สืบเนื่องจากเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 (เหตุการณ์ 9 /11) ทำให้องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization:WCO) ตระหนักถึงระบบความปลอดภัยทางโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญในกระบวนการรักษาความปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางของการขนส่ง จึงได้กำหนดกรอบมาตรฐานในการรักษาความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ เรียกว่า SAFE Framework of Standards to Secure and Facilitate Global Trade (WCO SAFE FoS)
ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญของ WCO SAFE FoS คือ โครงการ Authorized Economic Operator: AEO ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก WCO ต่างแสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยประเทศไทยในฐานะสมาชิก WCO ได้รับนโยบายนี้มาตั้งแต่ปี 2549 และกรมศุลกากรได้ลงนามใน Letter of Intent เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการนำ WCO SAFE FoS มาใช้กระตุ้นให้ศุลกากรและภาคเอกชนตระหนักถึงความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และยังคงมีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง
AEO คืออะไร ?
องค์การศุลกากรโลกได้ให้คำนิยามไว้ว่า “AEO is a party involved in the international movement of goods in whatever function that has been approved by or on behalf of a national Customs Administrations as complying with WCO or equivalent supply chain security standards”
“องค์กรหรือบริษัทที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้า โดยได้รับการรับรองจากศุลกากรของแต่ละประเทศว่าได้ปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานของ WCO หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่าในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทาน”
ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึง ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ตัวแทนออกของ ผู้ขนส่ง ผู้รวบรวมสินค้า ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ผู้ประกอบการกิจการท่ารถ เจ้าของโรงพักสินค้า ตัวแทนจำหน่ายสินค้า เป็นต้น
ผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ คือ ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กรมศุลกากรกำหนด ซึ่งผ่านการตรวจสอบและตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการ และได้รับการรับรองจากกรมศุลกากรว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทานการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องจัดทำมาตรฐานรักษาความปลอดภัย 8 ด้าน ดังต่อไปนี้
- ความปลอดภัยในการเข้า-ออกอาคารสถานที่
- ความปลอดภัยในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงาน
- ความปลอดภัยในส่วนของพันธมิตรทางธุรกิจ
- ความปลอดภัยในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้า
- ความปลอดภัยสำหรับยานพาหนะขนส่งสินค้า
- ความปลอดภัยทางด้านข้อมูล และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงาน
- ระบบการตรวจสอบและสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- ระบบการจัดการเมื่อเกิดวิกฤตการณ์และแนวทางดำเนินการแก้ไข
สำหรับสิทธิพิเศษที่ผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอจะได้รับ อาทิ
- พิธีการศุลกากรนำของเข้าในการยกเว้นการตรวจ เว้นแต่กรณีที่มีระเบียบพิธีการเฉพาะเรื่องกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือมีเหตุอันควรสงสัย
- พิธีการศุลกากรส่งของออกในการยกเว้นการชักตัวอย่างสินค้าที่ส่งออก เว้นแต่กฎหมายหรือระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องกำหนดให้ชักตัวอย่าง
- พิธีการศุลกากรสินค้าถ่ายลำ/ผ่านแดน โดยการใช้หลักประกัน ในการเป็นผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ แทนการวางเงินหรือหลักประกันของผู้ถ่ายลำตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่กรมศุลกากรกำหนด
การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับโครงการผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการระดับ มาตรฐานเออีโอจำนวน 392 ราย แบ่งเป็น ผู้นำของเข้าผู้ส่งของออกระดับมาตรฐานเออีโอ จำนวน 199 ราย และตัวแทนออกของระดับมาตรฐานเออีโอจำนวน 193 ราย (ข้อมูลณวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567)
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
- เอกสารประกอบการบรรยาย โครงการอบรมชี้แจงการปฏิบัติพิธีการศุลกากรนำของเข้า ส่งของออก สำหรับโครงการผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ Downloads
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ส่วนมาตรฐานเออีโอ กองมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร อาคาร 120 ปี ชั้น 1
- หมายเลขโทรศัพท์ : 02-667-7168 02-667-7902
- อีเมล์ : aeodiv2014@gmail.com