พิธีการส่งออกทางเรือ

ในการส่งออกสินค้า ผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่กรมศุลกากรและหน่ายงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการส่งออก กำหนดไว้ให้ครบถ้วนเช่นเดียวกับการนำเข้า โดยมีคำแนะนำในการจัดเตรียมเอกสาร เพื่อปฏิบัติตามขั้นตอนพิธีการศุลกากรในการส่งออกสินค้า ดังนี้

ประเภทใบขนสินค้า

  1. แบบกศก 101/ 1 ใบขนสินค้าขาออก ใช้สำหรับส่งออกในกรณีดังต่อไปนี้
  • การส่งออกสินค้าทั่วไป
  • การส่งออกของส่วนบุคคลและเอกสิทธิ์
  • การส่งออกสินค้าจากคลังสินค้าทัณฑ์บน
  • การส่งออกสินค้าที่ขอชดเชยค่าภาษีอากร
  • การส่งออกสินค้าที่ขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ
  • การส่งออกสินค้าที่ต้องการใบสุทธินำกลับ
  • การส่งออกสินค้ากลับออกไป (RE-EXPORT)
  1. แบบ A.T.A. Carnet ใบขนสินค้าสำหรับนำของเข้าหรือส่งของออกชั่วคราว ใช้สำหรับพิธีการส่งออกชั่วคราวในลักษณะที่กำหนดในอนุสัญญา

  2. ใบขนสินค้าพิเศษสำหรับรถยนต์และจักรยานยนต์นำเข้าหรือส่งออกชั่วคราว ใช้สำหรับการส่งออกรถยนต์ และจักรยานยนต์ชั่วคราว

เอกสารในการส่งออก

เอกสารที่ผู้ส่งออกควรจัดเตรียมในการส่งออกสินค้า

  1. บัญชีราคาสินค้า (Invoice)
  2. ใบอนุญาตส่งออกหรือเอกสารอื่นใดสำหรับสินค้าควบคุมการส่งออก (ถ้ามี)

กระบวนการส่งสินค้า

กระบวนการส่งสินค้าออกด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. ผู้ส่งออกหรือตัวแทน ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออก และบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ทุกรายการจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ส่งออก หรือตัวแทนมายังเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร โดยผ่านบริษัทผู้ให้บริการระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Counter Service) เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรตรวจสอบข้อมูลในใบขนสินค้าขาออก และเมื่อข้อมูลถูกต้องครบถ้วนแล้ว ระบบจะออกเลขที่ใบขนสินค้าขาออกให้ ผู้ส่งออกชำระค่าภาษีอากร (ถ้ามี) และชำระค่าธรรมเนียมใบขนสินค้าผ่านธนาคาร
  2. ผู้รับผิดชอบการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อบรรจุสินค้าเรียบร้อยแล้ว จะส่งข้อมูลการบรรจุสินค้า เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร ระบบจะทำการตรวจสอบข้อมูลและเมื่อถูกต้องไม่ผิดพลาด ระบบจะกำหนดเลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้า และส่งข้อมูลไปยัง ผู้รับผิดชอบการบรรจุ เพื่อพิมพ์ใบกำกับการขนย้ายสินค้า พร้อมนำสินค้าไปยังท่าหรือที่ส่งออก
  3. เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ท่าส่งออกจะทำการตรวจสอบน้ำหนัก (EIR) และรายละเอียดกับใบกำกับการขนย้ายสินค้า และบันทึกลงในระบบคอมพิวเตอร์ (MACHING) และตรวจสอบสถานะของใบขนสินค้าขาออกว่าเงื่อนไขเป็นยกเว้นการตรวจ (GREEN LINE) หรือ ให้ตรวจ (RED LINE)
  4. ใบขนสินค้าขาออกที่ยกเว้นการตรวจ (GREEN LINE) สำหรับใบขนสินค้าขาออกประเภทนี้ ผู้ส่งออกสามารถดำเนินการนำสินค้า ไปรับบรรทุกขึ้นเรือเพื่อส่งออกได้ทันที
  5. ใบขนสินค้าขาออกที่ถูกกำหนดเงื่อนไขให้ตรวจ (RED LINE) ซึ่งจะต้องตรวจสอบพิกัด ราคา และสินค้าให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (ท่าหรือที่ใดที่มีการใช้เครื่องเอกซเรย์ให้ใช้การตรวจสอบสินค้าขาออกด้วยเครื่องเอกซเรย์) พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะตรวจปล่อย ณ ที่ทำการศุลกากรเพื่อส่งออกต่อไป
  • หากไม่พบข้อสงสัยใดๆ ให้เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ (เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับการกำหนดชื่อ) ทำการบันทึกตรวจสอบว่า “ตรวจสอบพอใจ” ในระบบคอมพิวเตอร์ และของนั้นไม่ต้องทำการตรวจสอบ โดยการเปิดตรวจทางกายภาพอีก เว้นแต่กระทำเพื่อชักตัวอย่าง หรือประโยชน์อื่นใดในทางศุลกากรเท่านั้น
  • หากพบข้อสงสัยใดๆ ให้ทำการเปิดตรวจสินค้านั้นเพื่อการตรวจสอบ และหากพบความผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

การแก้ไขข้อมูล

การแก้ไขข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้า และใบขนสินค้าขาออก

  1. กรณีใบกำกับการขนย้ายสินค้ายังไม่ได้มีการตัดบัญชี ณ สถานีรับบรรทุก (Matching) ผู้รับผิดชอบการบรรจุสามารถแก้ไขข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าได้ด้วยตนเอง
  2. กรณีใบกำกับการขนย้ายสินค้าที่ได้มีการตัดบัญชี ณ สถานีรับบรรทุก(Matching) แล้ว ผู้รับผิดชอบการบรรจุต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าต่อเจ้าหน้าศุลกากร ดังนี้
  • รหัสสถานที่ตรวจปล่อย
  • เลขที่ตู้คอนเทนเนอร์ไม่ถูกต้อง
  • การเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกหรือเพิ่มเลขที่ใบขนสินค้าขาออก
  • การเปลี่ยนชื่อเรือ เที่ยวเรือ
  • การเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์
  • อื่นๆ

กรณีผู้รับผิดชอบการบรรจุไม่มาดำเนินการยื่นคำร้องเพื่อขอแก้ไขเรื่องใดๆ สินค้าในตู้คอนเทอนเนอร์ดังกล่าว จะไม่ได้รับการบรรทุกด้วยระบบคอมพิวเตอร์

  1. กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลในใบขนสินค้าขาออก หลังการส่งออกผู้ส่งออกต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูล มีดังนี้

  2. การตรวจรับกลับคืน ยกเลิกการส่งออก

  3. การส่งออกไม่ครบ (SHORT PACKING) แต่ไม่ได้ส่งข้อมูลมาแก้ไข ทางอิเล็กทรอนิกส์ภายใน 10 วันนับแต่วันตัดบัญชีใบกำกับการขนย้าย เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะพิจารณาอนุญาตเป็นการเฉพาะราย

  4. กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับใบอนุญาต ให้นำใบอนุญาต/ใบรับรอง ติดต่อหน่วยบริการศุลกากรประจำท่า/ที่ส่งออก ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า

  5. การแก้ไขเรื่องอื่นๆ ภายหลังการส่งออก จะพิจารณาอนุญาตเป็นการเฉพาะราย

ข้อควรทราบในการส่งสินค้าออก

การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

  • การคืนอากรตามมาตรา 19 (RE-EXPORT)
  • การคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ (การคืนอากรที่ได้ชำระไว้ขณะนำเข้าเพื่อทำการผลิตและส่งออก)
  • การขอชดเชยค่าภาษีอากร
  • การส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  • คลังสินค้าทัณฑ์บน
  • เขตปลอดอากร (Free Zone)
  • เขตประกอบการเสรี (IEAT-FREE ZONE)

ที่มา : กรมศุลกากร.
ปรับปรุงล่าสุด : 27 กันยายน 2559.