เขตปลอดอากร (Freezone)


เขตปลอดอากร คือ เขตพื้นที่ที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ โดยผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี

ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร คือ ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้ประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศในเขตปลอดอากร

สิทธิประโยชน์

  1. ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเข้าไปในเขตปลอดอากรในกรณี ดังนี้

    • เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบแห่งของดังกล่าวที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ โดยให้รวมถึงของที่ใช้ในการสร้าง ประกอบหรือติดตั้งโรงงานหรืออาคารในเขตปลอดอากร
    • ของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใด ที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ หรือ
    • ของที่ปล่อยออกมาจากเขตปลอดอากรอื่น
  2. ได้รับยกเว้นอากรขาออก สำหรับของที่ปล่อยออกไปจากเขตปลอดอากรเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

  3. ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้ของใดได้รับยกเว้นหรือคืนอากรเมื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หากนำของนั้นเข้าไปในเขตปลอดอากร ให้ได้รับยกเว้นหรือคืนอากร โดยให้ถือว่าของนั้นได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเวลาที่ได้นำของนั้นเข้าไปในเขตปลอดอากร

  4. ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือวัตถุดิบภายในราชอาณาจักร ซึ่งนำเข้าไปในเขตปลอดอากร เพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับของนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรในพื้นที่ต่อไปนี้

    • เขตปลอดอากร ณ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา
    • เขตปลอดอากรที่จัดตั้งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
    • เขตปลอดอากรที่จัดตั้งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

พิธีการศุลกากร

1. การนำของเข้าเก็บในเขตปลอดอากร

  • การนำของเข้าจากต่างประเทศ ให้จัดทำใบขนสินค้า Type 0 และระบุการใช้สิทธิประโยชน์ของเขตปลอดอากรในใบขนสินค้าด้วย
  • การรับโอนของจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรอื่น เช่นรับโอนของตามมาตรา 29/คลังสินค้าทัณฑ์บน/เขตปลอดอากรอื่น/เขตประกอบการเสรี/ของที่ได้รับการส่งเสริมบีโอไอ ให้จัดทำใบขนสินค้า Type D และระบุการใช้สิทธิประโยชน์ของเขตปลอดอากรในใบขนสินค้าด้วย
    • การนำของจากภายในประเทศ ให้จัดทำคำร้องแบบกศก. 122 หรือใบขนสินค้า Type D โดยไม่ต้องระบุการใช้สิทธิประโยชน์ของเขตปลอดอากรในใบขนสินค้า

2. การนำของออกจากเขตปลอดอากร

  1. การนำของออกไปต่างประเทศ - ให้จัดทำใบขนสินค้า Type 1
  2. การโอนของไปยังสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรอื่น
    • โอนไปเขตปลอดอากรอื่น/เขตประกอบการเสรี ให้จัดทำใบขนสินค้า Type D
    • โอนไปคลังสินค้าทัณฑ์บน/ของที่ได้รับการส่งเสริมบีโอไอ/ของตามมาตรา 29 ให้จัดทำใบขนสินค้า Type C
  3. การนำของเข้าภายในประเทศ – ให้จัดทำใบขนสินค้า Type P เพื่อชำระค่าภาษีอากร ตามสภาพแห่งของ ราคาศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ปล่อยของนั้นออกไปจากเขตปลอดอากร
  4. การขออนุมัติทำลายของ ให้จัดทำคำร้องเพื่อขออนุมัติทำลายของและนำไปตัดบัญชีของคงคลังต่อไป

3. ระยะเวลาการเก็บของในเขตปลอดอากร

โดยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและเก็บในเขตปลอดอากร ได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรให้เก็บของในเขตปลอดอากรได้ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่นำเข้าเก็บครั้งแรกและสามารถขยายระยะเวลาการเก็บของได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ ทั้งนี้ไม่นับระยะเวลาการเก็บของที่เป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าว ที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมและ/หรือพาณิชยกรรม

หน้าที่ของผู้ได้รับใบอนุญาต

  1. จัดทำรายงานประจำงวด 6 เดือน ตามรูปแบบที่กรมศุลกากรกำหนด
  2. อำนวยความสะดวกให้พนักงานศุลกากรเข้าตรวจนับของคงเหลือประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  3. การวางค้ำประกัน
    • กรณีของที่มีความเสี่ยง
      • รถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ จำนวน 5 ล้านบาท
      • ของอื่น จำนวน 1 ล้านบาท
    • กรณีผลการดำเนินงานขาดทุน
      • ขาดทุนเกินทุนจดทะเบียนให้วางค้ำประกันร้อยละ 3 ของมูลค่าของคงเหลือ
      • ขาดทุนเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนให้วางค้ำประกันร้อยละ 1 ของมูลค่าของคงเหลือ
  4. ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศกรมศุลกากร อย่างเคร่งครัด

ประกาศที่เกี่ยวข้อง

เอกสารเพิ่มเติม

สรุป

ที่มา : กรมศุลกากร