การเรียกเก็บอากรตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร กับ รหัสสถิติของสินค้า

บทความวิชาการ - การเรียกเก็บอากรตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร กับ รหัสสถิติของสินค้า

[บทความวิชาการ] การเรียกเก็บอากรตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร กับ รหัสสถิติของสินค้า

อากรตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร คืออะไร?

ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติไว้ว่า “อากร หมายความว่า อากรศุลกากรที่จัดเก็บกับของที่นําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร” ซึ่งมีการกล่าวถึง อากรตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร ไว้ด้วย เมื่อพิจารณาตามกฎหมายอื่น จะพบว่า มีการกล่าวถึงอากรที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร เช่นเดียวกัน เช่น พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนําเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 เป็นต้น ด้วยเหตุที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้ ดังนั้น อากรปกป้อง และอากรตอบโต้การทุ่มตลาด จึงถือเสมือน เป็นอากรศุลกากร ที่กรมศุลกากรจะต้องเรียกเก็บให้ถูกต้อง ครบถ้วน โดยหากต้องการทราบอัตราอากรฯ เหล่านั้น จะต้องพิจารณาประกาศคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนฯ หรือประกาศคณะกรรมการพิจารณา มาตรการปกป้องฯ ทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีอัตราอากรฯ ตามราคาซี ไอ เอฟ ที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของสินค้า ตามแหล่งกำเนิดสินค้า และตามบริษัทผู้ผลิตสินค้าด้วย

รหัสสถิติของสินค้า คืออะไร?

รหัสสถิติของสินค้า คือ รหัสที่ใช้ในการจัดเก็บสถิติสินค้านําเข้าและส่งออกของกรมศุลกากร ซึ่งใช้เป็นฐานข้อมูลในการเปรียบเทียบวิเคราะห์สถิติการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการติดตามข้อมูลการนําเข้า และส่งออกสินค้าดังกล่าว โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานคือ ฝ่ายประมวลผล ส่วนนวัตกรรมและคลังข้อมูล ศูนย์เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ทำหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขรหัสสถิติสินค้าตามรอบการแก้ไขระบบฮาร์โมไนซ์ทุก 5 ปี และทำหน้าที่กำหนดรหัสสถิติสินค้าที่มีใบอนุญาตหรือใบรับรอง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตกับหน่วยงานต่าง ๆ แบบบูรณาการ โดยออกเป็นประกาศกรมศุลกากรเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรหัสสถิติสินค้า พร้อมยกเลิกประกาศฉบับเดิม ทุก ๆ 5 ปี ส่งผลให้รหัสสถิติของสินค้าเดิมถูกยกเลิกไปทั้งสิ้น และใช้รหัสสถิติของสินค้าที่กำหนดขึ้นใหม่แทน (ปัจจุบันใช้ประกาศกรมศุลกากรที่ 194/2564 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมรหัสสถิติสินค้า ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 25644) อย่างไรก็ตาม แม้รหัสสถิติสินค้าจะไม่ส่งผลต่อการจัดเก็บอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและ กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรโดยตรง แต่ในทางปฏิบัติจะพบว่า รหัสสถิติสินค้าจะส่งผลกระทบต่อการเรียกเก็บ อากรตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร เช่น อากรตอบโต้การทุ่มตลาด อากรปกป้อง ฯลฯ โดยคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน หรือคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง จะออกประกาศ คกก.ฯ เพื่อเรียกเก็บอากรฯ ภายใต้พิกัดอัตราศุลกากรประเภท (11 หลัก) ที่อาจกำหนดไว้ ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น 7306.40.10.010 72253090011 ฯลฯ

ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการนําของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออก จะต้องยื่นใบขนสินค้าโดยจะต้องสำแดงประเภทพิกัดของสินค้า (ประเภทพิกัดระดับ 4 หลัก) เพื่อใช้ในการ กำหนดอัตราอากรศุลกากรสำหรับคํานวณค่าภาษีอากรที่เกิดขึ้น พร้อมสำแดงรหัสสถิติสินค้า (รหัสสถิติ 3 หลัก) เพื่อพิจารณาว่าจะต้องชําระอากรตอบโต้ฯ หรืออากรปกป้อง หรือไม่ อย่างไร (รายละเอียดตามเอกสารแนบ)




บทความโดย : นายมงคล เกียรติทวีมั่นคง ผู้อํานวยการส่วนอุทธรณ์พิกัดอัตราศุลกากร กองนโยบายและอุทธรณ์พิกัดอัตราศุลกากร
ที่มาบทความ : กรมศุลกากร