พิธีการสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน

ประกาศกรมศุลกากร ที่ 177/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์และพิธีการสำหรับการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับ รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน


โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และพิธีการสำหรับการลดอัตราอากรและยกเว้น อากรศุลกากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 51 และมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566 อธิบดีกรมศุลกากรออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ความหมายในประกาศนี้

“รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป” หมายความว่า รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ซึ่งประกอบสำเร็จรูปและ นำเข้ามาทั้งคัน (Completely Built Up : CBU)

“หลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า” หมายความว่า หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือคำรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ตามประกาศกรมศุลกากร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และพิธีการการยกเว้นอากร และลดอัตราอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 2 การลดอัตราอากร หรือยกเว้นอากร

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566 กำหนดให้ลดอัตราอากร หรือยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินสองล้านบาท ที่นำเข้า ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 ดังต่อไปนี้

  1. ผู้นำของเข้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีแล้ว ยังมีอัตราอากรที่ต้องชำระ ไม่เกินร้อยละสี่สิบ ให้ได้รับการยกเว้นอากร
  2. ผู้นำของเข้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีแล้ว ยังมีอัตราอากรที่ต้องชำระ มากกว่าร้อยละสี่สิบ ให้ได้รับการลดอัตราอากรลงอีกร้อยละสี่สิบ
  3. ผู้นำของเข้าที่ไม่ได้ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ให้ได้รับการลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละสี่สิบ

ข้อ 3 การแสดงหลักฐาน

ให้ผู้นำของเข้าแสดงหลักฐาน ดังต่อไปนี้

  1. หนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิจากกรมสรรพสามิต ประเภท ยฟ. 00 - 02/1 ระยะที่ 2
  2. หลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับผู้นำของเข้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี

ข้อ 4 การจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า

ให้ผู้นำของเข้าจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป 1 คัน ต่อ 1 รายการ ในส่วนรายละเอียดของใบขนสินค้าขาเข้า (Import Declaration)

ข้อ 5 การบันทึกข้อมูลรายละเอียดของสินค้า

ให้ผู้นำของเข้าบันทึกข้อมูลรายละเอียดของสินค้าขาเข้าแต่ละรายการ (Import Declaration Detail) ดังต่อไปนี้ โดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ และตัวเลขอารบิก

  1. ในช่อง Brand Name (เครื่องหมายการค้า) ให้ระบุยี่ห้อและรุ่นของรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป โดยให้เว้นวรรคระหว่างยี่ห้อและรุ่น เช่น TESLA MODELS เป็นต้น
  2. ในช่อง Product Year (ปีของสินค้า) ให้ระบุปี ค.ศ. ที่ผลิต เช่น 2015 เป็นต้น
  3. ในช่อง Product Code (รหัสสินค้า) ให้ระบุ N/A : ขนาดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้า (Horses Power : HP) : กำลังไฟฟ้า เช่น N/A:470HP:120KW
  4. ในช่อง Customs Product Code (รหัสสินค้า) ให้ระบุประเภทพลังงานที่ใช้กับยานยนต์ เป็น ELECTRIC
  5. ในช่อง Product Attribute 1 (ลักษณะของสินค้า 1) ให้ระบุหมายเลขตัวถัง (Chassis No.) โดยไม่ใส่คำว่า Chassis No. ไม่เว้นวรรคและไม่ใช้เครื่องหมายหรือตัวอักษรพิเศษ เช่น 5YJSB6H12EFP58823 เป็นต้น
  6. ในช่อง Product Attribute 2 (ลักษณะของสินค้า 2) ให้ระบุหมายเลขมอเตอร์ไฟฟ้า (Motor No.) โดยไม่ใส่คำว่า Motor No. ไม่เว้นวรรคและไม่ใช้เครื่องหมายหรือตัวอักษรพิเศษ เช่น T1410066110 เป็นต้น
  7. ในช่อง Thai Description of Goods (ชนิดของภาษาไทย) และ English Description of Goods (ชนิดของภาษาอังกฤษ) ให้ระบุว่าเป็น รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป ตามด้วย ยี่ห้อ รุ่น ปี ค.ศ. ที่ผลิต ขนาดแบตเตอรี่ (KWH) และข้อมูลตาม (3) ถึง (6) ตามลำดับ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป TESLA MODEL S 2015 45KWH N/A:470HP:120KW ELECTRIC 5YJSB6H12EFP58823 T14J0066110 เป็นต้น

ข้อ 6 การบันทึกข้อมูลในช่องสิทธิพิเศษ

ให้ผู้นำของเข้าบันทึกข้อมูลในช่องสิทธิพิเศษของแต่ละรายการดังต่อไปนี้

  1. การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีแล้วยัง มีอัตราอากรที่ต้องชำระ ไม่เกินร้อยละสี่สิบให้ระบุรหัสสิทธิพิเศษ “E01”
  2. การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีแล้วยัง มีอัตราอากรที่ต้องชำระ มากกว่าร้อยละสี่สิบ ให้ระบุรหัสสิทธิพิเศษ “E02”
  3. การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่ไม่ได้ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ให้ระบุรหัสสิทธิพิเศษ “E03”

ข้อ 7 การบันทึกข้อมูลในส่วนใบอนุญาต

ให้ผู้นำของเข้าบันทึกข้อมูลใบขนสินค้าในส่วนใบอนุญาต (Import Declaration Detail (Permit)) ดังต่อไปนี้

  1. ระบุเลขที่หนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิจากกรมสรรพสามิต ประเภท ยฟ. 01 - 12/1 ระยะที่ 2 ในช่องเลขที่ใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Permit No.)
  2. ระบุวันที่ออกหนังสือรับรองตามข้อ 7 (1) ในช่องวันที่ออกใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Issue Date)
  3. ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกรมสรรพสามิต (1994000160461) ในช่องเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Permit Issue Authority)

ข้อ 8 การใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี

กรณีผู้นำของเข้าใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ให้ผู้นำของเข้าระบุข้อมูล ดังต่อไปนี้

  1. ระบุข้อมูลของหลักฐาน การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ในแต่ละรายการของข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าในส่วนใบอนุญาต (Import Declaration Permit)
  2. ระบุ เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่แสดงในหลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ในช่องเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า (Origin Criteria)
  3. กรณีผู้นำของเข้าใช้คำรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้ระบุ หมายเลขทะเบียนของผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรอง (Certified Exporter) ในช่องหมายเลขทะเบียน Certified Exporter ของผู้ส่งออกจากต่างประเทศ (Certified Exporter Number)
  4. ระบุ รหัสสิทธิพิเศษสำหรับการลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีที่ได้รับสิทธิ ตามประกาศกรมศุลกากร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และพิธีการการยกเว้นอากร และลดอัตราอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องไว้ในช่อง Remark ของสินค้าแต่ละรายการ

ข้อ 9 กรณีไม่สามารถแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ณ ขณะนำของเข้า

กรณีผู้นำของเข้าไม่สามารถแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าต่อสำนักงานศุลกากร หรือด่านศุลกากรที่นำของเข้า หรือไม่สามารถระบุ เลขที่หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ในใบขนสินค้าขาเข้า แต่ประสงค์จะขอใช้สิทธิลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ให้ผู้นำของเข้า แจ้งความประสงค์และชำระค่าอากรในอัตราปกติก่อนนำของออกจากอารักขาของศุลกากร และให้จัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด และระบุข้อมูล ดังต่อไปนี้

  1. ช่อง Argumentative Reason Code ให้ระบุรหัสเหตุผล “P14”
  2. ช่อง Argumentative Privilege ให้ระบุรหัสสิทธิพิเศษที่ได้รับสิทธิตาม ข้อ 5
  3. ระบุ รหัสสิทธิพิเศษสำหรับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ที่ได้รับสิทธิไว้ในช่อง Remark ของสินค้าแต่ละรายการ

ข้อ 10 Assessment Request Code

ให้ผู้นำของเข้าทำเครื่องหมาย Yในช่อง Assessment Request Code ในส่วนควบคุม ของใบขนสินค้าขาเข้า (Import Declaration Detail) ก่อนส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เป็นใบขนสินค้าที่ต้องเปิดตรวจ (Red Line) ของศุลกากร

ข้อ 11 แบบรับรองรายละเอียดของรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่

ให้ผู้นำของเข้าจัดทำและ ลงนามในแบบรับรองของรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป 1 ฉบับ ต่อ 1 รายการ ตามแบบแนบท้ายประกาศนี้

ข้อ 12 การตรวจสอบตามกระบวนการทางศุลกากร

การตรวจสอบรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปตามกระบวนการทางศุลกากร ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  1. ให้ผู้นำของเข้าติดต่อโรงพักสินค้าเพื่อเตรียมของให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบ
  2. ให้ผู้นำของเข้ายื่นเอกสารดังต่อไปนี้ ต่อพนักงานศุลกากรที่มีอำนาจหน้าที่ หรือที่ได้รับมอบหมาย เพื่อใช้ประกอบการตรวจปล่อยรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป
    ก. หนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิจากกรมสรรพสามิต ประเภท ยฟ. 01 - 02/1 ระยะที่ 2
    ข. หลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ากรณีผู้นำของเข้าใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี
    ค. แบบรับรองรายละเอียดของรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป และเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป เช่น บัญชีราคาสินค้า (Invoice) หรือแคตตาล็อค (Catalogue) เป็นต้น
  3. พนักงานศุลกากรจะตรวจสอบพิกัด ราคา และชนิดของ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ในเรื่องการกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร และการกำหนดราคาศุลกากรสำหรับการนำเข้า
  4. พนักงานศุลกากรจะตรวจสอบรายละเอียดของรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปรวมถึงอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ กับข้อมูลในใบขนสินค้าขาเข้า หนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีจาก กรมสรรพสามิต และแบบรับรองรายละเอียดของรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป หากพบว่า ไม่ถูกต้องครบถ้วน จะดำเนินการพิจารณาความผิด และแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง
  5. พนักงานศุลกากรจะตรวจสอบหลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดสินค้า และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามประกาศ กรมศุลกากรว่าด้วยหลักเกณฑ์และพิธีการการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีและระเบียบที่เกี่ยวข้อง กรมศุลกากรอาจปฏิเสธหลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หากตรวจพบว่า ไม่เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง
  6. กรณีข้อมูลในใบขนสินค้าขาเข้า หนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิจากกรมสรรพสามิต หลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือเอกสารประกอบอื่น ๆ ไม่ถูกต้องตรงกัน และมีเหตุอันควรสงสัย หรือจำเป็นต้องสอบถามไปยังกรมสรรพสามิตหรือหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า พนักงาน ศุลกากรที่มีอำนาจหน้าที่ หรือที่ได้รับมอบหมายจะสั่งการให้ปล่อยของนั้นไปก่อน และให้ผู้นำของเข้าดำเนินการวางประกันให้คุ้มค่าอากรในอัตราปกติ

ข้อ 13 การเชื่อมโยงข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้ากับกรมการขนส่งทางบก

  1. พนักงานศุลกากรผู้ตรวจปล่อย หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จะส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า ทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้กรมการขนส่งทางบก ผ่านระบบ National Single Window (NSW) เมื่อใบขนสินค้าขาเข้า มีสถานะส่งมอบสินค้าแล้ว ในกรณีที่ของยังอยู่ในอารักขาของศุลกากร และตรวจสอบพบว่ารายการที่ต้อง สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าไม่ถูกต้องครบถ้วน พนักงานศุลกากรจะดำเนินการพิจารณาความผิด และแก้ไขข้อมูล ให้ถูกต้อง ตามระเบียบปฏิบัติศุลกากรที่เกี่ยวข้อง ก่อนส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้กรมการขนส่งทางบก ผ่านระบบ National Single Window (NSW)
  2. หากผู้นำของเข้าประสงค์จะขอแก้ไขข้อมูลในใบขนสินค้าขาเข้าในภายหลังให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
    ก. ให้ผู้นำของเข้า หรือผู้รับมอบอำนาจกระทำการแทนผู้นำของเข้า ซึ่งได้ยื่นใบมอบอำนาจเป็นการทั่วไปไว้ตามคำขอลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากร และปรากฏในฐานข้อมูล ในระบบทะเบียนผู้มาติดต่อของกรมศุลกากร ยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า พร้อมเอกสารหลักฐาน ประกอบการพิจารณาแก้ไขต่อหน่วยงานตรวจปล่อย
    ข. พนักงานศุลกากรจะดำเนินการพิจารณาความผิด และแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ตามระเบียบปฏิบัติศุลกากรที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้แก้ไขแล้ว ให้กรมการขนส่งทางบก ผ่านระบบ National Single Window (NSW)

ข้อ 14 กรณีที่ตรวจสอบพบว่าไม่สามารถใช้สิทธิได้

ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าหลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ผู้นำของเข้ายื่นไว้ไม่สามารถใช้สิทธิได้ พนักงานศุลกากรที่มีอำนาจหน้าที่ หรือที่ได้รับมอบหมายจะดำเนินการแจ้งให้กรมสรรพสามิต และ ผู้นำของเข้าทราบ และให้ผู้นำของเข้าดำเนินการ ดังนี้

  1. กรณีที่กรมสรรพสามิตออกหนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิ ประเภท ยฟ. 01 - 12/1 ระยะที่ 2 ฉบับใหม่ โดยไม่เปลี่ยนแปลงประเภทของหนังสือรับรอง หรือโดยมีการเปลี่ยนแปลง ประเภทของหนังสือรับรอง ให้ผู้นำของเข้ายื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าในช่องสิทธิพิเศษตามสิทธิที่ได้รับ ในข้อ 5 พร้อมหนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิฉบับใหม่จากกรมสรรพสามิต เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไข ต่อหน่วยงานตรวจปล่อย
  2. กรณีที่กรมสรรพสามิตเพิกถอนหนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิ ให้ผู้นำของเข้า ยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าในช่องสิทธิพิเศษให้เป็น “000” พร้อมหนังสือแจ้งจากกรมสรรพสามิต ประกอบการพิจารณาแก้ไขต่อหน่วยงานตรวจปล่อย
  3. พนักงานศุลกากรจะดำเนินการพิจารณาความผิด
  4. ให้ผู้นำของเข้าชำระอากรในส่วนที่ขาดและภาษีอื่น ๆ พร้อมชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ (ถ้ามี) ให้ครบถ้วน
  5. พนักงานศุลกากรจะดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ตามระเบียบปฏิบัติศุลกากร ที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้แก้ไขแล้ว ให้กรมการขนส่งทางบกผ่านระบบ National Single Window (NSW)

ข้อ 15 กรณีที่กรมสรรพสามิตแจ้งเพิกถอนการได้รับสิทธิ

ในกรณีที่กรมสรรพสามิตได้แจ้งเพิกถอนหนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิ สำหรับของใดกับกรมศุลกากร ของนั้นจะไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ตั้งแต่วันนำของเข้าและผู้นำของเข้ามีหน้าที่ต้องแจ้งต่อกรมศุลกากร เพื่อขอชำระค่าภาษีอากรให้ครบถ้วน ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนสิทธิ โดยให้ผู้นำของเข้าดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. กรณีที่ผู้นำของเข้าใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี และได้แสดงหลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าไว้แล้ว ให้ผู้นำของเข้ายื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าในช่องสิทธิพิเศษให้เป็นไปตามประกาศกรมศุลกากรว่าด้วยหลักเกณฑ์และพิธีการการยกเว้นอากร และลดอัตราอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีที่เกี่ยวข้อง พร้อมหนังสือแจ้งจากกรมสรรพสามิตประกอบการพิจารณาแก้ไขต่อหน่วยงานตรวจปล่อย
  2. กรณีอื่น ๆ นอกจาก (1) ให้ผู้นำของเข้ายื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า ในช่องสิทธิพิเศษให้เป็น “000” พร้อมหนังสือแจ้งจากกรมสรรพสามิตประกอบการพิจารณาแก้ไขต่อหน่วยงานตรวจปล่อย
  3. พนักงานศุลกากรจะดำเนินการพิจารณาความผิดเบี้ยปรับ (ถ้ามี) ให้ครบถ้วน
  4. ให้ผู้นำของเข้าชำระอากรในส่วนที่ขาดและภาษีอื่น ๆ พร้อมชำระเงินเพิ่มและ
  5. พนักงานศุลกากรจะดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ตามระเบียบปฏิบัติศุลกากรที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้แก้ไขแล้ว ให้กรมการขนส่งทางบก ผ่านระบบ National Single Window (NSW)

ข้อ 16 การจัดเก็บข้อมูล

ให้ผู้นำของเข้าจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับการนำของเข้าที่ใช้สิทธิลดอัตราอากรหรือ ยกเว้นอากรตามประกาศนี้ หนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิจากกรมสรรพสามิต และสำเนาหลักฐาน การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ในสื่อรูปแบบใด ๆ หรือเอกสารไว้เพื่อให้ตรวจสอบ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่นำของเข้า

ข้อ 17 การใช้บังคับ

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป


ที่มา : กรมศุลกากร


# รถยนต์ไฟฟ้า
Avatar
Administrator
Support Department

Related


Last Update : 28-12-2023