ่งเป็นของเจ้าหน้าที่เรือ) หรือเป็นของใช้ประจำเรือ (ถ้ามิได้แจ้งไว้ในรายงานเรือ)
    • 1.5. บัญชีแสดงจำนวนของใช้ และอาหารของคนในเรือแผนกต่าง ๆ ซึ่งต้องเป็นของใช้ที่จำเป็นของแต่ละบุคคลและมีจำนวนพอสมควรเท่านั้น
    • 1.6. บัญชีแสดงจำนวนสุรา บุหรี่
    • 1.7. บัญชีแสดงจำนวนห่อพัสดุหรือถุงเมล์
    • 1.8. บัญชีแสดงจำนวนสัตว์ พืช
    • 1.9. บัญชีแสดงจำนวนยาเสพติดให้โทษที่เป็นของลูกเรือหรือของประจำเรือ
  2. กรณีการเริ่มขนถ่ายของโดยมิต้องยื่นข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
    • 2.1. ให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนายเรือยื่นคำร้องขออนุญาตพิเศษเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรที่นำของเข้าได้ในกรณีที่จะขนถ่ายของของทางราชการ หรือในกรณีที่จะบรรทุกของขาออกลงในเรือที่เข้ามามีแต่อับเฉา
    • 2.2. ในการอนุญาตพิเศษนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรที่นำของเข้าหรือผู้ที่ได้ รับมอบหมายต้องเขียนหรือพิมพ์ลงไว้ให้ชัดเจนในใบอนุญาตพิเศษว่าอนุญาตให้ทำการอย่างใด และบันทึกวันเวลาที่ออกใบอนุญาตพิเศษฉบับนั้นด้วย

ข้อ 16 การแสดงรายการลงในบัญชีสินค้าสำหรับเรือ

บัญชีสินค้าสำหรับเรือนั้นต้องแสดงรายการของทุกอย่างที่บรรทุกมากับเรือโดยถูกต้องครบถ้วน เว้นแต่ หีบห่อของใช้ส่วนตัวโดยสุจริตที่ผู้โดยสารเรือลำนั้นนำเข้ามาพร้อมกับตนบรรดาหีบห่อที่มีของอยู่ภายใน ต้องมีเครื่องหมายและเลขหมาย และต้องแสดงเครื่องหมายและเลขหมายเช่นว่านั้นลงไว้ในบัญชีสินค้าสำหรับเรือบัญชีสินค้า สำหรับเรือที่ยื่นในการรายงานเรือเข้าต้องแสดงน้ำหนักสินค้าแต่ละรายการเป็นมาตราเมตริก ถ้าแสดงไม่ได้ให้แสดงมาตราเมตริกไว้ในยอดรวมแยกไว้ต่างหาก

การแสดงน้ำหนักสินค้าเป็นมาตราเมตริกนั้น สำหรับสินค้าโดยทั่ว ๆ ไป ถือว่าเป็นน้ำหนักที่ได้จากการชั่งสินค้ารวม สิ่งห่อหุ้ม (Gross Weight) เว้นเสียแต่สินค้าบางชนิดซึ่งไม่สะดวกในการที่จะชั่งหาน้ำหนักได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเหลว แก๊ส ไม้ซุงหรือไม้แปรรูปก็ให้ใช้วิธีคำนวณหาจากปริมาตรที่ตรวจวัดได้ โดยถือห้าสิบคิวบิตฟิตเป็นหนึ่งตัน

ของที่มีรายการในบัญชีสินค้าสำหรับเรือแสดงเมืองตราส่งเป็นท่าใด ต้องขนขึ้นไว้ ณ ท่านั้น จะไม่ขอขนขึ้นและหรือจะนำติดเรือกลับออกไปไม่ได้

ข้อ 17 เรือที่บรรทุกคอนเทนเนอร์เข้ามามีหลายเจ้าของ

เรือที่บรรทุกคอนเทนเนอร์เข้ามามีหลายเจ้าของในเรือลำเดียวกัน ให้ปฏิบัติดังนี้

  1. ความรับผิดแทนนายเรือเกี่ยวกับการรายงานเรือเข้า ตลอดจนความรับผิดตามกฎหมายศุลกากรทั่วไป ให้ตกอยู่แก่บริษัทตัวแทนเรือนั้น ส่วนความรับผิดเกี่ยวกับสินค้าที่บรรจุอยู่ในคอนเทนเนอร์ให้ตกอยู่แก่บริษัทเจ้าของคอนเทนเนอร์ การแต่งตั้งผู้แทนของนายเรือให้ใช้หนังสือมอบอำนาจตามแบบที่กำหนด
  2. การรายงานเรือเข้า
    • 2.1. ให้บริษัทตัวแทนเรือที่บรรทุกของเข้ามาซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายเรือแล้ว เป็นผู้รายงานเรือเข้าต่อหน่วยงานรับรายงานเรือเข้า ด่านศุลกากรที่นำของเข้า โดยให้บริษัทเจ้าของคอนเทนเนอร์แยกบัญชีสินค้าสำหรับเรือของแต่ละเจ้าของยื่นพร้อมกัน ถ้ากฎหมายหรือระเบียบกำหนดให้ต้องปฏิบัติอย่างใด บริษัทเจ้าของคอนเทนเนอร์ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน
    • 2.2. ถ้ามีบัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็นของถ่ายลำหรือของผ่านแดน ให้แต่ละบริษัทเจ้าของคอนเทนเนอร์เป็นผู้ยื่น
    • 2.3. บริษัทตัวแทนเรือจะต้องทำใบสรุปยอดของทั้งหมด (รวมทั้งของบริษัทเจ้าของคอนเทนเนอร์) และบริษัทเจ้าของคอนเทนเนอร์ต้องทำใบสรุปรวมยอดของทั้งหมดของตนแนบด้วย

ส่วนที่ 2 การรายงานอากาศยานเข้าและการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยาน

ข้อ 18 การลงทะเบียนเป็นผู้ยื่นรายงานอากาศยานเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. ให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากผู้ควบคุมอากาศยานหรือตัวแทนอากาศยานทำการลงทะเบียนเป็นผู้ยื่นรายงานอากาศยานเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์
  2. เมื่อได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรให้เป็นผู้รับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวเป็นผู้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร

ข้อ 19 ให้ผู้ควบคุมอากาศยาน หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ควบคุมอากาศยาน ขออนุมัติเปิดระวางอากาศยาน

ข้อ 19 ให้ผู้ควบคุมอากาศยาน หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ควบคุมอากาศยาน หรือตัวแทนอากาศยานทำการรายงานอากาศยานเข้า ขออนุมัติเปิดระวางอากาศยาน และการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยานทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้

  1. การรายงานอากาศยานที่เข้ามาในราชอาณาจักร
    • 1.1. ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากอากาศยานออกจากสนามบินต้นทาง ให้จัดทำข้อมูลการรายงานอากาศยานเข้าและการขอเปิดระวางอากาศยาน (Vessel Schedule : VSED) ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด และส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรโดยถือเป็นการยื่นรายงานอากาศยานเข้าต่อศุลกากรแล้ว
    • 1.2. เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรรับข้อมูลรายงานอากาศยานเข้าแล้ว จะแจ้งกลับเลขที่รับรายงานอากาศยานเข้า (Receive Control Number) ให้ทราบ ถือเป็นการอนุญาตพิเศษให้เปิดระวางอากาศยานเพื่อขนถ่ายของได้ทันที โดยระบบจะกำหนดพนักงานศุลกากรประจำอากาศยานเพื่อควบคุมการขนถ่ายสินค้าต่อไป
  2. ให้ตัวแทนอากาศยาน
    • 2.1. จัดทำข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยาน (Air Cargo Manifest : AMAN) ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด
    • 2.2. จัดทำข้อมูลใบตราส่งสินค้าสำหรับอากาศยาน (Airway Bill : ABIL) ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด
    • 2.3. โดยแยกข้อมูลบัญชีสินค้าถ่ายลำ บัญชีสินค้าผ่านแดน บัญชีสินค้าขนขึ้นสนามบินที่นำเข้า บัญชีสินค้าติดอากาศยาน (Through Cargo) และบัญชีของที่ขนขึ้นสนามบินอื่นภายในราชอาณาจักรนอกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่นำเข้า
    • 2.4. แล้วส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรภายใต้เลขที่รับรายงานอากาศยานเข้า ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากอากาศยานออกจากสนามบินต้นทาง
  3. เมื่อส่งข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยานครบถ้วนแล้ว ให้ตัวแทนอากาศยานจัดทำข้อมูลวันนำเข้าจริง (Actual Date) ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด แล้วส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร เพื่อเป็นการยืนยันความถูกต้องของบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยาน และถือเป็นการลงรายละเอียดไว้ในทะเบียนรับอากาศยานเข้าจากต่างประเทศ (แบบที่ 438) แล้ว
  4. การสำแดงเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อ (Shipping Marks) ในข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยาน ถ้าข้อมูลเป็นรูปภาพให้บันทึกเป็น Picture แต่ถ้าเป็นข้อความให้บันทึกเป็นข้อความตามจริง ตามมาตรฐานที่ กรมศุลกากรกำหนด
  5. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง
    • 5.1 ถ้าพบข้อผิดพลาดในการตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้น ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบรหัสข้อผิดพลาดกลับไปให้ผู้ส่งข้อมูล
    • 5.2 ถ้าไม่พบข้อผิดพลาด ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะนำข้อมูลเที่ยวบิน ของอากาศยานวันอากาศยานเข้า ข้อมูลเลขที่ใบตราส่งตามบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยานที่ได้ทำการยืนยันความถูกต้องแล้ว เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตให้ผู้นำของเข้าทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

ข้อ 20 การแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยานทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. ภายในกำหนดสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่ออกเลขที่รับรายงานอากาศยาน ให้ตัวแทนอากาศยาน สามารถส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรเพื่อแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้า สำหรับอากาศยานเข้าได้โดยไม่ต้องพิจารณาความผิด
  2. การขอแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยานภายหลังสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่ออกเลขที่รับ รายงานอากาศยาน ให้ตัวแทนอากาศยานต้องจัดทำคำร้องขอแก้ไข (Amend Should Be / Shortlanded / Overlanded) ยื่นต่อหน่วยงานบริการศุลกากร ณ สนามบินศุลกากรที่นำของเข้า
    เพื่อพิจารณาอนุญาตเป็นการเฉพาะเป็นราย ๆ ไป แล้วให้พนักงานศุลกากรทำการบันทึกแก้ไขข้อมูล บัญชีสินค้าสำหรับอากาศยานในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรต่อไป
  3. กรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้ทำการตรวจสอบข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้ากับบัญชีสินค้า สำหรับอากาศยานและทำการตัดบัญชีสินค้าให้โดยอัตโนมัติแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร จะไม่ยอมรับข้อมูลแก้ไขใบตราส่งดังกล่าวนั้นอีก

ข้อ 21 การดำเนินการกับสินค้าสำหรับอากาศยานกรณีอื่น ๆ โดยมิได้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. การนำของเข้าเก็บในโรงพักสินค้าของแต่ละบริษัทการบิน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนบริการศุลกากรนำเข้าที่จะควบคุมการเก็บรักษา
  2. สินค้าถ่ายลำให้จัดทำใบขนสินค้าถ่ายลำกำกับไว้ก่อนทุกราย เมื่อได้ตรวจสอบ และลงลายมือชื่อรับรองใบขนสินค้าถ่ายลำถูกต้องเรียบร้อยแล้ว นำมาให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบกับข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร โดยถือเป็นการลงบัญชีสินค้าถ่ายลำขาเข้า – ขาออก (แบบที่ 489) ก่อนการนำเข้าเก็บไว้ในโรงพักสินค้าของบริษัทการบิน โดยให้แยกเก็บไว้ต่างหากจากของนำเข้าสนามบินนั้น
  3. เสบียงที่ส่งเข้ามา เพื่อใช้เป็นเสบียงบนอากาศยานที่จะบินออกไปต่างประเทศ
    • 3.1. ต้องนำเข้ามาโดยอากาศยานของบริษัทการบินเจ้าของเสบียงนั้น และเป็นของตามรายการที่ได้ตกลงกันไว้ในบัญชีแนบท้ายสัญญาประกันทัณฑ์บน
    • 3.2. ให้มีบัญชีสินค้าแยกมาต่างหากจากบัญชีสินค้าทั่ว ๆ ไปทางอากาศยาน
    • 3.3. การนำของเข้าเก็บ บริษัทการบินเจ้าของเสบียงจะต้องทำใบขนสินค้าถ่ายลำเป็นสองฉบับ นำมาให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบกับข้อมูลบัญชีสินค้าในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรโดยถือเป็นการลงบัญชีสินค้าถ่ายลำขาเข้า-ขาออก (แบบที่ 489) ก่อนควบคุมเข้าเก็บรักษายังคลังเสบียงทัณฑ์บนของบริษัทการบินต่อไป

ข้อ 22 การยื่นบัญชีรายชื่อผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ

สำหรับอากาศยานที่มีผู้โดยสาร และ/หรือลูกเรือ นอกจากการรายงานอากาศยานเข้า ให้ผู้ควบคุมอากาศยาน หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ควบคุมอากาศยาน หรือตัวแทนอากาศยาน ดำเนินการดังนี้

  1. จัดทำบัญชีรายชื่อผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ (Passenger Manifest) เป็นคู่ฉบับ ตามแบบที่กำหนดใน APPENDIX 2. PASSENGER MANIFEST Annex 9 : Facilitation International Standards and Recommended Practices ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (The International Civil Aviation Organization : ICAO) ยื่นต่อสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรที่รับผิดชอบ ในเวลาเดียวกับที่รายงานอากาศยานเข้า พร้อมลงรายละเอียดและลายมือชื่อในสมุดรายงานผู้โดยสารขาเข้า (แบบที่ 490) หรือ
  2. การส่งข้อมูลผู้โดยสารล่วงหน้าซึ่งได้กระทำในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบข้อมูลตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (Advance Passenger Processing System : APPS) หลังจากผู้โดยสารขึ้นเครื่องบินเรียบร้อยแล้ว (Flight Closed) ให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับการดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อผู้โดยสารโดยทางเอกสาร

ส่วนที่ 3 การรายงานยานพาหนะเข้าและการยื่นบัญชีสินค้าทางบก

ข้อ 23 การลงทะเบียนเป็นผู้ยื่นรายงานยานพาหนะเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. ให้ผู้รับผิดชอบการขนส่งสินค้าทางบก หรือของเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองยานพาหนะที่ขนส่งทางบก ทำการลงทะเบียนเป็นผู้ยื่นรายงานยานพาหนะเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์
  2. เมื่อได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรให้เป็นผู้รับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ได้รับอนุมัติดังกล่าวเป็นผู้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร

ข้อ 24 ยื่นรายงานยานพาหนะที่ขนส่งสินค้าผ่านพรมแดนทางบกเข้ามา ในราชอาณาจักร

ข้อ 24 ให้ผู้รับผิดชอบการขนส่งสินค้าทางบก หรือเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองยานพาหนะ ที่ขนส่งทางบก ที่ประสงค์จะยื่นรายงานยานพาหนะที่ขนส่งสินค้าผ่านพรมแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักร และยื่นบัญชีสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการดังนี้

  1. ก่อนนำยานพาหนะผ่านด่านพรมแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักร ให้จัดทำข้อมูลบัญชีสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรทางบกตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด และส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
  2. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง
    • 2.1. ถ้าพบข้อผิดพลาดในการตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้น ระบบคอมพิวเตอร์ ของศุลกากรจะตอบรหัสข้อผิดพลาดกลับไปให้ผู้ส่งข้อมูล ถ้าไม่พบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ ของศุลกากรจะออกเลขที่รับรายงานยานพาหนะและบัญชีสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (Receive Control Number) ให้ผู้ส่งข้อมูลทราบ
    • 2.2. ให้ใช้เลขที่รับรายงานดังกล่าว เป็นใบอนุญาตเพื่อแจ้งต่อด่านพรมแดนในการตรวจเพื่อนำยานพาหนะผ่านเขตแดนทางบกต่อไป โดยไม่ต้องยื่นบัญชีสินค้า (แบบ ศ.บ.1) อีก

ข้อ 25 การแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าทางบกที่ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. ผู้ส่งข้อมูลสามารถส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรเพื่อแก้ไข ข้อมูลบัญชีสินค้าทางบกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้ ก่อนการนำยานพาหนะผ่านด่านพรมแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ต้องพิจารณาความผิด
  2. การขอแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าทางบก ภายหลังการนำยานพาหนะผ่านด่านพรมแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ต้องจัดทำคำร้องขอแก้ไขยื่นต่อหน่วยควบคุมทางศุลกากร ณ ด่านศุลกากรที่นำของเข้า เพื่อพิจารณาอนุญาตเป็นการเฉพาะเป็นราย ๆ แล้วให้พนักงานศุลกากรทำการบันทึก แก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าทางบกในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรต่อไป
  3. หากระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้ทำการตรวจสอบข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้ากับบัญชี สินค้าทางบกและทำการตัดบัญชีสินค้าให้โดยอัตโนมัติแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะไม่ยอมรับข้อมูลแก้ไขบัญชีสินค้าดังกล่าวอีก

ข้อ 26 การรายงานยานพาหนะและการยื่นบัญชีสินค้าทางบกเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. กรณีต้องยื่นบัญชีสินค้า (แบบ ศ.บ.1) ให้ผู้ควบคุมยานพาหนะที่ผ่านเขตแดนทางบก เข้ามาในราชอาณาจักร ต้องยื่นบัญชีสินค้า (แบบ ศ.บ.1) ต่อพนักงานศุลกากรเมื่อจะนำรถบรรทุกของผ่านด่านพรมแดนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นสองฉบับ การกรอกรายการและลงนามในบัญชีสินค้าทั้งสองฉบับถ้าเป็นยานพาหนะเปล่าเข้ามาให้หมายเหตุว่า “ไม่มีสินค้าบรรทุกเข้ามา”
  2. กรณีไม่ต้องยื่นบัญชีสินค้า (แบบ ศ.บ.1)
    • 2.1. ให้ผู้ควบคุมยานพาหนะบรรทุกของและมิได้เดินด้วยกำลังเครื่อง ไม่ต้องยื่นบัญชีสินค้า แต่พนักงานศุลกากรประจำด่านพรมแดนจะตรวจจำนวนหีบห่อของที่บรรทุก สอบถามว่าเป็นของชนิดใดบ้าง แล้วให้กรอกรายการลงในใบผ่านด่าน (แบบ ศ.บ.2) เป็นสองฉบับ
    • 2.2. รถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์บรรทุกแต่คนโดยสารกับหีบห่อของส่วนตัวคนโดยสารในรถนั้น ไม่ต้องยื่นบัญชีสินค้าแต่พนักงานศุลกากรประจำด่านพรมแดนจะตรวจสอบ และถ้าไม่มีของต้องห้ามต้องกำกัดเข้ามา ให้จดเลขทะเบียนรถและวันที่เข้ามาแล้วออกใบผ่านด่าน (แบบ ศ.บ. 2) ให้ได้โดยไม่ต้องกรอกช่องจำนวนหีบห่อและชนิดของ
    • 2.3. ยานพาหนะอย่างอื่น ๆ นอกจากรถยนต์ตามข้อ 26 2. (2.2) ถ้าไม่ได้บรรทุกของใด ๆ นอกจากหีบห่อของส่วนตัวผู้โดยสารในยานพาหนะนั้น และถ้าไม่มีของต้องห้ามต้องกำกัดเข้ามาด้วย ให้ผ่านด่านไปได้โดยไม่ต้องมีใบผ่านด่าน
    • 2.4. คนหาบหามของและสัตว์บรรทุกของเข้ามาเล็กน้อย ตามปกติเมื่อไม่มีของต้องห้ามต้องกำกัดให้ผ่านด่านไปได้โดยไม่ต้องมีใบผ่านด่าน
  3. เมื่อพนักงานศุลกากรตรวจสอบบัญชีสินค้าหรือกรอกรายการในใบผ่านด่านแล้ว ให้ออกเลขที่ วัน เดือน ปีกำกับ ถือเป็นการอนุญาตให้ผ่านแดน
    • 3.1. รูปแบบเลขที่ใบอนุญาตให้ผ่านแดนในรูปแบบเอกสาร มีจำนวนสิบสองหลัก
    • 3.2. ให้ด่านศุลกากรประกาศกำหนดเลข Running 7 หลัก ให้เริ่มต้นด้วยเลขที่ใด เป็นการเฉพาะของแต่ละด่านพรมแดนในสังกัดแตกต่างกันไป เช่น เริ่มต้นด้วย 0001 หรือ 1001 หรือ 2001 เป็นต้น แต่เมื่อขึ้นเดือนใหม่ให้นับหนึ่งใหม่
  4. แล้วมอบต้นฉบับคืนให้ผู้ควบคุมยานพาหนะเป็นใบอนุญาตผ่านด่านพรมแดน และ กำกับการขนย้ายของตามบัญชีสินค้ามายังด่านศุลกากร และ/หรือ กำกับการขนย้ายของตามใบผ่านด่าน กรณีของต้องนำมาปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ ด่านศุลกากร คู่ฉบับด่านพรมแดนจะส่งไปยังด่านศุลกากรที่นำของเข้านั้นต่อไป
  5. ของที่บรรทุกเข้ามาในยานพาหนะใดต้องบรรทุกของในยานพาหนะเดิมนั้นตั้งแต่ด่านพรมแดนถึงด่านศุลกากร
    • 5.1. กรณีมีเหตุจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนยานพาหนะขนถ่ายระหว่างทาง เช่น เพราะเกิดอุบัติเหตุแก่ยานพาหนะที่บรรทุกของเข้ามา ให้ผู้รับผิดชอบการขนส่งสินค้าทางบก หรือของเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองยานพาหนะที่ขนส่งทางบก ยื่นคำร้องขออนุญาตขนถ่ายของเปลี่ยนยานพาหนะระหว่างทาง ต่อนายด่านศุลกากรหรือหัวหน้าด่านพรมแดนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
    • 5.2. เมื่อเห็นว่ามีเหตุจำเป็นแท้จริง ให้นายด่านศุลกากรหรือหัวหน้าด่านพรมแดน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอนุญาตให้ขนถ่ายของเปลี่ยนยานพาหนะได้ โดยมีพนักงานศุลกากรควบคุมจนเสร็จการ พร้อมหมายเหตุไว้ในต้นฉบับบัญชีสินค้าหรือใบผ่านด่านไว้เป็นหลักฐานด้วย
  6. เมื่อยานพาหนะบรรทุกของมาถึงด่านศุลกากร
    • 6.1. ให้ผู้ควบคุมยานพาหนะยื่นต้นฉบับใบอนุญาตผ่านด่านพรมแดนต่อพนักงานศุลกากร
    • 6.2. เมื่อพนักงานศุลกากรรับบัญชีสินค้าหรือใบผ่านด่านฉบับซึ่งเป็นใบอนุญาตให้ผ่านด่านพรมแดน จะตรวจดูว่าด่านพรมแดนได้กรอกถูกต้องแล้ว และยานพาหนะนั้นได้เข้ามาถึงด่านศุลกากรภายในเวลาอันควร และทำการบันทึกข้อมูลบัญชีสินค้า และ/หรือ ใบผ่านด่านเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรต่อไป

ส่วนที่ 4 การรายงานของเข้าและการยื่นบัญชีสินค้าทางรถไฟ

ข้อ 27 ให้ผู้รับผิดชอบการขนส่งสินค้าทางรถไฟ รายงานยานพาหนะที่ขนส่งสินค้าผ่านพรมแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักร

ข้อ 27 ให้ผู้รับผิดชอบการขนส่งสินค้าทางรถไฟหรือตัวแทน รายงานยานพาหนะที่ขนส่งสินค้าผ่านพรมแดนทางบก เข้ามาในราชอาณาจักรและยื่นบัญชีสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้

  1. การรายงานยานพาหนะเข้าและบัญชีสินค้า ให้ส่งข้อมูลล่วงหน้าก่อนรถไฟเข้ามาในราชอาณาจักรไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง
  2. การจัดทำข้อมูลรายงานยานพาหนะเข้าสำเร็จให้ระบุวันนำเข้าจริง เมื่อรถไฟได้เข้ามาถึงเขตด่านพรมแดน เว้นแต่ กรณีนำเข้าทางด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ และด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ให้ถือว่าน่าเข้าจริงเมื่อรถไฟได้ผ่านสถานีรถไฟร่วมระหว่างประเทศที่ด่านพรมแดน
  3. การขอแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับรถไฟภายหลังสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่วันที่นำเข้าจริงตาม (2) ให้จัดทำคำร้องขอแก้ไขยื่นต่อหน่วยงานควบคุมทางศุลกากร ณ ด่านศุลกากรที่นำเข้า เพื่อพิจารณาอนุญาตเป็นการเฉพาะเป็นราย ๆ ไป แล้วให้พนักงานศุลกากรทำการบันทึกแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับรถไฟในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรต่อไป ให้นำเรื่องการรายงานเรือเข้าและการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือมาใช้บังคับ กับการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม”

ข้อ 27 แก้ไขตาม ประกาศกรมศุลกากร ที่ 73/2565 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4)

ส่วนที่ 5 การรายงานของเข้าและการยื่นบัญชีสินค้าทางไปรษณีย์

ข้อ 28 การควบคุมทางไปรษณียภัณฑ์จากต่างประเทศ

การเปิดถุงไปรษณีย์ต่างประเทศทุกชนิด ให้หน่วยงานตรวจคัดไปรษณียภัณฑ์ดำเนินการร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ทุกครั้ง ด่านศุลกากรที่มีชื่อส่งของถึงเพื่อพิจารณาอนุญาตเป็นการเฉพาะเป็นราย ๆ ไป แล้วให้พนักงานศุลกากรทำการบันทึกแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรต่อไป

ข้อ 29 การตรวจคัดสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ

ให้หน่วยงานตรวจคัดไปรษณียภัณฑ์ ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดถุงไปรษณีย์ต่างประเทศแยกสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่ได้เปิดถุงแล้ว ออกเป็นสามประเภท คือ

  • ประเภทที่หนึ่ง ของยกเว้นอากร คือของที่นำเข้าโดยทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละหีบห่อมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกินหนึ่งพันห้าร้อยบาท ตามประเภท 12 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 หรือตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้เพียงเป็นตัวอย่างและไม่มีราคาในทางการค้า ตามประเภท 14 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด สิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศที่คัดแยกไว้ตามประเภทที่หนึ่ง ให้ส่งคืนบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายต่อไป
  • ประเภทที่สอง ของต้องชำระอากร คือของที่นำเข้าโดยทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกัน หรือเข้ามาพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่หีบห่อ หากมีราคา FOB รวมกันไม่เกินสี่หมื่นบาท และไม่เป็นของต้องห้าม ต้องกำกัด หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย ให้พนักงานศุลกากรเปิดตรวจและประเมินอากร
  1. ให้นำสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่คัดแยกไว้ตามประเภทที่สอง บันทึกข้อมูลในส่วนการบันทึกข้อมูล สิ่งของส่งทางไปรษณีย์ประเภทที่สอง ของระบบศุลกากรไปรษณีย์
  2. ระบบศุลกากรไปรษณีย์จะกำหนดเลขที่รายการศุลกากรให้โดยอัตโนมัติ
  3. แล้วส่งมอบสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ประเภทที่สอง พร้อมบัญชีพัสดุและไปรษณียภัณฑ์อื่น ๆ ที่เปิดตรวจและประเมินอากรแล้ว (แบบที่ 495) ให้แก่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อส่งมอบผู้รับ และเรียกค่าภาษีอากรแทนกรมศุลกากรต่อไป
  • ประเภทที่สาม ของอื่น ๆ นอกจากประเภทที่หนึ่ง และประเภทที่สอง
  1. ให้นำสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่คัดแยกไว้ตามประเภทที่สาม บันทึกข้อมูลในส่วนของการบันทึกข้อมูลสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ประเภทที่สามของระบบศุลกากรไปรษณีย์
  2. ระบบศุลกากรไปรษณีย์จะกำหนดเลขที่รายการศุลกากรให้โดยอัตโนมัติ
  3. แล้วส่งมอบสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ประเภทที่สาม พร้อมบัญชีกำกับไปรษณียภัณฑ์ต้องเสียอากรหรือต้องห้ามต้องกำกัด (แบบที่ 431) ให้แก่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำเข้าเก็บรักษาในโรงพักสินค้าของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือส่งไปที่สำนัก/ด่านศุลกากรแล้วแต่กรณี เพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป
  4. ให้พนักงานศุลกากรหน่วยตรวจคัดไปรษณียภัณฑ์ ทำการบันทึกเลือกสิ่งของ ส่งทางไปรษณีย์ประเภทที่สาม ที่ต้องจัดทำเป็นใบขนสินค้าขาเข้า และส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร เพื่อใช้เป็นข้อมูลรายงานขาเข้าและบัญชีสินค้าทางไปรษณีย์ต่อไป

ส่วนที่ 6 การรายงานของเข้าและการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับของที่ขนส่งทางท่อหรือสายส่งไฟฟ้า

ข้อ 30 การลงทะเบียนเป็นผู้ยื่นรายงานการขนส่งสินค้าทางท่อหรือสายส่งไฟฟ้า ทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. ให้ผู้รับผิดชอบการขนส่งสินค้าทางท่อหรือสายส่งไฟฟ้า หรือเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองสินค้าที่ขนส่งทางท่อหรือสายส่งไฟฟ้า ทำการลงทะเบียนเป็นผู้ยื่นรายงานบัญชีสินค้าเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์
  2. เมื่อได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรให้เป็นผู้รับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ได้รับอนุมัติดังกล่าวเป็นผู้ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร

ข้อ 31 ให้ผู้รับผิดชอบการขนส่งสินค้าทางท่อหรือสายส่งไฟฟ้า ยื่นรายงานการนำเข้า

ข้อ 31 ให้ผู้รับผิดชอบการขนส่งสินค้าทางท่อหรือสายส่งไฟฟ้า หรือเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองสินค้าที่ขนส่งทางท่อหรือสายส่งไฟฟ้า ประสงค์จะยื่นรายงานการนำเข้าและยื่นบัญชีสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ดำเนินการ ดังนี้

  1. กรณีการยื่นใบขนสินค้าและการเสียอากรสำหรับการขนส่งสินค้าทางท่อ
    • 1.1. ให้ยื่นรายงานการนำเข้าและยื่นบัญชีสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร โดยจัดทำข้อมูลบัญชีสินค้าประมาณการสำหรับการนำเข้าประจำเดือน ภายในวันที่หนึ่งของเดือนที่นำของเข้า และเมื่อระบบคอมพิวเตอร์นั้นทำการออกเลขที่รับรายงานการนำเข้าและบัญชีสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ให้ใช้เลขที่รับรายงานดังกล่าวเป็นเลขที่บัญชีสินค้า สำหรับการขนส่งทางท่อในการจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าเป็นรายเดือนไม่เกินวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่นำของเข้า
    • 1.2. การยื่นใบขนสินค้าขาเข้าอย่างน้อยต้องมีเอกสารประกอบ ดังต่อไปนี้
      • (ก) บัญชีราคาสินค้ารายเดือน (monthly invoice)
      • (ข) ใบรับรองปริมาณก๊าซธรรมชาติรายเดือน (monthly statement, daily sales breakdown)
    • 1.3. ให้ผู้นำของเข้าวางประกันค่าอากรให้คุ้มกับค่าอากรที่คำนวณได้จากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าแต่ละเดือนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
      • (ก) เป็นเงินสด
      • (ข) ให้ธนาคารค้ำประกัน
      • (ค) ทำสัญญาประกันทัณฑ์บน
      • (ง) วางประกันโดยหลักประกันอื่น ในการวางประกันตามข้อ 1.3. (ข) (ค) และ (ง) ให้สำนักงานหรือด่านศุลกากร ณ ท่าหรือที่ ที่นำของเข้าเสนอเรื่องให้ผู้อำนวยการสำนักงานหรือนายด่านศุลกากรที่กำกับดูแลเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
    • 1.4. ให้ผู้นำของเข้าจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าและชำระอากรให้ครบถ้วนภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่นำของเข้า
    • 1.5. การตรวจวัดประมาณก๊าซธรรมชาติที่นำเข้า ให้ใช้วิธีการตรวจวัดโดยผ่านมาตรวัด (Flow meter) จะถูกวัดตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันแรกของเดือนถึงเวลา 24.00 น. ของวันสุดท้ายของเดือนตามที่ระบุไว้ในสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ณ จุดที่ความรับผิดทางภาษีเกิดขึ้น และให้สำแดงน้ำหนักของก๊าซธรรมชาติเป็นกิโลกรัม หากรายงานการคำนวณน้ำหนักเป็นหน่วยอื่น ให้ผู้นำของเข้าแปลเป็นหน่วยกิโลกรัม การคำนวณหาน้ำหนักให้ใช้ระบบมาตรฐานสถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐอเมริกา (American Petroleum Institute (API)) ระบบมาตรฐาน American Gas Association (AGA) หรือมาตรฐานสากลอื่น
  2. กรณีการยื่นใบขนสินค้าและการเสียอากรสำหรับพลังงานไฟฟ้าที่ขนส่งทางสายส่งไฟฟ้า
    • 2.1 ให้ยื่นรายงานการนำเข้าและยื่นบัญชีสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจัดทำข้อมูลบัญชีสินค้าตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าเป็นรายเดือนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร และปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ครบถ้วนภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่นำของเข้า
    • 2.2 การยื่นใบขนสินค้าขาเข้า อย่างน้อยต้องมีเอกสารประกอบ ดังต่อไปนี้
      • (ก) บัญชีสินค้า
      • (ข) บัญชีราคาสินค้า (invoice)
      • (ค) ข้อมูลยืนยันปริมาณและมูลค่าพลังงานไฟฟ้าที่นำเข้ารายเดือน (monthly confirmation statement)
    • 2.3 การตรวจวัดปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่นำเข้า ให้ใช้วิธีการตรวจวัดหรือคำนวณโดยใช้ค่าที่อ่านได้จากมิเตอร์ไฟฟ้าที่ติดตั้ง ณ ประเทศผู้ส่งออกหรือประเทศผู้นำเข้า
  3. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง ถ้าพบข้อผิดพลาดในการตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้น ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะตอบรหัสข้อผิดพลาดกลับไปให้ผู้ส่งข้อมูล ถ้าไม่พบข้อผิดพลาดระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะออกเลขที่รับรายงานการนำเข้าและบัญชีสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรให้ผู้ส่งข้อมูลทราบ

ข้อ 32 การแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าทางท่อส่งหรือสายส่งไฟฟ้าทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. ผู้ส่งข้อมูลสามารถส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรเพื่อแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าทางท่อส่งหรือสายส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้ ก่อนการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าสำหรับการนำเข้าของในเดือนนั้น โดยไม่ต้องพิจารณาความผิด
  2. การขอแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าทางท่อส่งหรือสายส่งไฟฟ้า ภายหลังการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าสำหรับของที่ขนส่งทางท่อส่งหรือสายส่งไฟฟ้าแล้ว ต้องจัดทำคำร้องขอแก้ไขยื่นต่อหน่วยควบคุมทางศุลกากร ณ ด่านศุลกากรที่นำของเข้า เพื่อพิจารณาอนุญาตเป็นการเฉพาะเป็นราย ๆ แล้วให้พนักงานศุลกากรทำการบันทึกแก้ไขข้อมูลบัญชีสินค้าทางท่อส่งหรือสายส่งไฟฟ้าในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร ต่อไป
  3. หากระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้ทำการตรวจสอบข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้ากับบัญชีสินค้าทางท่อส่งหรือสายส่งไฟฟ้าและทำการตัดบัญชีสินค้าให้โดยอัตโนมัติแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะไม่ยอมรับข้อมูลแก้ไขบัญชีสินค้าดังกล่าวอีก