การยกเว้นอากร สำหรับของที่นําเข้ามาเพื่อผลิตเป็นหน้ากาก ("CV7")

ประกาศกรมศุลกากรที่ 49/.2565 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับของที่นําเข้ามาเพื่อผลิตเป็นหน้ากาก



ประกาศกรมศุลกากรที่ 49/.2565 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับของที่นําเข้ามาเพื่อผลิตเป็นหน้ากาก มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

ข้อ 1 กำหนดให้ยกเว้นอากรสำหรับของไม่ว่าจะจัดอยู่ในพิกัดประเภทใดที่นําเข้ามาเพื่อผลิตเป็นหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด ตามประเภทย่อย 6307.90.40 หน้ากากกรองเชื้อโรค หน้ากากทางการแพทย์นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด และหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ บรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยตามประเภทย่อย 6307.90.90 การยกเว้นอากร และการกำหนดให้ของที่ได้รับการยกเว้นอากร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

  1. ของที่ได้รับการยกเว้นอากรจะต้องนําไปใช้ผลิตหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด ตามประเภทย่อย 6307.90.40 หน้ากากกรองเชื้อโรค หน้ากากทางการแพทย์นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ ในห้องผ่าตัด และหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ บรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ตามประเภทย่อย 6307.90.90 ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของเข้า หากปรากฏในภายหลังว่า ของที่ได้รับการยกเว้นอากรไม่สามารถหรือมิได้นําไปใช้ผลิต ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของเข้า ผู้นําของเข้าจะต้องชําระอากรตามปกติ หรือส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร หากมีเหตุจำเป็นต้องขยายระยะเวลาให้ขอต่ออธิบดีกรมศุลกากรก่อนครบกำหนดดังกล่าว อธิบดีกรมศุลกากรอาจอนุญาตให้ขยายเวลาได้ไม่เกินหกเดือน
  2. ผู้ขอใช้สิทธิต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมศุลกากร

ข้อ 2 เพื่อการพิจารณาอนุมัติให้ยกเว้นอากรศุลกากร ให้ผู้นําของเข้ายื่นคําร้องขอยกเว้นอากร พร้อมเอกสารหรือหลักฐาน ดังต่อไปนี้

  1. กรณีผู้นําของเข้าเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด ตามประเภทย่อย 6307.90.40 หน้ากากกรองเชื้อโรค หน้ากากทางการแพทย์นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ ในห้องผ่าตัด และหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ บรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ตามประเภทย่อย 6307.90.90 ให้ใช้เอกสารหรือหลักฐาน เฉพาะในการนําเข้าครั้งแรกดังต่อไปนี้

    • หนังสือรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม หรือใบรับแจ้งการประกอบกิจการ โรงงานจำพวกที่ 2 (ร.ง. 2) หรือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) หรือหนังสือรับรองการประกอบ กิจการโรงงานในเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 (แบบ ข.2) หรือใบแจ้งการประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.03/2) หรือหนังสือรับแจ้ง การประกอบอุตสาหกรรม หรือใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม (ฉบับต่ออายุ) (กนอ.03/6) ของผู้นําของเข้า
    • เอกสารแสดงกำลังการผลิตเต็มที่ของโรงงานต่อปี
    • เอกสารแสดงการรับรองตนเองของผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตหน้ากาก ตามแบบแนบท้ายประกาศนี้ ว่าของที่นําเข้ามาจะนําไปผลิตเป็นหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัดตาม ประเภทย่อย 6307.90.40 หน้ากากกรองเชื้อโรค หน้ากากทางการแพทย์นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ ในห้องผ่าตัด และหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ บรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ตามประเภทย่อย 6307.90.90 เท่านั้น
  2. ในการนําเข้าทุกครั้งให้ยื่นหรือแสดงเอกสารหรือหลักฐาน ดังต่อไปนี้

    • เอกสารแสดงรายชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตหน้ากากที่เป็นลูกค้า ในการซื้อของที่ขอยกเว้นอากรศุลกากร
    • เอกสารแสดงการรับรองตนเองของผู้นําของเข้าตามแบบแนบท้ายประกาศนี้ ว่าของที่นําเข้ามาจะนําไปผลิตเป็นหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัดตามประเภทย่อย 6307.90.40 หน้ากาก กรองเชื้อโรค หน้ากากทางการแพทย์นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัดและหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ บรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยตามประเภทย่อย 6307.90.90 เท่านั้น
    • หนังสือรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม หรือใบรับแจ้งการประกอบกิจการ โรงงานจำพวกที่ 2 (ร.ง. 2) หรือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) หรือหนังสือรับรองการประกอบกิจการ โรงงานในเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 (แบบ ข.2) หรือใบแจ้งการประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.03/2) หรือหนังสือรับแจ้งการประกอบ อุตสาหกรรม หรือใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม (ฉบับต่ออายุ) (กนอ.03/6) ของผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตหน้ากาก
    • สัญญาซื้อขายหรือเอกสารอื่นใดที่แสดงได้ว่าผู้นําของเข้า นําเข้ามาเพื่อส่งให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตหน้ากาก

ข้อ 3 ให้ผู้ขอใช้สิทธิยกเว้นอากรดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  1. ให้ผู้ขอใช้สิทธิยื่นคําร้องพร้อมเอกสารหรือหลักฐานประกอบตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 เพื่อขอใช้สิทธิต่อสำนักงานศุลกากร หรือด่านศุลกากร ณ ท่า ที่ หรือสนามบิน ที่นําของเข้าเพื่อประกอบการพิจารณา อนุมัติให้ได้สิทธิยกเว้นอากรศุลกากร กรณีผู้ขอใช้สิทธิยื่นคําร้องหรือเอกสารไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน กรมศุลกากรจะมี หนังสือแจ้งให้ผู้ขอใช้สิทธิทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้อง และให้ผู้ขอใช้สิทธิยื่นหนังสือหรือเอกสาร เพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง
  2. กรมศุลกากรจะมีหนังสือแจ้งเลขที่อนุมัติหลักการ (Permit Number) ให้ผู้ขอใช้สิทธิทราบพร้อมแนบสำเนาเอกสารการอนุมัติหลักการ ซึ่งพิมพ์จากระบบฐานข้อมูลการลดอัตราอากร และยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 ภายในสิบห้าวันทำการนับแต่วันที่ได้รับคําร้องพร้อมเอกสารถูกต้อง ครบถ้วน หากไม่อนุมัติหลักการกรมศุลกากรจะมีหนังสือแจ้งเหตุผลการไม่อนุมัติให้ทราบ
  3. กรณีผู้ได้รับอนุมัติหลักการยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกการได้รับอนุมัติหลักการเดิม ให้ยื่นคําร้องพร้อมเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในเรื่องนั้น เพื่อประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วน กรณีเป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับชนิดสินค้าที่นําเข้า ให้ยื่นคําร้องล่วงหน้าก่อนการนําเข้า ที่สำนักงานศุลกากร หรือด่านศุลกากร ณ ท่า ที่ หรือสนามบินแห่งหนึ่งแห่งใดก็ได้ หากยังไม่ได้รับอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ต้องดำเนินการตามข้อ 5 ไปก่อน กรณียื่นคําร้องหรือเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน กรมศุลกากรจะมีหนังสือแจ้ง ให้ผู้ได้รับอนุมัติหลักการทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้อง และให้ผู้ได้รับอนุมัติหลักการยื่นหนังสือ หรือเอกสารเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง
  4. กรมศุลกากรจะมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาการขอแก้ไขเพิ่มเติมหลักการ ที่ได้รับอนุมัติไว้เดิมให้แก่ผู้ยื่นคําร้องทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องและเอกสารถูกต้องครบถ้วน โดยการขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว จะออกเลขที่อนุมัติหลักการใหม่พร้อมแนบสำเนาเอกสารการอนุมัติหลักการ ซึ่งพิมพ์จากระบบฐานข้อมูลการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรตามมาตรา 12 หากเป็นการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อมูลอนุมัติ วันเริ่มต้นการได้รับสิทธิและวันหมดอายุการใช้สิทธิ จะใช้เลขที่อนุมัติหลักการเดิม โดยมีการแก้ไขข้อมูลวันเริ่มต้น การได้รับสิทธิและวันหมดอายุให้ถูกต้องเท่านั้น

ข้อ 4 ให้ผู้นําของเข้าจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด โดยบันทึกในช่องสิทธิพิเศษของแต่ละรายการระบุเป็น “CV7” และบันทึกข้อมูล (Import Declaration Detail (Permit) ดังนี้

  1. ระบุเลขที่อนุมัติหลักการยกเว้นอากรในช่องเลขที่ใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Permit No.)
  2. ระบุวันที่ได้รับอนุมัติหลักการ ในช่องวันที่ออกใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Issue Date)
  3. ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกรมศุลกากร (0944000163011) ในช่องเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Permit Issue Authority)

ข้อ 5 การขอรับของออกไปก่อนที่จะได้รับอนุมัติให้ยกเว้นอากร ให้ผู้นําของเข้าดำเนินการดังนี้

  1. ให้ชําระอากรในอัตราปกติ โดยในแต่ละรายการของข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าในช่องสิทธิพิเศษให้ระบุเป็น “000” หรือ “999” แล้วแต่กรณี
  2. ระบุการใช้สิทธิ โดยบันทึกข้อมูลในส่วนรายการของใบขนสินค้าขาเข้า (Import Declaration Detail (Detail) ในช่อง Argumentative Reason Code เป็น “P12” (หมายถึง การยื่น ขอใช้สิทธิลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ) และในช่อง Argumentative Privilege Code ที่ขอใช้สิทธิ เป็น “CV7”
  3. ให้แจ้งความประสงค์ขอตรวจสอบพิกัดและ/หรือราคา ในขณะส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
  4. ต้องยื่นคําร้องในการขอคืนอากรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

ข้อ 8 ภายหลังจากที่ได้รับการตรวจปล่อยไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว เช่น การขอขยายระยะเวลาการใช้วัตถุดิบ การขอส่งของกลับออกไปนอกราชอาณาจักร หรือการขอชําระค่าภาษีอากร ให้ผู้นําของเข้ายื่นคําร้อง ณ สำนักงานศุลกากรหรือด่านศุลกากรที่รับผิดชอบก่อนครบกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของเข้า พร้อมทั้งยื่นบัญชีแสดงรายการแห่งของที่ขอดำเนินการ เช่น รายละเอียดวันที่นําของเข้า เลขที่ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่บัญชีราคาสินค้า ปริมาณที่นําเข้า ปริมาณคงเหลือ เป็นต้น และเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบ

  1. กรณีส่งของกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ให้นําพนักงานศุลกากรของสำนักงานหรือด่านศุลกากรที่พิจารณาคําร้อง ไปทำการตรวจ หรือควบคุม และชําระค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่าย (ถ้ามี) ตามที่กำหนดไว้ เมื่อส่งของตามที่ได้รับอนุมัติกลับออกนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้แจ้งเลขที่ใบขนสินค้าขาออกให้พนักงานศุลกากรผู้ตรวจสอบทราบด้วย
  2. กรณีขอชําระค่าภาษีอากร หากข้อมูลรายละเอียดการนําเข้าไม่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรศุลกากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นําเข้า มาเพื่อผลิตเป็นหน้ากาก (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2504 และระเบียบพิธีการศุลกากร กรมศุลกากรจะเรียก เก็บค่าภาษีอากร ค่าใช้จ่าย (ถ้ามี) และเงินเพิ่มให้ครบถ้วน ตามระเบียบปฏิบัติปกติของพิธีการทั่วไป
  3. กรณีขอขยายระยะเวลาการใช้วัตถุดิบ อธิบดีกรมศุลกากรอาจอนุญาต ให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกินหกเดือน

ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป





ที่มา : กรมศุลกากร