คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse)

จัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษาของที่นำเข้าจากต่างประเทศ การบรรจุหรือแบ่งบรรจุ การขนถ่ายสินค้า การกระจายสินค้า และเพื่อกิจการอื่น ๆ ที่อธิบดีกรมศุลกากรเห็นสมควรอันจะเป็นการช่วยสนับสนุนการผลิต การประกอบอุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป

คุณสมบัติ

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป

  1. เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการ หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนและมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดยผลการดำเนินงานตามที่ปรากฏในงบการเงิน ไม่มียอดขาดทุนสะสม ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

    • สถานที่ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท หรือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทกิจการ
    • สถานที่ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อื่นนอกเหนือจาก 1.1 ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทกิจการ
    • กรณีตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท หรือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทกิจการ
  2. มีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือสิทธิในการใช้พื้นที่ที่ขอจัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือในกรณีที่ดินที่ขอจัดตั้งมีการจดทะเบียนจำนอง ผู้รับจำนองจะต้องมีหนังสือยินยอมให้ดำเนินการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนได้

  3. ไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรย้อนหลัง 3 ปีนับแต่วันยื่นคำขอ ทั้งนี้ การกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมาย ให้หมายความถึง การกระทำความผิดใด ๆ ก็ตามที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย

  4. ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประเภทที่ได้ยื่นขออนุญาต

  5. ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประเภทที่ได้ยื่นขออนุญาต เว้นแต่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วก่อนวันยื่นคำขอรับอนุญาตเกิน 3 ปี และกรณีผู้ยื่นคำขอเป็นนิติบุคคล ผู้บริหารของนิติบุคคลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวด้วย

เงื่อนไขการอนุญาต

เงื่อนไขการอนุญาตที่ผู้ขอใบอนุญาตต้องดำเนินการ

  1. สถานที่ที่ขอจัดตั้งต้องอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม ต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10,000 ตารางเมตร และภายในพื้นที่ดังกล่าวต้องมีอาคารเก็บของที่มั่นคงแข็งแรง และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ตารางเมตร หรือตามขนาดพื้นที่ที่อธิบดีเห็นสมควร ซึ่งพนักงานศุลกากรสามารถควบคุมได้โดยสะดวกและรัดกุม
  2. ต้องดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนแผนผังที่ได้ยื่นประกอบคำขอซึ่งกรมศุลกากรเห็นชอบ โดยมีรั้วล้อมรอบ ประตูเข้า - ออกที่มั่นคงแข็งแรง มีห้องทำงานสำหรับพนักงานศุลกากร ซึ่งภายในห้องทำงานต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบสื่อสารที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ดังกล่าวกับระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร เพื่อให้พนักงานศุลกากรใช้ในการกำกับคลังสินค้าทัณฑ์บน และจัดทำป้ายคลังสินค้าทัณฑ์บนตามแบบที่กำหนดไว้
  3. มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์บุคคล หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ หรือของที่ผ่านเข้า - ออก และสามารถตรวจสอบข้อมูลภาพย้อนหลังได้ไม่น้อยกว่า 60 วัน พร้อมจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคลังสินค้าทัณฑ์บน รวมถึงกำกับดูแลคลังสินค้าทัณฑ์บนให้มีความรอบคอบรัดกุมตามความจำเป็นที่กรมศุลกากรกำหนด
  4. มีระบบควบคุมสินค้าคงคลังที่สามารถตรวจสอบการนำของเข้าเก็บ การนำของออก และของคงเหลือ โดยสามารถจัดทำรายงานทางบัญชีตามที่กรมศุลกากรกำหนด และพนักงานศุลกากรสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ระยะเวลาในการเก็บของ

การเก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป สามารถเก็บได้ไม่เกินสองปีนับแต่วันนำเข้า

การตรวจสอบสิทธิ

การตรวจสอบสิทธิประโยชน์คลังสินค้าทัณฑ์บน

  1. การจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงาน กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด ยื่นต่อส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายใน 30 วันนับแต่วันปิดงวดบัญชี โดยให้ถือวันที่พนักงานศุลกากรเข้าทำการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเป็นวันปิดงวดบัญชี

  2. การจัดส่งงบการเงิน กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดส่งสำเนางบการเงิน ตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองแล้ว ต่อส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายใน 30 วันนับแต่วันปิดงวดบัญชี โดยให้ถือวันที่พนักงานศุลกากร เข้าทำการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเป็นวันปิดงวดบัญชี

  3. การตรวจนับของคงเหลือ กำหนดให้ตรวจนับของคงเหลือในคลังสินค้าทัณฑ์บนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การทำสัญญาประกัน

การทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน และการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน

เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตพร้อมที่จะเปิดดำเนินการคลังสินค้าทัณฑ์บน ต้องทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่กรมศุลกากร และเพื่อผูกพันให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กรมศุลกากรกำหนดขึ้น พร้อมทั้งวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด จำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท) เพื่อค้ำประกันความรับผิดในค่าภาษีอากร ค่าภาระติดพัน ค่าเสียหายอื่นใดตามสัญญาประกันและทัณฑ์บน

ค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมรายปีการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน จำนวน 30,000 บาท (สามหมื่นบาท)

รายละเอียดเพิ่มเติม

คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า

คุณสมบัติ

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า

  1. เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการ หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียน และมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดยผลการดำเนินงานตามที่ปรากฏในงบการเงินไม่มียอดขาดทุนสะสม ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
    • มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท
    • เป็นผู้ดำเนินกิจการที่มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตเพื่อส่งออก มีการว่าจ้างแรงงานเป็นจำนวนมากหรือใช้เทคโนโลยีการผลิตสูง

2.ไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรย้อนหลัง 3 ปีนับแต่วันที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้ การกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมาย ให้หมายความถึง การกระทำความผิดใด ๆ ก็ตามที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย

  1. มีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือสิทธิในการใช้พื้นที่ที่ขอจัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือในกรณีที่ดินที่ขอจัดตั้งมีการจดทะเบียนจำนอง ผู้รับจำนองจะต้องมีหนังสือยินยอมให้ดำเนินการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนได้

  2. ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประเภทที่ได้ยื่นขออนุญาต

  3. ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประเภทที่ได้ยื่นขออนุญาต เว้นแต่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วก่อนวันยื่นคำขอรับอนุญาตเกิน 3 ปี และกรณีผู้ยื่นคำขอเป็นนิติบุคคล ผู้บริหารของนิติบุคคลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวด้วย

เงื่อนไขการอนุญาต

เงื่อนไขการอนุญาตที่ผู้ขอใบอนุญาตต้องดำเนินการ

  1. สถานที่ที่ขอจัดตั้งต้องอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม และมีอาคารเก็บของที่มั่นคงแข็งแรง ซึ่งพนักงานศุลกากรสามารถควบคุมได้โดยสะดวกและรัดกุม

  2. ต้องดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนแผนผังที่ได้ยื่นประกอบคำขอซึ่งกรมศุลกากรเห็นชอบ โดยมีรั้วล้อมรอบ เว้นแต่โดยสภาพภูมิประเทศของกิจการ ไม่จำเป็นต้องมีรั้ว แต่ต้องมีประตูเข้า - ออกที่มั่นคงแข็งแรง มีห้องทำงานสำหรับพนักงานศุลกากรซึ่งภายในห้องทำงานต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบสื่อสารที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ดังกล่าวกับระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร เพื่อให้พนักงานศุลกากรใช้ในการกำกับคลังสินค้าทัณฑ์บน และจัดทำป้ายคลังสินค้าทัณฑ์บนตามแบบที่กำหนดไว้

  3. มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์บุคคล หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ หรือของที่ผ่านเข้า - ออก และสามารถตรวจสอบข้อมูลภาพย้อนหลังได้ไม่น้อยกว่า 60 วัน พร้อมจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคลังสินค้าทัณฑ์บน รวมถึงกำกับดูแลคลังสินค้าทัณฑ์บนให้มีความรอบคอบรัดกุมตามความจำเป็นที่กรมศุลกากรกำหนด

  4. มีระบบควบคุมสินค้าคงคลัง ที่สามารถตรวจสอบการนำของเข้าเก็บ การนำของออก และของคงเหลือ โดยสามารถจัดทำรายงานทางบัญชีตามที่กรมศุลกากรกำหนด และพนักงานศุลกากรสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ระยะเวลาในการเก็บของ

การเก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า สามารถเก็บได้ไม่เกินสองปีนับแต่วันนำเข้า

การยื่นสูตรการผลิต

ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นสูตรการผลิตก่อนการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรเพื่อส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรหรือก่อนการโอนหรือจำหน่ายออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า

การตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

การตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

  1. การจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงาน กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงาน ตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนดเป็นรายงวด 6 เดือน โดยให้ถือวันที่ 30 มิถุนายน และวันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันปิดงวดบัญชี

  2. การจัดส่งงบการเงิน กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดส่งสำเนางบการเงินตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองแล้ว ภายใน 180 วันนับแต่วันสิ้นงวดระยะเวลาบัญชีกับฝ่ายตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน ส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน

  3. การตรวจนับของคงเหลือ กำหนดให้ตรวจนับของคงเหลือในคลังสินค้าทัณฑ์บนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

  4. การยื่นสูตรการผลิต กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นสูตรการผลิต ก่อนการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรหรือก่อนการโอนหรือจำหน่ายออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า และต้องยื่นแก้ไขสูตรการผลิต ตรวจสอบการผลิตที่มีการเปลี่ยนแปลง ได้ที่ฝ่ายตรวจสอบสูตรการผลิต ส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน และฝ่ายตรวจสอบสูตรการผลิตจะพิจารณาสูตรการผลิตให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

การทำสัญญาประกัน

การทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน และการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน

เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตพร้อมที่จะเปิดดำเนินการคลังสินค้าทัณฑ์บน ต้องทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่กรมศุลกากรและเพื่อผูกพันให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กรมศุลกากรกำหนดขึ้น พร้อมทั้งวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด จำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท) เพื่อค้ำประกันความรับผิดในค่าภาษีอากร ค่าภาระติดพัน ค่าเสียหายอื่นใดตามสัญญาประกันและทัณฑ์บน

ค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมรายปีการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน จำนวน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท)

รายละเอียดเพิ่มเติม

คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับจัดแสดงหรือนิทรรศการ

คุณสมบัติ

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับจัดแสดงหรือนิทรรศการ

  1. เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการ หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนและมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดยผลการดำเนินงานตามที่ปรากฏในงบการเงินไม่มียอดขาดทุนสะสม ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
    • สถานที่ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท หรือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทกิจการ
    • สถานที่ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อื่นนอกเหนือจาก 1.1 ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทกิจการ
  2. มีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือสิทธิในการใช้พื้นที่ที่ขอจัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือในกรณีที่ดินที่ขอจัดตั้งมีการจดทะเบียนจำนอง ผู้รับจำนองจะต้องมีหนังสือยินยอมให้ดำเนินการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนได้
  3. ไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรย้อนหลัง 3 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้ การกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายให้หมายความถึง การกระทำความผิดใด ๆ ก็ตามที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย
  4. ไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประเภทที่ได้ยื่นขออนุญาต
  5. ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประเภทที่ได้ยื่นขออนุญาต เว้นแต่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วก่อนวันยื่นคำขอรับอนุญาตเกิน 3 ปี และกรณีผู้ยื่นคำขอเป็นนิติบุคคล ผู้บริหารของนิติบุคคลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวด้วย

เงื่อนไขการอนุญาต

เงื่อนไขการอนุญาตที่ผู้ขอใบอนุญาตต้องดำเนินการ

  1. สถานที่ที่ขอจัดตั้งต้องอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม และมีอาคารเก็บของที่มั่นคงแข็งแรง ซึ่งพนักงานศุลกากรสามารถปฏิบัติงานได้โดยสะดวกและรัดกุมภายในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องจัดให้มีสถานที่จัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการแยกต่างหากจากสถานที่เก็บและตรวจของ

  2. ต้องดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนแผนผังที่ได้ยื่นประกอบคำขอซึ่งกรมศุลกากรเห็นชอบ โดยมีรั้วล้อมรอบ ประตูเข้า - ออกที่มั่นคงแข็งแรง มีห้องทำงานสำหรับพนักงานศุลกากรซึ่งภายในห้องทำงานต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบสื่อสารที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ดังกล่าวกับระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร เพื่อให้พนักงานศุลกากรใช้ในการกำกับคลังสินค้าทัณฑ์บน และจัดทำป้ายคลังสินค้าทัณฑ์บนตามแบบที่กำหนด

  3. มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์บุคคล หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ หรือของที่ผ่านเข้า - ออก และสามารถตรวจสอบข้อมูลภาพย้อนหลังได้ไม่น้อยกว่า 60 วัน พร้อมจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคลังสินค้าทัณฑ์บน รวมถึงกำกับคลังสินค้าทัณฑ์บนให้มีความรอบคอบรัดกุมตามความจำเป็นที่กรมศุลกากรกำหนด

  4. มีระบบควบคุมสินค้าคงคลังที่สามารถตรวจสอบการนำของเข้าเก็บ การนำของออก และของคงเหลือ โดยสามารถจัดทำรายงานทางบัญชีตามที่กรมศุลกากรกำหนด และพนักงานศุลกากรสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ระยะเวลาในการเก็บของ

ของที่นำเข้าเก็บหรือนำเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการในคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับจัดแสดงหรือนิทรรศการ จะต้องนำของออกภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นสุดการจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ

การตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

การตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

  1. การจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงาน กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด ยื่นต่อส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายใน 30 วันนับแต่วันปิดงวดบัญชี โดยให้ถือวันที่พนักงานศุลกากรเข้าทำการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเป็นวันปิดงวดบัญชี
  2. การจัดส่งงบการเงิน กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต จัดส่งสำเนางบการเงินตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองแล้ว ต่อส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายใน 30 วันนับแต่วันปิดงวดบัญชี โดยให้ถือวันที่พนักงานศุลกากร เข้าทำการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเป็นวันปิดงวดบัญชี
  3. การตรวจนับของคงเหลือ กำหนดให้ตรวจนับของคงเหลือในคลังสินค้าทัณฑ์บนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การทำสัญญาประกัน

การทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน และการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน

เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตพร้อมที่จะเปิดดำเนินการคลังสินค้าทัณฑ์บน ต้องทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่กรมศุลกากรและเพื่อผูกพันให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กรมศุลกากรกำหนดขึ้น พร้อมทั้งวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด จำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท) เพื่อค้ำประกันความรับผิดในค่าภาษีอากร ค่าภาระติดพัน ค่าเสียหายอื่นใดตามสัญญาประกันและทัณฑ์บน

ค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมรายปีการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน จำนวน 30,000 บาท (สามหมื่นบาท)

รายละเอียดเพิ่มเติม

คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร

  1. เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการ หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนและมีฐานะการเงินที่มั่นคง โดยผลการดำเนินงานตามที่ปรากฏในงบการเงินไม่มียอดขาดทุนสะสม ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

    • คลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อการเก็บของสำหรับร้านค้าปลอดอากร ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท โดยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน และไม่มีข้อจำกัดในการออกเสียงลงมติของผู้ถือหุ้น หรือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทของกิจการ
    • คลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขาย ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท โดยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน และไม่มีข้อจำกัดในการออกเสียงลงมติของผู้ถือหุ้น หรือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทของกิจการ
  2. ไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรย้อนหลัง 3 ปีนับแต่วันยื่นคำขอ ทั้งนี้ การกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายให้หมายความถึงการกระทำความผิดใด ๆ ก็ตามที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย

  3. มีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือสิทธิในการใช้พื้นที่ที่ขอจัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือในกรณีที่ดินที่ขอจัดตั้งมีการจดทะเบียนจำนอง ผู้รับจำนองจะต้องมีหนังสือยินยอมให้ดำเนินการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนได้

  4. ไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประเภทที่ได้ยื่นขออนุญาต

  5. ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประเภทที่ได้ยื่นขออนุญาต เว้นแต่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเกิน 3 ปี และกรณีผู้ยื่นคำขอเป็นนิติบุคคล ผู้บริหารของนิติบุคคลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวด้วย

เงื่อนไขการอนุญาต

เงื่อนไขการอนุญาตที่ผู้ขอใบอนุญาตต้องดำเนินการ

  1. สถานที่ที่ขอจัดตั้งต้องอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม และมีอาคารเก็บของที่มั่นคงแข็งแรง.
  2. ต้องดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนแผนผังที่ได้ยื่นประกอบคำขอซึ่งกรมศุลกากรเห็นชอบโดยมีรั้วล้อมรอบ เว้นแต่โดยสภาพภูมิประเทศของกิจการ ไม่จำเป็นต้องมีรั้ว แต่ต้องมีประตูเข้า - ออกที่มั่นคงแข็งแรง มีห้องทำงานสำหรับพนักงานศุลกากร ซึ่งภายในห้องทำงานต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบสื่อสาร ที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ดังกล่าวกับระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร เพื่อให้พนักงานศุลกากรใช้ในการกำกับคลังสินค้าทัณฑ์บน และจัดทำป้ายคลังสินค้าทัณฑ์บนตามแบบที่กำหนดไว้
  3. มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์บุคคล หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ หรือของที่ผ่านเข้า - ออก และสามารถตรวจสอบข้อมูลภาพย้อนหลังได้ไม่น้อยกว่า 60 วัน พร้อมจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคลังสินค้าทัณฑ์บน รวมถึงกำกับดูแลคลังสินค้าทัณฑ์บนให้มีความรอบคอบรัดกุมตามความจำเป็นที่กรมศุลกากรกำหนด
  4. มีระบบควบคุมสินค้าคงคลังที่สามารถตรวจสอบการนำของเข้าเก็บ การนำของออก และของคงเหลือ โดยสามารถจัดทำรายงานทางบัญชีตามที่กรมศุลกากรกำหนด และพนักงานศุลกากรสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
  5. ร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองกรณีส่งมอบของ ณ จุดส่งมอบที่กำหนด (Pick-up Counter) ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องระบุว่าจะส่งมอบของที่ขาย ณ จุดส่งมอบของที่ใด
    • จุดส่งมอบของต้องตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ผู้ซื้อจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรแล้ว
    • กรณีผู้ขอใบอนุญาตมิใช่นิติบุคคลเดียวกับผู้ให้บริการจุดส่งมอบของ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตยื่นเอกสารสัญญาบริการระหว่างผู้ขอรับใบอนุญาตกับผู้ให้บริการจุดส่งมอบของ
    • ต้องมีสถานที่สำหรับให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบของที่ส่งมาจากร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองเพื่อเตรียมส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ และมีพื้นที่เพียงพอสำหรับจัดเก็บของที่รอการส่งมอบ

ระยะเวลาในการเก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร

การเก็บของที่นำมาเพื่อแสดงและขายในคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร สามารถเก็บได้ไม่เกินสองปีนับแต่วันนำเข้า

การตรวจสอบสิทธิ

การตรวจสอบสิทธิประโยชน์คลังสินค้าทัณฑ์บน

  1. การจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงาน กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนดเป็นรายไตรมาส ยื่นต่อส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายใน 30 วันนับแต่วันปิดงวดบัญชี โดยให้ถือวันที่พนักงานศุลกากร เข้าทำการตรวจนับของคงเหลือเป็นวันปิดงวดบัญชี
  2. การจัดส่งงบการเงิน กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดส่งสำเนางบการเงินตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองแล้ว ต่อส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายใน 180 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
  3. การตรวจนับของคงเหลือ กำหนดให้ตรวจนับของคงเหลือในคลังสินค้าทัณฑ์บนเป็นรายไตรมาส

การทำสัญญาประกัน

การทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน และการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน

เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตพร้อมที่จะเปิดดำเนินการคลังสินค้าทัณฑ์บน ต้องทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่กรมศุลกากร และเพื่อผูกพันให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กรมศุลกากรกำหนดขึ้น พร้อมทั้งวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด ในวงเงินร้อยละ 50 ของค่าภาษีอากรของคงเหลือสิ้นงวดบัญชีรายไตรมาส หรือตามที่กรมศุลกากรจะเห็นสมควร เพื่อค้ำประกันความรับผิดในค่าภาษีอากร ค่าภาระติดพัน ค่าเสียหายอื่นใดตามสัญญาประกันและทัณฑ์บน

ค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมรายปีการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน จำนวน 30,000 บาท (สามหมื่นบาท)

เอกสารแนบ

สรุป

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 3 ตุลาคม 2562
ที่มา : กรมศุลกากร