การรวม ศบ. คืออะไร

ศบ. ย่อมาจาก ศุลกากรทางบก เป็นแบบรายงานยานพาหนะและสินค้าที่บรรทุกมาในยานพาหนะนั้นๆ เทียบได้กับ บัญชีสินค้าสำหรับเรือ (Manifest) ปัจจุบันสามารถส่งได้ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ หรือ มายื่นเป็นกระดาษกับเจ้าหน้าที่ที่ด่านพรมแดน เมื่อผ่านด่านพรมแดนจะได้เลขที่บัญชีสินค้าทางบก เป็นเลข 17 หลัก ต้องเอาไปใส่ในช่องเลขที่ใบตราส่งในใบขนสินค้าขาเข้า เช่น รถยนต์หมายเลข 11111 ขนส่งของมาทั้งหมด 2 ราย

  1. นาย ก ผ้า 5 กล่อง น้ำหนัก 100 กก.
  2. นาย ข. เสื้อ 20 กล่อง น้ำหนัก 2000 กก.

ยื่น ศบ.1 ที่ด่านพรมแดน ได้เลขที่ 5141 02 11 100000215

รหัสด่าน ปี เดือน เลขลำดับของแต่ละเดือน
5141 02 11 100000215

ในการทำใบขนฯจะแยกยื่นเป็นของแต่ละคน ของนาย ก. จะนำเลข 17 หลักไปใส่ในช่อง Master Bill of Lading นำรายการที่ 1 ไปใสในช่อง House Bill of Lading ปกติ ถ้าใน ศบ. มีรายการเดียว จะทำใบขนฯ 1 ฉบับ ตามจำนวนของที่บรรทุกมา แต่เนื่องจากมีของบางอย่างนำเข้าหลายเที่ยวในวันเดียวกัน และประสงค์จะขอทำใบขนฯรวมฉบับเดียว หรือ เป็นของที่นำเข้าหลายวันเนื่องจากไม่สามารถมาในวันเดียวกันได้ เช่น สินค้าเกษตร กรมศุลกากรอนุญาตให้ทำใบขนสินค้าใบเดียวได้ต่อเมื่อเป็นของไม่มีอากร และ VAT โดย ดำเนินการ ดังนี้

  1. กรณีรถทุกคันมาถึงด่านศุลกากรทั้งหมด รถแต่ละคันที่มาถึงด่านพรมแดน ต้องยื่น ศบ. ของแต่ละคัน แล้วรวมจำนวนของโดยทำใบขนฯใช้เลข ศบ.1 เที่ยวแรก วันนำเข้าตามรถเที่ยวแรก และศุลกากรจะเป็นผู้ดำเนินการรวม ศบ. ของทุกคันในใบขนฯ โดยนำเลขที่ ศบ. และ เลขทะเบียนรถทุกคันมาบันทึกในใบขนฯ เรียกว่า รวม ศบ. จากนั้น หากเป็นของที่ต้องมีใบอนุญาต ต้องไปติดต่อหน่วยงานที่กำกับเรื่องใบอนุญาตเพื่อส่งข้อมูลเข้ามาในระบบใบอนุญาต แล้วจึงจะไปชำระค่าภาษีอากร และตรวจปล่อยของไปจากศุลกากร
  2. กรณีรถมาหลายวัน และ จะขอทำใบขนฯใบเดียวและขอตรวจปล่อยตามรถแต่ละคัน เรียกว่า ตรวจปล่อยบางส่วน (Partly) ซึ่งเป็นอำนาจของ นายด่านฯที่จะอนุมัติให้ตรวจปล่อยเป็นบางส่วนไปก่อนก็ได้ โดยไม่ต้องรอรถทั้งหมดที่ทยอยมา ปัจจุบันใช้กับของที่ได้รับสิทธิไม่ต้องชำระอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สินค้าเกษตร

เมื่อรถคันแรกมาถึง จะใช้เลข ศบ. ของรถคันแรกทำใบขนฯตามจำนวนทั้งหมดที่จะนำเข้าและใช้วันนำเข้าตามรถเที่ยวแรก และ ผู้นำเข้ายื่นคำขอตรวจปล่อยบางส่วน เมื่อได้รับอนุมัติจะมีการตรวจปล่อยสินค้าแต่ละเที่ยว จนกว่ารถทั้งหมดจะมาครบ ในขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการเหมือนรถมาพร้อมกันในวันเดียวกัน ใบขนสินค้าจะสมบูรณ์ในวันสุดท้าย แต่เนื่องจากเป็นของที่ไม่มีค่าภาษีอากรจึงไม่มีข้อกังวลใดๆ

ที่มา : กรมศุลกากร
วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 8 สิงหาคม 2562