EXEMPT152-ไม่ต้องมีใบอนุญาต/ใบรับรอง เนื่องจากนำเข้าในเขตปลอดอากร

EXEMPT152-ไม่ต้องมีใบอนุญาต/ใบรับรอง เนื่องจากนำเข้าในเขตปลอดอากรตามมาตรา 152 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร 2560

โดยทั่วไปของที่นำเข้ามาใน หรือ ส่งออกนอกราชอาณาจักร หากเป็นของที่มีกฎหมายควบคุมการนำเข้ามาในหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายอื่นกำหนด เขตปลอดอากร เป็นพื้นที่พิเศษที่มีกฎหมายศุลกากรยกเว้นหลักการดังกล่าวไว้ตามมาตรา 152 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ดังนี้

  1. ของที่มีบทกฎหมายอื่นควบคุมเกี่ยวกับมาตรฐานหรือคุณภาพ การประทับตรา หรือ เครื่องหมายใดๆ หากนำของนั้นจากนอกราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรทุกพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
  2. ของที่มีบทกฎหมายอื่นควบคุมเกี่ยวกับการนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ซึ่งของนั้น หากนำของนั้นเข้าไปในเขตปลอดอากรเฉพาะพื้นที่ที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

เขตปลอดอากรที่กำหนดในกฎกระทรวง

  • เขตปลอดอากรที่ตั้งอยู่ ณ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภา ระยอง พัทยา
  • เขตปลอดอากรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
  • เขตปลอดอากรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

การปฏิบัติพิธีการศุลกากร

การปฏิบัติพิธีการศุลกากรในส่วนที่เกี่ยวกับใบอนุญาตสำหรับของที่นำเข้ามาจากนอกราชอาณาจักรเพื่อนำเข้าไปในเขตปลอดอากร ที่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อ 1 หรือ ข้อ 2 ผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก ไม่ต้องไปขอหนังสืออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดทำใบขนสินค้า ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลเรื่องการอนุญาต

เลขที่ใบอนุญาต เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร วันที่อนุญาต
EXEMPT152 เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาต วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560

กรณีที่มีการปล่อยของที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 1 และ ข้อ 2 ออกจากเขตปลอดอากรเพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร กฎหมายศุลกากรกำหนดให้ผู้นำเข้า ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องนับแต่วันที่นำออกจากเขตปลอดอากร โดยถือเสมือนของนั้นได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรในวันที่นำออกจากเขตปลอดอากร ดังนั้น ผู้นำเข้าที่จะนำของออกจากเขตปลอดอากรต้องดำเนินการเรื่องการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยวิธีการเดียวกันกับกรณีของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ในการนำของดังกล่าวออกจากเขตปลอดอากรเพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ผู้นำเข้าต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าชำระอากร ประเภท “P” ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต ให้ดำเนินการในเรื่องการส่งข้อมูลการอนุญาตในระบบ NSW ตามปกติ

เลขที่ใบอนุญาต เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร วันที่อนุญาต
เลขที่ใบอนุญาต เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาต วันที่ได้รับอนุญาต.

ประกาศ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 8 สิงหาคม 2562.
ที่มา : กรมศุลกากร