การลดอัตราอากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในเขตปลอดอากร

บทความวิชาการ - การลดอัตราอากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในเขตปลอดอากร

[บทความวิชาการ] การลดอัตราอากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในเขตปลอดอากร

จากวิกฤตการณ์น้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นเป็นลำดับทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นประกอบกับ แนวคิดที่มนุษย์เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน จึงเป็นที่มาของการคิดค้น รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อมาทดแทนการใช้น้ำมัน เพราะนอกจากเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังเป็นการลดมลพิษ อันเกิดจากเขม่าควันซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฟฟ้าในที่นี้หมายถึงรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน จึงไม่มีการปล่อยไอเสีย และไม่สร้างมลพิษซึ่งสามารถชาร์จไฟได้เมื่อแบตเตอรี่หมด ผ่านทางที่ชาร์จภายในบ้านหรือสถานีชาร์จไฟ

ดังนั้นด้วยเหตุผลของการลดภาระค่าใช้จ่าย และความต้องการพลังงานสะอาดเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม จึงมีการพัฒนาสมรรถนะของรถยนต์ไฟฟ้ามาเป็นลำดับ ในระยะแรก ๆ รถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นนวัตกรรมยานยนต์ที่ผลิตขึ้นในต่างประเทศ การนําเข้ารถไฟฟ้าทำให้ผู้ขับขี่ต้องแบกรับภาระภาษีจึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาสูง แต่ในปัจจุบันจากนโยบายส่งเสริมสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรของรัฐบาลที่ มีการจัดตั้งเขตปลอดอากรเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมทำให้คนไทย ได้มีโอกาสใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยที่ปลอดจากภาระอากรเนื่องจากการลดอัตราอากรตามมาตรา 12 ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530

โดยที่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่ง พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ข้อ 2 (13) ประกอบกับประกาศกรมศุลกากร ที่ 246/2564 เรื่องหลักเกณฑ์และพิธีการสำหรับการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนด พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ข้อ 16 ระบุว่า “ของที่ได้จากการนําวัตถุดิบเข้ามาผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดในลักษณะอุตสาหกรรมในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือในเขตประกอบการเสรี ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งนํามาจําหน่ายหรือบริโภคภายในประเทศ ให้ลดอัตราอากรศุลกากร ลงเหลือในอัตราร้อยละ 0” ผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่ประสงค์ขอใช้สิทธิลดอัตราอากร จะต้องยื่นคําร้องขอใช้สิทธิลดอัตราอากรตามมาตรา 12 (รายละเอียดตามเอกสารแนบ)

บทสรุป

ทั้งนี้ เพื่อความเข้าใจในรายละเอียดยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการสามารถศึกษาเงื่อนไข หลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อประกอบการ ปฏิบัติพิธีการศุลกากรได้จากประกาศกรมศุลกากรที่ 246/2564 เรื่องหลักเกณฑ์และพิธีการสำหรับการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ข้อ 16 ประกอบประกาศสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเรื่อง กระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญของของในเขตปลอดอากรหรือ เขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 (ดาวน์โหลด)




บทความโดย : นางสาวณฐินี สุรกาญจน์กุล ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากรสมุทรปราการ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ที่มาบทความ : กรมศุลกากร


# รถยนต์ไฟฟ้า # เขตปลอดอากร
Avatar
Administrator
Support Department

Related


Last Update : 13-01-2023