ระบบราคาแกตต์ (GATT Valuation)


ในกรณีของนำเข้า หมายถึง ราคาของของเพื่อความมุ่งหมายในการจัดเก็บอากร ปัจจุบันประเทศไทยใช้ราคาศุลกากรที่เรียกว่า “ระบบราคาแกตต์ (GATT Valuation)” ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในการกำหนดราคาสินค้าขาเข้า ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยการนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 มาถือปฏิบัติ (Agreement on Implementation of Article VII of the General Agreement on tariffs and Trade 1994)

ปกติการกำหนดราคาศุลกากรจะอยู่บนพื้นฐานของราคาซื้อขายของที่นำเข้า ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ซื้อจ่ายหรือ พึงจ่ายจริงให้กับผู้ขายในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ราคาซื้อขายของที่นำเข้านั้น จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่น การซื้อขาย ผู้ซื้อกับผู้ขายต้องไม่มีความสัมพันธ์กัน หรือการซื้อขายนั้นต้องไม่มีเงื่อนไขอย่างอื่นอีก

วิธีการกำหนดราคาศุลกากร

การกำหนดราคาศุลกากรตามหลักการของแกตต์ กำหนดจาก 6 วิธี ดังนี้

  1. ราคาซื้อขายของที่นำเข้า (Transaction value) หมายถึง ราคาซื้อขาย ที่ผู้ซื้อสินค้าได้ชำระจริง หรือที่จะต้องชำระให้กับผู้ขายในต่างประเทศสำหรับของที่นำเข้า ซึ่งได้มีการปรับราคาหรือได้นำมูลค่าหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไปรวมด้วย เช่น ค่าวัสดุเสริม ค่านายหน้า หรือค่าสิทธิ เป็นต้น.
  2. ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน (Transaction value of Identical Goods) หมายถึง ราคาซื้อขายของที่มีลักษณะเหมือนกันทุกด้านกับของที่นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ คุณภาพ และชื่อเสียง และต้องผลิตขึ้นในประเทศเดียวกันกับของนำเข้าด้วย ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงค่าประกันภัย ค่าขนส่งของที่นำเข้ามายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น และค่าจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของมายังด่านศุลกากรที่นำของเข้าด้วย.
  3. ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน (Transaction value of Similar Goods) หมายถึง ราคาซื้อขายของที่ไม่เหมือนกันครบทุกด้านกับของที่นำเข้า แต่มีลักษณะหรือใช้วัสดุที่เป็นส่วนประกอบเหมือนกัน ผลิตในประเทศเดียวกัน และทำหน้าที่อย่างเดียวกันหรือทดแทนกันได้ในทางการค้า ทั้งนี้ โดยพิจารณาถึงคุณภาพ ชื่อเสียง และเครื่องหมายการค้าของของที่นำเข้ากับของนั้น.
  4. ราคาหักทอน (Deductive Value) หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นโดยใช้ราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่นำเข้า หรือราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่เหมือนหรือของที่คล้ายกันที่ได้ขายไปในประเทศไทย โดยหักทอนค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไป เช่น ค่านายหน้า หรือกำไรและค่าใช้จ่าย ค่าขนส่งและค่าประกันภัยที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ค่าภาษีอากรในประเทศไทย มูลค่าเพิ่มของสินค้าที่เกิดขึ้นจากการประกอบหรือผ่านกรรมวิธีเพิ่มเติม.
  5. ราคาคำนวณ (Computed Value) หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นจากต้นทุนการผลิตของสินค้าที่นำเข้า บวกกับกำไรและค่าใช้จ่ายทั่วไปที่รวมอยู่ตามปกติในการขายจากประเทศส่งออกมายังประเทศไทย รวมทั้งค่าภาชนะบรรจุ ค่าประกันภัย และค่าขนส่ง.
  6. ราคาย้อนกลับ (Fall Back Value) หมายถึง การกำหนดราคาโดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกำหนดราคาตามวิธีที่ 1-5 มาใช้โดยผ่อนปรนเพื่อการกำหนดราคาอย่างสมเหตุสมผล.

การกำหนดราคาศุลกากรจะกำหนดตามวิธีที่ 1 วิธีที่ 2 และวิธีที่ 3 ตามลำดับ หากไม่อาจกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีดังกล่าวได้ ให้กำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 4 หรือเมื่อยังไม่อาจกำหนดตามวิธีที่ 4 ได้อีก จะกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 5 และวิธีที่ 6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าสามารถขอให้กรมศุลกากรสลับลำดับการใช้วิธีที่ 5 และวิธีที่ 4 ได้หากหน่วยงานประเมินอากรเห็นชอบตามคำร้องของผู้นำเข้า


การกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 1 ราคาซื้อขายของที่นำเข้าจะต้องเป็นราคาที่ได้ชำระจริงหรือที่จะต้องชำระสำหรับของที่นำเข้าเมื่อได้มีการขายเพื่อส่งออกมายังราชอาณาจักร โดยต้องมีการปรับราคาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. ค่าใช้จ่ายหรือรายได้ที่ต้องนำมารวมไว้ในราคาซื้อขายของที่นำเข้า

    • ค่าสิทธิและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับของที่นำเข้า ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอันเป็นเงื่อนไขในการขายของนั้น
    • รายได้ซึ่งผู้ขายได้รับจากการที่ผู้ซื้อนำของที่นำเข้าไปใช้ หรือขายต่อไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
    • ค่าประกันภัย ค่าขนส่งของที่นำเข้ามายังท่าหรือที่ที่นำของเข้า ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้นและค่าจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของที่นำเข้ามายังท่าหรือที่ที่นำของเข้า
    • ค่าใช้จ่ายหรือมูลค่าที่ผู้ซื้อเป็นผู้รับภาระตามรายการ ดังต่อไปนี้
      • ค่าธรรมเนียมหรือค่าบำเหน็จตัวแทนและนายหน้า แต่ไม่รวมค่าธรรมเนียมหรือค่าบำเหน็จตัวแทนเนื่องจากการซื้อ
      • ค่าภาชนะบรรจุที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของของที่นำเข้าตามความมุ่งหมายในการจัดเก็บอากร
      • ค่าวัสดุและค่าแรงงานในการบรรจุหีบห่อของที่นำเข้า
    • มูลค่าของวัสดุ อุปกรณ์หรือบริการเพื่อใช้ในการผลิตและการขายเพื่อส่งออกของที่นำเข้า ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่ผู้ซื้อเป็นผู้จัดหา ดังต่อไปนี้
      • วัสดุ ส่วนประกอบ ชิ้นส่วนหรือสิ่งอื่นที่คล้ายคลึงกัน ที่รวมอยู่ในของที่นำเข้า
      • เครื่องมือ แม่พิมพ์ แบบพิมพ์ หรือสิ่งอื่นที่คล้ายคลึงกัน ที่ใช้ในการผลิตของที่นำเข้า
      • วัสดุที่ใช้สิ้นเปลืองไปในการผลิตของที่นำเข้า
      • การให้บริการด้านวิศวกรรม พัฒนาการ งานศิลป์ การออกแบบ แบบแปลน และภาพร่างที่กระทำขึ้นนอกราชอาณาจักรและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตของที่นำเข้า.
  2. ค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาหักออกจากราคาซื้อขายของที่นำเข้าในการกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 1

    • ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ติดตั้ง ประกอบ บำรุงรักษา หรือการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการที่กระทำขึ้นภายหลังจากการนำเข้าของนั้น
    • ค่าขนส่งภายหลังจากการนำเข้าสำเร็จแล้ว
    • ค่าอากรและภาษีเนื่องจากการนำเข้า
  3. ค่าใช้จ่าย รายได้ หรือมูลค่าของวัสดุ อุปกรณ์หรือบริการ ที่จะรวมเข้าไว้ในราคาซื้อขายของที่นำเข้า และค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักออกจากราคาซื้อขายของที่นำเข้า จะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริงและคำนวณเป็นมูลค่าได้เท่านั้น.

  4. ราคาซื้อขายของที่นำเข้าที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

    • ผู้ซื้อจะต้องไม่ถูกจำกัดในการจำหน่ายหรือการใช้ของนั้น เว้นแต่จะเป็นข้อจำกัดที่
      • กำหนด ขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายหรือโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ห้ามขายของแก่ผู้เยาว์ ให้ตรวจสอบหรือทดสอบก่อนใช้ของ หรือให้มีสลากหีบห่อตามที่กำหนดไว้ เป็นต้น
      • เป็นการห้ามของที่นำเข้านั้นไปขายต่อในสถานที่หรือพื้นที่บางแห่ง เช่น ผู้ขายกำหนดให้ผู้ซื้อขายของนั้นเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น
      • ไม่มีผลกระทบอย่างมากต่อราคาของของที่นำเข้า เช่น กรณีผู้ขายกำหนดห้ามผู้ซื้อแสดงหรือขายรถยนต์ก่อนวันเริ่มต้นรุ่นปีของรถยนต์นั้น
    • การขายหรือราคาขายต้องไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือสิ่งตอบแทนบางประการที่มิอาจกำหนดเป็นมูลค่าได้ เช่น ผู้ซื้อจะต้องซื้อของอย่างอื่นจากผู้ขายตามจำนวนที่ระบุไว้ด้วย ผู้ซื้อจะต้องขายของอย่างอื่นให้กับผู้ขายด้วย
    • ผู้ขายต้องไม่ได้รับรายได้จากการที่ผู้ซื้อนำของที่นำเข้าไปใช้หรือขายต่อในภายหลัง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่จะเป็นกรณีที่อาจนำมารวมไว้ในราคาได้ตามข้อ 1
    • ผู้ซื้อต้องไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ขาย เว้นแต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะไม่มีผลต่อราคาซื้อขายของที่นำเข้า
  5. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในกรณีดังต่อไปนี้เป็นความสัมพันธ์ที่อาจมีผลต่อการกำหนดราคาศุลกากร

    • บุคคลหนึ่งเป็นกรรมการหรือพนักงานซึ่งเป็นผู้บริหารในกิจการของอีกบุคคลหนึ่ง
    • บุคคลหนึ่งเป็นหุ้นส่วนเพื่อกระทำกิจการร่วมกับอีกบุคคลหนึ่ง
    • บุคคลหนึ่งเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างของอีกบุคคลหนึ่ง
    • บุคคลหนึ่งเป็นเจ้าของ ผู้ควบคุม หรือถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในกิจการของอีกบุคคลหนึ่งตั้งแต่ ร้อยละห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
    • บุคคลหนึ่งควบคุมอีกบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
    • บุคคลทั้งสองถูกควบคุมโดยบุคคลที่สามไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
    • บุคคลทั้งสองร่วมกันควบคุมบุคคลที่สามไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือ
    • บุคคลหนึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกันกับอีกบุคคลหนึ่ง
      บุคคลที่มีอำนาจควบคุมตาม (4) (5) (6) และ (7) หมายถึงบุคคลที่มีอำนาจที่จะยับยั้งหรือสั่งการต่ออีกบุคคลหนึ่งในทางนิตินัยหรือพฤตินัย.
  6. ของนำเข้าดังตัวอย่างต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการขาย และไม่สามารถกำหนดราคาศุลกากรโดยวิธีที่ 1

    • ของขวัญ ของตัวอย่าง ของส่งเสริมการขายที่ให้มาโดยไม่คิดราคา - ของฝากขาย - ของที่นำเข้ามาโดยสำนักงานสาขาที่เป็นนิติบุคคลเดียวกัน - ของที่นำเข้ามาภายใต้สัญญาให้เช่า ให้ยืม - ของนำเข้าเพื่อทำลาย โดยผู้นำของเข้าได้รับค่าบริการ - ของที่นำเข้ามาโดยคนกลางซึ่งไม่ใช่ผู้ซื้อ

  1. กรมศุลกากรจะกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 2 คือราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน หากไม่อาจกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 1 ได้ ทั้งนี้ ราคาซื้อขายของที่เหมือนกันที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรจะเป็นราคาซื้อขายของที่มีลักษณะเหมือนกันทุกด้านกับของที่นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ คุณภาพ และชื่อเสียง และต้องผลิตขึ้นในประเทศเดียวกันกับของที่นำเข้าด้วย โดยให้คำนึงถึงค่าประกันภัย ค่าขนส่งของที่นำเข้ามายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น และค่าจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของมายังด่านศุลกากรที่นำเข้าด้วย

  2. ราคาซื้อขายของที่เหมือนกันที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

    • เป็นราคาซื้อขายของที่เหมือนกันที่ได้ขายเพื่อส่งออกมายังราชอาณาจักรและได้ส่งออกในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับของที่นำเข้า
      คำว่า “ส่งออกในเวลา เดียวกันหรือในเวลาใกล้เคียงกัน” หมายถึง การส่งออกภายในระยะเวลา 30 วัน ก่อนหรือหลังการส่งออกของของที่นำเข้า และในการตรวจสอบวันส่งออก ให้ใช้วันที่ที่ออกใบตราส่งสินค้าเป็นเกณฑ์
    • เป็นราคาซื้อขายของที่นำเข้าที่เคยรับเป็นราคาศุลกากรมาแล้ว
    • เป็นราคาซื้อขายในระดับการค้าและปริมาณเดียวกันกับของที่นำเข้า
      • การขายในระดับการค้าเดียวกัน หมายถึง การค้าส่ง การค้าปลีก ฯลฯ หากของที่นำเข้าเป็นการขายส่ง ของที่เหมือนกันจะต้องเป็นการขายส่งเช่นเดียวกัน หากของที่นำเข้าเป็นการขายปลีก ของที่เหมือนกันก็จะต้องเป็นการขายปลีกเช่นเดียวกัน
      • การขายในระดับปริมาณเดียวกัน หมายถึง การขายในปริมาณที่ใกล้เคียงกันตามปกติวิสัยของการซื้อขายสินค้าในกลุ่มหรือชนิดเดียวกัน
    • ไม่เป็นราคาซื้อขายของที่รวมหรือประกอบด้วยมูลค่าการให้บริการด้านวิศวกรรม พัฒนาการ งานศิลป์ งานออกแบบ แบบแปลน และภาพร่าง ที่ได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักร
    • ในกรณีที่ไม่มีราคาซื้อขายของที่เหมือนกันตาม 2.3 ให้นำราคาซื้อขายของที่เหมือนกันที่ได้ขายในระดับการค้าเดียวกับของที่นำเข้าแต่ปริมาณต่างกัน หรือปริมาณเดียวกับของที่นำเข้าแต่ระดับการค้าต่างกัน หรือระดับการค้าและปริมาณแตกต่างกับของที่นำเข้า ซึ่งได้เคยรับเป็นราคาศุลกากรมาแล้ว มาปรับราคา โดยคำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องระดับการค้าหรือปริมาณ ค่าประกันภัย ค่าขนส่งของที่นำเข้ามายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า ค่าขนของลง ค่าขนขนขึ้น และค่าจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของมายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากหลักฐานที่ผู้นำของเข้านำมาแสดง เช่น
      • การขายในระดับการค้าเดียวกันแต่ในปริมาณต่างกัน ให้ปรับราคาเฉพาะด้านปริมาณ
      • การขายในระดับการค้าต่างกันแต่ในปริมาณเดียวกัน ให้ปรับราคาเฉพาะด้านระดับการค้า
      • การขายในระดับการค้าต่างกันและในปริมาณที่ต่างกัน ให้ปรับราคาทั้งด้านระดับการค้าและปริมาณ
      • ของที่นำเข้า ส่งออกจากประเทศสิงคโปร์ ของที่เหมือนกันส่งออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา จะต้องปรับราคาสำหรับความแตกต่างด้านระยะทาง
      • ของที่นำเข้า ส่งออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาด้านตะวันตก ของที่เหมือนกันส่งออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาด้านตะวันออก จะต้องปรับราคาสำหรับความแตกต่างด้านระยะทาง
      • ของที่นำเข้า ส่งออกจากประเทศญี่ปุ่นโดยทางอากาศยาน ของที่เหมือนกันส่งออกจากประเทศญี่ปุ่นโดยทางเรือ จะต้องปรับราคาสำหรับวิธีขนส่งที่แตกต่างกัน
  3. ถ้าราคาซื้อขายของที่เหมือนกันมีมากกว่าหนึ่งราคา ให้ใช้ราคาซื้อขายของที่เหมือนกันที่มีราคาต่ำสุด ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตรายเดียวกัน และเวลาที่ส่งออก ระดับการค้า ปริมาณ เงื่อนไขในการชำระเงินและการส่งมอบ วิธีการขนส่ง และการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายใกล้เคียงกับของที่นำเข้า ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

  1. หากไม่อาจกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 1 และวิธีที่ 2 ให้กำหนดราคาศุลกากรโดยวิธีที่ 3 คือ ราคาซื้อขายของที่คล้ายกันซึ่งราคาซื้อขายของที่คล้ายกันที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรจะต้องเป็นราคาซื้อขายของที่ไม่เหมือนกันครบทุกด้านกับของที่นำเข้า แต่มีลักษณะหรือใช้วัสดุที่เป็นส่วนประกอบเหมือนกัน ผลิตในประเทศเดียวกัน และทำหน้าที่อย่างเดียวกันหรือทดแทนกันได้ในทางการค้า ทั้งนี้ โดยพิจารณาถึงคุณภาพ ชื่อเสียง และเครื่องหมายการค้าของของที่นำเข้ากับของนั้นด้วย

  2. ราคาซื้อขายของที่คล้ายกันที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

    • เป็นราคาซื้อขายของที่คล้ายกันที่ได้ขายเพื่อส่งออกมายังราชอาณาจักรและได้ส่งออกในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับของที่นำเข้า คำว่า “ส่งออกในเวลา เดียวกันหรือในเวลาใกล้เคียงกัน” หมายถึง การส่งออกภายในระยะเวลา 30 วัน ก่อนหรือหลังการส่งออกของของที่นำเข้า และในการตรวจสอบวันส่งออก ให้ใช้วันที่ที่ออกใบตราส่งสินค้าเป็นเกณฑ์

    • เป็นราคาซื้อขายของที่นำเข้าที่เคยรับเป็นราคาศุลกากรมาแล้ว

    • เป็นราคาซื้อขายในระดับการค้าและปริมาณเดียวกันกับของที่นำเข้า

      • การขายในระดับการค้าเดียวกัน หมายถึง การค้าส่ง การค้าปลีก ฯลฯ หากของที่นำเข้าเป็นการขายส่ง ของที่คล้ายกันจะต้องเป็นการขายส่งเช่นเดียวกัน หากของที่นำเข้าเป็นการขายปลีก ของที่คล้ายกันก็จะต้องเป็นการขายปลีกเช่นเดียวกัน
      • การขายในระดับปริมาณเดียวกัน หมายถึง การขายในปริมาณที่ใกล้เคียงกันตามปกติวิสัยของการซื้อขายสินค้าในกลุ่มหรือชนิดเดียวกัน
    • ไม่เป็นราคาซื้อขายของที่รวมหรือประกอบด้วยมูลค่าการให้บริการด้านวิศวกรรม พัฒนาการ งานศิลป์ งานออกแบบ แบบแปลน และภาพร่าง ที่ได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักร

    • ในกรณีที่ไม่มีราคาซื้อขายของที่คล้ายกันตาม 2.3 ให้นำราคาซื้อขายของที่คล้ายกันที่ได้ขายในระดับการค้า เดียวกับของที่นำเข้าแต่ปริมาณต่างกัน หรือปริมาณเดียวกับของที่นำเข้าแต่ระดับการค้าต่างกัน หรือระดับการค้าและปริมาณแตกต่างกับของที่นำเข้า ซึ่งได้เคยรับเป็นราคาศุลกากรมาแล้ว มาปรับราคา โดยคำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องระดับการค้าหรือปริมาณ ค่าประกันภัย ค่าขนส่งของที่นำเข้ามายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า ค่าขนของลง ค่าขนขนขึ้น และค่าจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของมายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากหลักฐานที่ผู้นำของเข้านำมาแสดง เช่น

      • การขายในระดับการค้าเดียวกันแต่ในปริมาณต่างกัน ให้ปรับราคาเฉพาะด้านปริมาณ
      • การขายในระดับการค้าต่างกันแต่ในปริมาณเดียวกัน ให้ปรับราคาเฉพาะด้านระดับการค้า
      • การขายในระดับการค้าต่างกันและในปริมาณที่ต่างกัน ให้ปรับราคาทั้งด้านระดับการค้าและปริมาณ
      • ของที่นำเข้า ส่งออกจากประเทศสิงคโปร์ ของที่คล้ายกันส่งออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา จะต้องปรับราคาสำหรับความแตกต่างด้านระยะทาง
      • ของที่นำเข้า ส่งออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาด้านตะวันตก ของที่คล้ายกันส่งออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาด้านตะวันออก จะต้องปรับราคาสำหรับความแตกต่างด้านระยะทาง
      • ของที่นำเข้า ส่งออกจากประเทศญี่ปุ่นโดยทางอากาศยาน ของที่คล้ายกันส่งออกจากประเทศญี่ปุ่นโดยทางเรือ จะต้องปรับราคาสำหรับวิธีขนส่งที่แตกต่างกัน.
  3. ถ้าราคาซื้อขายของที่คล้ายกันมีมากกว่าหนึ่งราคา ให้ใช้ราคาซื้อขายของที่คล้ายกันที่มีราคาต่ำสุด ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตรายเดียวกัน และเวลาที่ส่งออก ระดับการค้า ปริมาณ เงื่อนไขในการชำระเงินและการส่งมอบ วิธีการขนส่ง และการดำเนินการอื่นใด ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายใกล้เคียงกับของที่นำเข้า ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

  1. หากไม่อาจกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 1 ราคาซื้อขายของที่นำเข้า วิธีที่ 2 ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน และวิธีที่ 3 ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน กรมศุลกากรจะกำหนดราคาศุลกากรโดยวิธีที่ 4 ราคาหักทอน เว้นแต่ผู้นำเข้าร้องขอต่อพนักงานศุลกากรให้กำหนดราคาศุลกากรโดยใช้ราคาคำนวณก่อนราคาหักทอนและพนักงานศุลกากรเห็นชอบกับคำร้องดังกล่าวแล้ว.

  2. ราคาหักทอนที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากร สำหรับของที่นำเข้าจะต้องเป็นราคาซื้อขายต่อหน่วยของ ของที่นำเข้าที่ได้ขายไปในราชอาณาจักรในภาพเดียวกับที่นำเข้า โดยหักค่าใช้จ่าย ดังต่อไปนี้ออก

    • ค่าธรรมเนียมหรือค่าบำเหน็จตัวแทนที่ได้จ่ายหรือตกลงว่าจะจ่าย หรือกำไรและค่าใช้จ่ายทั่วไปตามปกติที่เกี่ยวเนื่องกับการขายของนั้นในราชอาณาจักร อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเทียบเคียงกับของประเภทหรือชนิดเดียวกัน
    • ค่าประกัน ภัยค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งของนั้นที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร
    • ค่าอากรและภาษีอื่นๆ ที่ต้องชำระในราชอาณาจักร เนื่องจากการนำเข้าหรือการขายของนั้น
  3. ในกรณีที่ไม่มีราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่นำเข้าตามข้อ 2 ให้ใช้ราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่เหมือนกันหรือของที่คล้ายกัน ตามลำดับ ที่ได้ขายไปในราชอาณาจักรในสภาพเดียวกับที่นำเข้าโดยหักค่าใช้จ่ายตามข้อ 2.1 - 2.3 ออกจากราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่เหมือนกันหรือของที่คล้ายกัน แล้วแต่กรณี

  4. ราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่นำเข้าตามข้อ 2 หรือของที่เหมือนกันหรือของที่คล้ายกันตามข้อ 3 จะต้องเป็นราคาที่ได้ขายไปในปริมาณรวมที่มากที่สุดในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับการนำเข้าของที่นำเข้า ในกรณีที่ไม่มีราคาที่ได้ขายในเวลาดังกล่าว ให้ใช้ราคาที่ได้ขายไปในปริมาณรวมที่มากที่สุดในวันแรกที่ได้มีการขายของที่นำเข้า ของที่เหมือนกัน หรือของที่คล้ายกันดังกล่าว ซึ่งต้องไม่เกิน 90 วันหลังจากการนำเข้าของนั้น

  5. การใช้ราคาหักทอนตามข้อ 2 - 4 ผู้ซื้อต้องไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ขาย และไม่เป็นผู้จัดหาวัสดุ อุปกรณ์หรือบริการซึ่งนำไปใช้ในการผลิตให้แก่ผู้ขายเพื่อส่งออกมายังราชอาณาจักร

  6. ในกรณีที่ไม่มีการขายของที่นำเข้า ของที่เหมือนกัน หรือของที่คล้ายกันตามข้อ 2 - 4 หากผู้นำของเข้าร้องขอหรือพนักงานศุลกากรเห็นสมควร ให้ใช้ราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่นำเข้าที่ได้นำไปผ่านกรรมวิธีเพิ่มเติม โดยให้หักทอนมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการนำไปผ่านกรรมวิธีเพิ่มเติมดังกล่าวและค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามข้อ 2.1 - 2.3 ออกจากราคาซื้อขายของของนั้น ทั้งนี้ราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่นำเข้าตามข้อนี้จะต้องเป็นราคาที่ได้จากการขายของนั้นไปในปริมาณรวมมากที่สุด โดยผู้ซื้อต้องไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ขาย

  1. หากไม่อาจกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 1 ราคาซื้อขายของที่นำเข้า วิธีที่ 2 ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน วิธีที่ 3 ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน และวิธีที่ 4 ราคาหักทอน ให้กำหนดราคาศุลกากรโดยวิธีที่ 5 ราคาคำนวณ เว้นแต่ผู้นำเข้าร้องขอต่อพนักงานศุลกากรให้กำหนดราคาศุลกากรโดยใช้ราคาคำนวณก่อนราคาหักทอนและพนักงานศุลกากรเห็นชอบกับคำร้องดังกล่าวแล้ว.

  2. ราคาคำนวณที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรจะต้องประกอบด้วยผลรวมของรายการ ดังต่อไปนี้

    • ต้นทุนหรือมูลค่าของวัสดุและการจัดทำหรือกรรมวิธีใดๆ ที่ใช้ในการผลิตของที่นำเข้า ซึ่งหมายความรวมถึง ต้นทุนวัตถุดิบ วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป ส่วนประกอบ หรือชิ้นส่วน รวมทั้งต้นทุนในการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผู้ผลิตมายังโรงงานอุตสาหกรรม แต่ไม่รวมถึงเศษหรือของเสียที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก (RECOVERABLE SCRAP OR WASTE) และไม่รวมค่าภาษีอากรภายในประเทศผู้ผลิตสำหรับวัตถุดิบที่มีการคืนค่าภาษี อากรเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ ต้นทุนในการจัดทำให้รวมถึง ต้นทุนทางตรง ได้แก่ ค่าแรงงาน ต้นทุนในการประกอบ เครื่องจักรในการผลิต และต้นทุนทางอ้อม ได้แก่ ที่ปรึกษาโรงงาน การบำรุงรักษา ค่าล่วงเวลา ฯลฯ
    • กำไรและค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เกิดขึ้นจากการขายของประเภทหรือชนิดเดียวกันกับของที่นำเข้า โดยผู้ผลิตรายอื่นๆ เพื่อส่งออกมายังราชอาณาจักร
    • ค่าภาชนะบรรจุที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของของที่นำเข้า
    • ค่าวัสดุและค่าแรงงานในการบรรจุหีบห่อของที่นำเข้า
    • มูลค่าของวัสดุและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการผลิตและการขายเพื่อส่งออกของที่นำเข้า ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่ผู้ซื้อเป็นผู้จัดหา
    • ค่าประกันภัย ค่าขนส่งของที่นำเข้ามายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น และค่าจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของที่นำเข้ามายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า
    • มูลค่าของการให้บริการด้านวิศวกรรม พัฒนาการ งานศิลป์ การออกแบบ แบบแปลนและภาพร่างที่กระทำขึ้นในราชอาณาจักรและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตของที่นำเข้าโดยคิดมูลค่าของการให้บริการดังกล่าวจากผู้ผลิต (ถ้ามี)
  3. การกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีราคาคำนวณนี้ให้กระทำบนพื้นฐานของข้อมูล เอกสารหลักฐาน หรือบัญชีที่ได้รับจากผู้ผลิตจากต่างประเทศ หรือผู้นำของเข้าในนามของผู้ผลิตดังกล่าว

  4. ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ผลิตต่างประเทศไม่สามารถจัดส่งข้อมูล เอกสารหลักฐาน หรือบัญชีดังกล่าวได้ภายในเวลาอันสมควร ให้ถือว่าไม่อาจกำหนดราคาศุลกากรตามหมวดนี้ได้

  1. หากไม่อาจกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 1 วิธีที่ 2 วิธีที่ 3 วิธีที่ 4 และวิธีที่ 5 ได้ให้กำหนดราคาศุลกากรโดยวิธีที่ 6 ราคาย้อนกลับ โดยมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคา ดังนี้.

  2. กำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 6 ราคาย้อนกลับ มีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติ ดังนี้

    • กรมศุลกากรจะพิจารณาราคาจากราคาศุลกากรที่เคยรับไว้แล้วก่อนหน้านี้
    • กำหนดราคาของนำเข้าโดยใช้วิธีที่ 1 ถึงวิธีที่ 5 อย่างผ่อนปรนและสมเหตุสมผล
    • กรณีที่ไม่สามารถกำหนดราคาศุลกากรตามข้อ 2.2 อาจกำหนดโดยวิธีอื่นที่สมเหตุสมผล โดยที่วิธีการดังกล่าวจะต้องไม่เป็นข้อห้ามของวิธีย้อนกลับและจะต้องสอดคล้องกับหลักการที่บัญญัติไว้ในความตกลงว่าด้วยการนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 มาถือปฏิบัติ และมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994
    • การกำหนดราคาศุลกากรโดยวิธีย้อนกลับยังสามารถผ่อนปรนหลักเกณฑ์ได้อีก ดังเช่น
      • ขยายเวลาตามที่กำหนดในแต่ละวิธีออกไปครั้งละ 30 วัน แต่รวมแล้วไม่เกิน 1 ปี
      • ของที่เหมือนกัน ของที่คล้ายกัน ที่ผลิตจากประเทศอื่น
      • ราคาขายปลีกนำมาใช้เป็นฐานในวิธีหักทอน โดยการหักค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม
      • นำข้อมูลต้นทุน มูลค่าวัสดุ และการจัดทำที่หาได้จากประเทศอื่นที่มิใช่ประเทศส่งออก นำมาใช้เป็นฐานในวิธีคำนวณ
      • โครงสร้างของราคาซึ่งประกอบด้วย วัตถุดิบ หรือส่วนประกอบรวมกำไรและค่าใช้จ่าย
      • มูลค่าที่เท่าเทียมกับมูลค่าอันแท้จริงของของที่นำเข้าที่มีอยู่ หรือสามารถสืบค้นได้
      • ราคาที่กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ หรือคณะกรรมการ
  3. การกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีราคาย้อนกลับ กรมศุลกากรจะไม่กำหนดโดยใช้รายการ ดังต่อไปนี้

    • ราคาขายของของที่ผลิตและขายในราชอาณาจักร - ระบบราคาที่กำหนดให้รับราคาสูงกว่าจากสองราคาที่ให้เลือก - ราคาของของที่ขายในตลาดภายในประเทศที่ส่งออกของที่จะกำหนดราคาศุลกากร - ต้นทุนในการผลิตนอกเหนือจากรายการที่ใช้ในการคำนวณราคาคำนวณ ตามวิธีที่ 5 สำหรับของที่เหมือนกันหรือของที่คล้ายกัน - ราคาขายของของที่นำเข้าที่ได้ขายเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นที่มิใช่ราชอาณาจักร - ราคาศุลกากรขั้นต่ำ หรือ - ราคาที่กำหนดขึ้นเองหรือที่ไม่เป็นจริง

ข้อควรทราบในการสำแดงราคาศุลกากร

ผู้นำเข้าควรตรวจสอบว่า ราคาสินค้านำเข้าที่ท่านสำแดงต่อศุลกากรเป็นไปที่กำหนดไว้ในระบบราคาแกตต์หรือไม่ โดยตอบคำถามแนวทางการประเมินราคาแกตต์สำหรับผู้นำเข้า (การตรวจสอบว่าราคาสินค้าว่าเป็นไปตามราคาแกตต์หรือไม่) ดังต่อไปนี้

  1. ท่านทราบหรือท่านมีวิธีการที่น่าเชื่อถือเพียงใดในการสำแดง “ราคาที่ชำระจริงหรือที่พึงต้องชำระ” ของสินค้า หรือท่านทราบเงื่อนไขการขายสินค้าหรือไม่ เช่น ในการขายนั้นๆ มีส่วนลดการขาย พันธะการขาย ค่าใช้จ่ายทางอ้อม หรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่นๆ หรือไม่ ในการขายนั้น ๆ มีการชำระค่าวัสดุเสริม ค่านายหน้าหรือค่าสิทธิหรือไม่ หรือราคาสินค้าเป็นราคาที่ถูกต้องเป็นจริงหรือเป็นราคาโดยประมาณ หรือท่านและผู้จัดหาสินค้ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่.
  2. ท่านได้เตรียมหรือมีวิธีการที่น่าเชื่อถือเพียงใดในการสำแดงราคาสินค้าต่อศุลกากรตามกฎกระทรวง เรื่อง การกำหนดและการใช้ราคาศุลกากร พ.ศ. 2560 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (6) และมาตรา 16 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560.
  3. ท่านได้รับ “คำวินิจฉัย” ศุลกากรเกี่ยวกับการประเมินราคาสินค้าหรือไม่ หากได้รับ ท่านมีวิธีการที่น่าเชื่อถือเพียงใด ที่ทำให้แน่ใจว่าท่านได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้นและแจ้งให้ศุลกากรทราบ.
  4. ท่านได้ศึกษากฎหมายและระเบียบการประเมินราคาศุลกากร สารานุกรมการประเมินราคาศุลกากร (Customs Valuation Encyclopedia) สิ่งพิมพ์ศุลกากรที่แจ้งข้อควรปฏิบัติในการประเมินราคา คดีในศาล และคำวินิจฉัยศุลกากรต่าง ๆ เพื่อช่วยท่านในการประเมินราคาสินค้าหรือไม่
  5. ท่านได้หารือกับ “ผู้เชี่ยวชาญ” ศุลกากร (เช่น ทนายความ เจ้าหน้าที่บัญชี ผู้ชำนาญการศุลกากร ที่ปรึกษาศุลกากร) เพื่อช่วยท่านในการประเมินราคาสินค้าหรือไม่
  6. หากท่านซื้อสินค้าจากผู้ขายที่มีความสัมพันธ์กัน ท่านมีวิธีการที่จะทำให้มั่นใจได้หรือไม่ว่า ท่านได้รายงานข้อเท็จจริงนี้ในการนำเข้า พร้อมทั้งหามาตรการหรือวิธีการที่น่าเชื่อถือที่จะทำให้มั่นใจว่าราคาที่ได้ สำแดงต่อศุลกากรเป็นไปตามข้อทดสอบ “ผู้มีความสัมพันธ์กัน”
  7. ท่านมีมาตรการหรือวิธีการที่น่าเชื่อถือเพียงใดที่จะทำให้มั่นใจว่า ท่านได้รายงานต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินค้านำเข้าตามกฎหมาย ทั้งหมดต่อศุลกากร (เช่น ค่าวัสดุเสริม ค่านายหน้าทั้งหมด ค่าใช้จ่ายทางอ้อมหรือส่วนลด ค่าสิทธิ ฯลฯ)
  8. หากท่านสำแดงราคาที่ซื้อขายจริง (Transaction Value) ซึ่งท่านไม่ใช่ผู้ซื้อ ท่านได้แสดงหลักฐานว่าการซื้อขายนั้น เป็นการซื้อขายโดยสุจริตและสินค้านั้นมีปลายทางการขายอยู่ที่ประเทศไทยหรือไม่
  9. ท่านมีแผนการหรือวิธีการที่น่าเชื่อถือในการแสดงเอกสารการนำเข้าและข้อมูลสนับสนุนอื่น ๆ ที่ศุลกากรต้องการหรือไม่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

กรณีผู้นำเข้ามีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการกำหนดราคาศุลกากรตามระบบราคาแกตต์ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสำนักงานศุลกากรหรือด่านศุลกากรที่นำเข้าทุกแห่ง หรือกองมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (กมพ.) โทร.: 0-2667-7000 ต่อ 20-4630, 20-4631

ที่มา : กรมศุลกากร

  • วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 13 มีนาคม 2561
  • สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : กองมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (กมพ.)
  • หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2667-7000 ต่อ 20-4630, 20-4631 และ 20-6488
  • อีเมล์ : 81000100@customs.go.th