วิธีการชำระเงิน

การค้าระหว่างประเทศ มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนกับการค้าภายในประเทศอยู่หลายประการ เช่น ผู้ซื้อกับผู้ขายอยู่ห่างไกลกัน คือ อยู่กันคนละประเทศ ดังนั้น การติดต่อกันจึงไม่สะดวกเหมือนกับการค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในประเทศเดียวกัน หรือในเมืองเดียวกัน ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การปฏิบัติทางการค้าของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจกันอาจมีน้อยในระยะแรกๆ นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคอื่นๆ เช่น ต้องมีการส่งสินค้าข้ามเขตแดนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง การบรรจุสินค้า และจัดหาพาหนะที่บรรทุกสินค้าต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการโอนเงินข้ามประเทศ เป็นต้น

เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายได้มีการตกลงเกี่ยวกับข้อสัญญาซื้อขายกันแล้ว กล่าวคือ ได้มีการตกลงเรื่องคุณภาพและปริมาณสินค้า ราคา กำหนดเวลา สถานที่ส่งมอบสินค้า และเงื่อนไขการชำระเงิน ฯลฯ ผู้ขายก็มีหน้าที่ต้องส่งสินค้าตามที่ตกลง ส่วนผู้ซื้อนั้นมีหน้าที่จะต้องชำระเงินค่าสินค้าที่ซื้อตามสัญญา วิธีการชำระเงินค่าสินค้าที่พบเห็นกันบ่อยในการค้าระหว่างประเทศมี 4 วิธี ได้แก่

1. การชำระเงินค่าสินค้าโดยตรงด้วยการโอนเงิน (Telegraphic Transfer หรือ T/T)

ผู้ซื้อต้องชำระเงินหรือโอนเงินให้ผู้ขายก่อน แล้วผู้ขายจึงจะส่งสินค้าให้ โดยผู้ขายจะเป็นคนจัดทำเอกสารการส่งออกส่งให้ผู้ซื้อ แต่วิธีนี้ความเสี่ยงจะตกอยู่ที่ผู้ซื้อเพราะว่าจ่ายเงินให้ผู้ขายไปแล้ว อาจได้สินค้าไม่ตรงสเป็ก สินค้าจัดส่งช้า หรืออาจไม่ได้รับสินค้าเลย ซึ่งผู้ซื้อสามารถป้องกันได้โดยการให้ผู้ขายทำหนังสือค้ำประกัน (Advance Payment Standby / Guarantee)​

2. การเปิดบัญชีขายเชื่อ (Open Account หรือ O/A)

ผู้ขายต้องส่งสินค้าไปก่อน แล้วผู้ซื้อถึงจะชำระเงิน ผู้ขายจะเป็นคนจัดทำเอกสารการส่งออกส่งให้ผู้ซื้อ วิธีนี้ผู้ขายต้องแบกรับความเสี่ยงโดยตรงเพราะต้องส่งสินค้าไปก่อน แต่อาจได้รับเงินช้าหรือไม่ได้รับเงินเลยก็ได้ ซึ่งผู้ขายสามารถป้องกันความเสี่ยงด้วยการให้ผู้ซื้อทำหนังสือค้ำประกัน (Commercial Standby / Guarantee)

3. การชำระเงินโดยตั๋วเรียกเก็บ (Bill for Collection หรือ B/C)

ผู้ขายส่งสินค้าไปก่อน จากนั้นธนาคารของฝั่งผู้ขายจะส่งเอกสารไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารของผู้ซื้อ เพื่อให้ธนาคารฝั่งผู้ซื้อแจ้งผู้ซื้อว่ามีเอกสารเรียกเก็บเงินมาถึง เมื่อผู้ซื้อชำระเงินตามจำนวนหรือรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว จึงจะสามารถนำเอกสารจากธนาคารผู้ซื้อไปรับสินค้าออกมาได้ แต่วิธีนี้ผู้ซื้อมีความเสี่ยงเนื่องจากอาจได้รับเอกสารที่ต้องใช้ในการออกสินค้าล่าช้าในขณะที่สินค้าเดินทางมาถึงแล้ว ส่วนทางฝั่งผู้ขายเองก็มีความเสี่ยงคือผู้ซื้ออาจไม่ยอมรับสินค้า ขอต่อรองราคา เปลี่ยนเงื่อนไข ขอเลื่อนวันชำระเงิน หรือไม่ยอมชำระเงิน

  • D/P (Document Against Payment) คือ การที่ผู้ขายสินค้าส่งเอกสารไปเรียกเก็บเงินค่าสินค้าที่ตนเองส่งออกไปให้แก่ผู้ซื้อ ผ่านธนาคารของผู้ขายไปยังธนาคารตัวแทนของผู้ซื้อ เพื่อเรียกเก็บค่าสินค้าก่อนการส่งมอบเอกสาร ซึ่งมี 2 เงื่อนไขในการ เรียกเก็บ คือ D/P Sight และ D/P Term
  • D/A (Document Against Acceptance) คือ คำสั่งที่ให้เรียกเก็บเงินตามกำหนดเวลาที่ผู้ส่งออกกำหนดให้ โดยมอบสิทธิการครอบครองสินค้าให้ผู้นำเข้า ในทางปฏิบัติ เมื่อธนาคารในประเทศผู้นำเข้าได้รับเอกสารเรียกเก็บเงิน โดยมีเงื่อนไข D/A และมีเทอมการชำระเงินกำกับ (30,60,180 วัน) ธนาคารจะแจ้งผู้นำเข้าและให้ผู้นำเข้าลงนามรับรองในตั๋ว (Accept Draft) และส่งตั๋วที่รับรองแล้วนั้นคืนให้กับธนาคาร ธนาคารก็จะมอบเอกสารพร้อมทั้งโอนสิทธิการครอบครองสินค้าให้ผู้นำเข้าไปรับสินค้า เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระเงิน ธนาคารจะเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้นำเข้า แล้วโอนเงินชำระให้ผู้ส่งออกผ่านธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ (Remitting Bank) หากผู้นำเข้าไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าได้ ธนาคารก็เพียงแจ้งให้ธนาคารผู้ส่งออกเรียกเก็บทราบ โดยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ

4. การชำระเงินโดยเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit หรือ L/C)

คือ ตราสารที่ออกโดยธนาคาร (Issuing Bank) ตามคำสั่งของผู้ซื้อ (Applicant) ส่งให้แก่ผู้ขาย (Beneficiary) เพื่อรับรองการชำระเงินตามจำนวน และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในตราสารนั้น เมื่อผู้ขายได้ยื่นเอกสารถูกต้องและครบถ้วนตรงตามเงื่อนไขและข้อบังคับทุกประการ โดยยึดระเบียบประเพณีปฏิบัติตามหลัก สากล UCP 600 (Uniform Customs and Practice for Documentary Credit) ซึ่งกำหนดโดยสภาหอการค้านานาชาติฉบับแก้ปรับปรุง ค.ศ 2007

วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมที่สุด เพราะทั้งผู้ขายและผู้ซื้อแทบไม่มีความเสี่ยง วิธีการก็คือผู้ซื้อจะเปิด L/C ผ่านธนาคารของผู้ซื้อ ไปยังธนาคารของผู้ขายมีการระบุเงื่อนไขต่างๆ ใน L/C จากนั้นผู้ขายจึงจะส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อ เมื่อผู้ขายส่งสินค้าตามเงื่อนไข ก็นำเอกสารการส่งสินค้าและเอกสารตามเงื่อนไข L/C ไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารของผู้ขายได้เลย ทางฝั่งผู้ซื้อก็ต้องชำระเงิน แล้วธนาคารของผู้ซื้อก็จะมอบเอกสารต่างๆ ให้ผู้ซื้อไปรับสินค้าออกมา จะเห็นว่าวิธีนี้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไม่มีใครได้เปรียบใคร เพราะมีธนาคารของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นคนกลาง จึงเป็นวิธีที่ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกใช้กันอย่างแพร่หลาย