หลักเกณฑ์และพิธีการสำหรับการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่

ประกาศกรมศุลกากร ที่ 97/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์และพิธีการสำหรับการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรัหรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่

กรมศุลกากรเผยแพร่ ประกาศกรมศุลกากร ที่ 97/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์และพิธีการสำหรับการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มีรายละเอียดที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการบันทึกข้อมูลในใบขนสินค้าขาเข้าดังนี้

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และพิธีการสำหรับการยกเว้นอากรศุลกากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบ พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 (ดาวน์โหลดประกาศ)

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 51 และ 63 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 อธิบดีกรมศุลกากรออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

“ยานยนต์ไฟฟ้า” หมายความว่า รถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร หรือรถบรรทุก แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV)

“เศษ” หมายความว่า ส่วนที่เหลือจากการผลิตซึ่งไม่สามารถนําไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมที่นําเข้าได้

ข้อ 2 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 กำหนดให้ยกเว้นอากร สำหรับของและส่วนประกอบของของดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะจัดอยู่ในพิกัดประเภทใด ที่นําเข้ามาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 เพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ขึ้นใหม่ โดยไม่รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ดัดแปลง

  1. แบตเตอรี่ (battery)
  2. มอเตอร์ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (traction motor)
  3. คอมเพรสเซอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
  4. ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS)
  5. ระบบควบคุมการขับขี่
  6. ออนบอร์ดชาร์จเจอร์ (on-board charger)
  7. ดีซี/ดีซี คอนเวอร์เตอร์ (DC/DC Converter)
  8. อินเวอร์เตอร์ (inverter) รวมถึง พีซียู อินเวอร์เตอร์ (PCU inverter)
  9. รีดักชั่น เกียร์ (reduction gear)

ของตามวรรคหนึ่งที่นําเข้าในลักษณะที่ประกอบติดอยู่ร่วมกัน ตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไปให้ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศนี้ แต่ของตามวรรคหนึ่งที่นําเข้าในลักษณะที่ประกอบติดอยู่ร่วมกันกับของที่ไม่ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศนี้จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

การยกเว้นอากรและการกำหนดให้ของที่ได้รับการยกเว้นอากร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์

  1. ของที่จะได้รับการยกเว้นอากร ต้องมีหนังสือรับรองจากสถาบันยานยนต์ว่าเป็นของ หรือส่วนประกอบของของสำหรับนํามาเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่
  2. ของที่ได้รับยกเว้นอากรต้องนําไปใช้ประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบ พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของเข้า หากมีเหตุขัดข้อง ให้ขอขยายระยะเวลาต่ออธิบดีกรมศุลกากรก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว และอธิบดีกรมศุลกากรอาจขยายระยะเวลาได้ตามสมควรแต่ต้องไม่เกินหกเดือน หากปรากฏในภายหลังว่าของที่ได้รับยกเว้นอากรไม่สามารถหรือไม่ได้นําไปใช้ประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้นําของเข้าส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักรหรือชําระอากรโดยถือสภาพของของ ราคา และอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่นําของเข้า
  3. เศษที่ไม่ใช้ หรือเศษที่ใช้ไม่ได้ของของที่ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศ กระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้า จากแบตเตอรี่ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ให้ผู้นําของเข้าขออนุญาตทำลาย ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือดำเนินการอย่างอื่นตามที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนด หากไม่ดำเนินการดังกล่าวให้ถือว่าสิทธิ ที่ได้รับยกเว้นอากรสิ้นสุดลงในวันที่ครบกำหนดเวลาตาม (2) และต้องชําระอากรโดยถือสภาพของของ ราคา และอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่สิทธิที่ได้รับยกเว้นอากรสิ้นสุดลงเป็นเกณฑ์ในการคํานวณอากร
  4. ผู้นําของเข้าต้องยื่นขออนุมัติก่อนการนําเข้า และจะได้รับการยกเว้นอากรเมื่อได้รับการอนุมัติ

ข้อ 5 ให้ผู้นําของเข้าจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด โดยบันทึกในช่องสิทธิพิเศษของแต่ละรายการระบุเป็น “PEV” และบันทึกข้อมูล Import Declaration Detail (Permit) ดังนี้

  1. ระบุเลขที่อนุมัติหลักการยกเว้นอากรในช่องเลขที่ใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Permit No.)
  2. ระบุวันที่ได้รับอนุมัติหลักการ ในช่องวันที่ออกใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Issue Date)
  3. ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกรมศุลกากร (1994000163011) ในช่องเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Permit Issue Authority)
  4. ระบุเลขที่หนังสือรับรองของสถาบันยานยนต์สำหรับของที่จะขอใช้สิทธิ ยกเว้นอากรในช่องเลขที่ใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Permit Number) วันที่ออกใบอนุญาต/หนังสือรับรอง ในช่องวันที่ใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Issue Date) และระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของสถาบันยานยนต์ ในช่องเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของหน่วยงานออกใบอนุญาต/หนังสือรับรอง (Permit Issue Authority)

ข้อ 6 การขอรับของออกไปก่อนที่จะได้รับอนุมัติให้ยกเว้นอากร ให้ผู้นําของเข้าดำเนินการ ดังนี้

  1. ให้ชําระอากรในอัตราปกติ โดยในแต่ละรายการของข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า ในช่องสิทธิพิเศษให้ระบุเป็น “000” หรือ “999” แล้วแต่กรณี
  2. ระบุการใช้สิทธิ โดยบันทึกข้อมูลในส่วนรายการของใบขนสินค้าขาเข้า (Import Declaration Detail (Detail)) ในช่อง Argumentative Reason Code เป็น “P12” (หมายถึง การยื่น ขอใช้สิทธิลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ) และในช่อง Argumentative Privilege Code ที่ขอใช้สิทธิ เป็น “PEV”
  3. ให้แจ้งความประสงค์ขอตรวจสอบพิกัดและ/หรือราคา ในขณะส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
  4. ต้องยื่นคําร้องในการขอคืนอากรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

ข้อ 7 ผู้นําของเข้าต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ครบถ้วนก่อนการรับของออกจากอารักขา

  1. กรณีระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานผู้ออกหนังสือรับรองการนําของเข้าเพื่อใช้สิทธิ ในการยกเว้นอากร สามารถส่งผ่านข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรโดยผ่านระบบการให้บริการ เบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (Single Window) ผู้นําของเข้าไม่ต้องแสดงเอกสารรับรองการนําของเข้าเพื่อใช้สิทธิ ดังกล่าวในขณะปฏิบัติพิธีการศุลกากรอีก
  2. กรณีที่ไม่สามารถส่งข้อมูลหนังสือรับรองการนําของเข้าเพื่อใช้สิทธิในการยกเว้นอากร ผ่านระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (Single Window) ให้ผู้นําของเข้าแสดงเอกสารรับรอง การนําของเข้าเพื่อใช้สิทธิดังกล่าวแก่หน่วยบริการศุลกากร ก่อนการนําของออกจากอารักขาของศุลกากร
  3. เมื่อหน่วยบริการศุลกากร สำนักงานศุลกากรหรือด่านศุลกากร ณ ท่า ที่ หรือสนามบิน ที่นําของเข้า ได้ตรวจสอบเอกสารตรงตามข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าแล้ว จะพิจารณาอนุมัติการให้ยกเว้นอากร หากตรวจพบว่าเอกสารไม่ตรงกับข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าจะพิจารณาดำเนินการตามระเบียบต่อไป

ข้อ 8 กรณีการจัดทำและยื่นใบขนสินค้าในรูปแบบเอกสาร ให้ผู้นําของเข้ายื่นเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นอากรพร้อมกับการยื่นใบขนสินค้า โดยสำแดงเลขที่เอกสารชื่อหน่วยงานที่ออกเอกสาร และการขอใช้สิทธิตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ไว้ในใบขนสินค้า

ข้อ 9 เมื่อหน่วยบริการศุลกากร สำนักงานศุลกากร หรือด่านศุลกากร ณ ท่า ที่ หรือสนามบิน ที่นําของเข้า ได้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารและตรงตามข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าแล้ว จะพิจารณาอนุมัติการให้ยกเว้นอากร แต่ถ้าตรวจพบว่าเอกสารไม่ตรงกับข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าจะพิจารณา ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ข้อ 10 ผู้นําของเข้าต้องรายงานการผลิตหรือการส่งมอบสินค้าต่อสำนักงานศุลกากร หรือด่านศุลกากรที่อนุมัติหลักการทุก 3 เดือน ตามแบบแนบท้ายประกาศนี้

ข้อ 11 การดำเนินการกับของที่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ภายหลังจากที่ได้รับการตรวจปล่อยไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว เช่น การขอขยายระยะเวลาการใช้วัตถุดิบ การขอส่งของกลับออกไปนอกราชอาณาจักร หรือการขอชําระค่าอากร ให้ผู้นําของเข้ายื่นคําร้อง ณ สำนักงานศุลกากรหรือด่านศุลกากรที่รับผิดชอบก่อนครบกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่นําของเข้าพร้อมทั้งยื่นบัญชีแสดงรายการแห่งของที่ขอดำเนินการ เช่น รายละเอียดวันที่นําของเข้า เลขที่ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่บัญชีราคาสินค้า ปริมาณที่นําเข้า ปริมาณคงเหลือ และเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบ

  1. กรณีส่งของกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ให้นําพนักงานศุลกากรของสำนักงานหรือด่านศุลกากรที่พิจารณาคําร้องไปทำการตรวจหรือควบคุม และชําระค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่าย (ถ้ามี) ตามที่กำหนดไว้ เมื่อส่งของตามที่ได้รับอนุมัติกลับออกนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้แจ้งเลขที่ใบขนสินค้าขาออกให้พนักงานศุลกากรผู้ตรวจสอบทราบด้วย
  2. กรณีขอชําระค่าอากร กรมศุลกากรจะเรียกเก็บค่าอากร ค่าใช้จ่าย (ถ้ามี) และเงินเพิ่มให้ครบถ้วน ตามที่กฎหมายกำหนด
  3. กรณีขอขยายระยะเวลาการใช้ของที่ได้รับการยกเว้นอากร อธิบดีกรมศุลกากรอาจอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกินหกเดือน

ข้อ 12 ผู้นําของเข้าต้องจัดให้มีหลักฐานควบคุมและทะเบียนบัญชี เพื่อให้พนักงานศุลกากร สามารถตรวจสอบถึงการใช้ของไปในแต่ละขั้นตอนของการผลิต และทราบจำนวนของที่ยังไม่ได้ใช้

ข้อ 13 พนักงานศุลกากรอาจเข้าไปตรวจสอบบัญชีและการดำเนินงานตลอดจนหลักฐาน เกี่ยวกับการใช้ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ตามควรแก่กรณี

ข้อ 14 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

ที่มา : กรมศุลกากร