ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย. (ASEAN – INDIA Free Trade Agreement - AIFTA)


ความเป็นมา

ของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย. (ASEAN – INDIA Free Trade Agreement - AIFTA) เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2545 ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดียเห็นชอบให้มีการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย และในปี 2546 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ (Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation between ASEAN and India) เพื่อเป็นกรอบแนวทางและแผนงานในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียที่จะครอบคลุมถึงการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และกลไกระงับข้อพิพาท รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการอำนวยทางการค้า โดยเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเป็นฉบับแรก ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจาความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า และความตกลงว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาท ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งต่อมา ในระหว่างการรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 7 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ได้มีลงนามความตกลงดังกล่าวและเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเป้าหมายให้ความตกลงมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2553 ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า ประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ (บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย) และอินเดียจะยกเลิกภาษีศุลกากรของสินค้าโดยรวมประมาณร้อยละ 80 ของรายการสินค้าภายในปี 2559 ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) จะยกเลิกภาษีภายในปี 2564 ส่วนฟิลิปปินส์และอินเดียจะยกเลิกภาษีภายในปี 2562 ความตกลงดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งเป็นการสร้างกลไกการค้าและการระงับข้อพิพาทที่อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ทำให้สามารถคาดการณ์ได้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุน

ประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไทย

อินเดียมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจที่โดดเด่นและมีความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชียเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและจีน ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปีส่งผลให้ประชากรมีรายได้สูงขึ้นและเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อปานกลาง-สูงรวมกว่า 350 ล้านคน อินเดียจึงเป็นตลาดใหม่ทีมีศักยภาพรองรับการส่งออกของไทยเนื่องจากอินเดียมีระดับอัตราภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันสูง ดังนั้น การลด/ ยกเลิกภาษีนำเข้าของอินเดียจะช่วยลดภาระต้นทุนทางภาษีของสินค้าที่ส่งออกจากไทย ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทยและและสามารถแข่งขันกับสินค้าของคู่แข่งในตลาดอินเดียได้ดีขึ้น ตัวอย่างสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีของอินเดีย เช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ผักและพืชประเภทถั่ว อาหารปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง และน้ำผลไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่จะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการมากขึ้น เนื่องจากสามารถใช้วัตถุดิบทั้งจากภายในอาเซียนและอินเดีย และยังสามารถรับใบสั่งซื้อจากประเทศนอกกลุ่มเพื่อทำการผลิตและส่งขายภายในภูมิภาคอาเซียน-อินเดีย โดยได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้าเช่นกัน

การเปิดตลาดสินค้า

การลด/ ยกเลิกภาษีศุลกากรแบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. สินค้าปกติ (Normal Track: NT) แยกย่อยเป็นสินค้าปกติ 1 (NT 1) และสินค้าปกติ 2 (NT 2)
  2. สินค้าอ่อนไหว (Sensitive Track)
  3. สินค้าอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive Track)
  4. สินค้าไม่ลดภาษี (Exclusion List)

อาเซียนและอินเดียใช้วิธีการลดภาษีศุลกากรแบบค่อยเป็นค่อยไปจากฐานอัตราภาษีทั่วไป ณวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 โดยใช้ระยะเวลาต่างกันในการลด/ ยกเลิกภาษี สำหรับอาเซียน 5 ประเทศ (ยกเว้นฟิลิปปินส์) กับอินเดีย ฟิลิปปินส์กับอินเดีย และประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ตามตารางข้อผูกพันภาษีศุลกากรเป็นรายสินค้าซึ่งเป็นภาคผนวก 1 ของความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า สำหรับสินค้าที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อผู้ผลิตภายในประเทศ ไทยจะไม่ลดภาษีของสินค้าสำคัญเหล่านั้น เช่น นมและผลิตภัณฑ์ เนื้อโคกระบือแช่เย็นแช่แข็ง หอม กระเทียม ชา กาแฟ ข้าว ไหมและผลิตภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ เป็นต้น กรณีที่การลด/ ยกเลิกภาษีศุลกากรเป็นเหตุทำให้มีการนำเข้าสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ และอาจทำความเสียหายให้แก่ผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันหรือคล้ายกันในประเทศผู้นำเข้าไม่ว่าเป็นสินค้าเกษตรหรือสินค้าอุตสาหกรรม ผู้ผลิตภายในประเทศสามารถใช้มาตรการปกป้องตามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย เพื่อชะลอการนำเข้าสินค้านั้น เพื่อให้ผู้ผลิตภายในประเทศมีเวลาปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ โดยจะใช้มาตรการข้อใดข้อหนึ่งเป็นการชั่วคราว

  • ระงับการลดภาษีนำเข้าของสินค้าที่พิสูจน์แล้วว่าเกิดความเสียหายขึ้นจริง หรือ
  • ขึ้นอัตราภาษีนำเข้าแต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราต่ำสุดที่เปรียบเทียบระหว่างอัตราเรียกเก็บจากประเทศ อื่นๆ ในวันที่ใช้มาตรการกับอัตราเรียกเก็บก่อนหน้าวันที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ

กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า

กฎทั่วไป(General Rule) เป็นกฎหลักหรือกฎทั่วไป ใช้กับทุกสินค้า

หลักเกณฑ์ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า

1.เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นหรือใช้วัตถุดิบทั้งหมดในประเทศผู้ส่งออก (Wholly Obtained Goods).
2.เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดศุลกากรในระดับ 6หลัก (CTSH) และมีสัดส่วนของวัตถุดิบที่มีถิ่นกำเนิด จากประเทศสมาชิกอาเซียน และอินเดียอย่างน้อยร้อยละ 35 ของราคา FOB (CTSH + 35%)

รายละเอียดกฎแหล่งกำเนิดสินค้า และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภาษาอังกฤษ/ภาษาไทย

การขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

การขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีภายใต้ FTA อาเซียน-อินเดีย สินค้าที่ผลิตได้ดังกล่าวข้างต้น จะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า Form AI (ตัวอย่าง FormAI FTA) ไปแสดงต่อศุลกากรประเทศผู้นำเข้า

ประกาศ / กฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง

เลขที่ รายละเอียด
228/.2564 หลักเกณฑ์และพิธีการการยกเว้นอากรและลดอัตราศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐอินเดีย
149/.2564 การแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและคำรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับผู้นำของเข้า ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19
50/.2564 การแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับผู้นำของเข้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19)
203/.2563 การแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับผู้นำของเข้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
166/.2563 การแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับผู้นำของเข้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19)
81/.2563 การแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับผู้นำของเข้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
163/.2560 หลักเกณฑ์และพิธีการการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน - สาธารณรัฐอินเดีย
236/.2559 หลักเกณฑ์และพิธีการการยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐอินเดีย
4/.2555 ประกาศกรมศุลกากรที่ ๔/๒๕๕๕ เรื่อง หลักเกณฑ์และพิธีการเกี่ยวกับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐอินเดีย
15/.2554 ประกาศกรมศุลกากรที่ ๑๕/๒๕๕๔ เรื่อง เพิ่มเติมรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน - สาธารณรัฐอินเดีย ในภาคผนวก ๓ ของประกาศกรมศุลกากรที่ ๑๐๕/๒๕๕๒
81/.2553 ประกาศกรมศุลกากรที่ 81/.2553 เรื่อง เพิ่มเติมรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐอินเดีย ในภาคผนวก 3 ของประกาศกรมศุลกากรที่ 105/.2552
105/.2552 หลักเกณฑ์และพิธีการเกี่ยวกับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐอินเดีย

ข้อมูลสำหรับศึกษาเพิ่มเติม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ส่วนกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (สกก.) กองพิกัดอัตราศุลกากร (กพก.)