ราคาของ

ราคาของในการจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า

  • ราคาของ CIF เงินต่างประเทศ (CIF Value Foreign)
  • ราคาของ CIF เงินบาท (CIF Value Baht) มีค่าเท่ากับราคาของ CIF เงินต่างประเทศ คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา

Total Invoice

Total Invoice หมายถึง ยอดเงินรวมของราคาสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าเป็นเงินบาท ทุกรายการในใบขนสินค้ารวมกันแล้วสามารถจะเท่ากับหรือไม่เท่ากับ Total Invoice ในส่วนควบคุม ได้ขึ้นอยู่กับ เงื่อนไขการซื้อขาย ตัวอย่างเช่น ข้อมูลในเอกสารบัญชีราคาสินค้า Total Invoice = 20,000 Term CIF แต่ Unit Price สำแดงราคาเป็น Term FOB โดยให้บันทึกข้อมูลตามจริง ดังนั้น Total Invoice ส่วน Control = Term CIF และ Unit Price ให้ใส่ข้อมูลตาม Term FOB ได้ มีผลให้ จำนวนเงินของแต่ละรายการเงินบาท ตามเอกสาร Invoice รวมกันทุกรายการ <> Total Invoice ใน Control

ส่วนลด (Discount)

  1. ที่สามารถหักออกจากราคาซื้อขายได้ ได้แก่

    • ส่วนลดเงินสด (CASH DISCOUNT) เป็นส่วนลดที่ผู้ขายลดให้เนื่องจากการชำระเงินเป็นเงินสด หรือชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด
    • ส่วนลดปริมาณ (QUANTITY DISCOUNT) เป็นส่วนลดที่ผู้ขายลดให้สำหรับการซื้อในปริมาณสูงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
    • ส่วนลดทางการค้า (TRADE DISCOUNT) เป็นส่วนลดสำหรับการค้าที่แตกต่างกัน เช่น ขายส่ง ขายปลีก หรือผู้บริโภครายสุดท้าย
  2. กรณีส่วนลดอื่น ๆ นอกจากข้อ (1) ข้างต้น

    • ในการจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าให้ระบุค่า “Y” ในช่อง “Assessment request code” “มีปัญหาพิกัด ราคา พบพนักงานศุลกากร ที่ด่านศุลกากร ที่นำเข้า”
    • พบพนักงานศุลกากร ณ หน่วยบริการศุลกากรที่นำของเข้า เพื่อยื่นหลักฐานหรือเอกสาร จากผู้ขายมาแสดงให้พนักงานศุลกากรพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอและสมควรจะรับส่วนลดนั้นได้หรือไม่
    • หากผู้นำของเข้าไม่สามารถยื่นเอกสารหลักฐานหรือเอกสารจากผู้ขายมาแสดง ในขณะการตรวจสอบพิกัด ราคา และของได้ และประสงค์จะนำของออกจากอารักขาศุลกากรไปก่อน ให้ผู้นำของเข้าวางเงินเพิ่มเติมเป็นประกัน ให้ครบจำนวนสูงสุดของอากรที่พึงต้องเสีย
    • พนักงานศุลกากร หน่วยบริการ จะเสนอผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรพิจารณาอนุมัติ หรือนายด่านศุลกากร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อขอหักส่วนลดหรือขอวางประกันแล้วแต่กรณี
  3. กรณีผู้นำของเข้าไม่มีหลักฐานหรือเอกสารอื่นจากผู้ขายมาแสดง ให้กำหนดราคาศุลกากรโดย ไม่มีส่วนลด

ค่าบำเหน็จตัวแทนจากการขายและค่านายหน้า

  1. ค่าบำเหน็จตัวแทนจากการขาย (Selling Commission) หมายถึง ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินที่ผู้ขาย จ่ายให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลผู้เป็นตัวแทนของตนในการขายของที่นำเข้า ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าบำเหน็จตัวแทนจากการซื้อ (Buying Commission)
  2. ค่านายหน้าหรือค่าคนกลาง (Brokerage) หมายถึง ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินที่ผู้ขายและหรือผู้ซื้อจ่ายให้แก่ บุคคลหรือนิติบุคคลผู้เป็นตัวกลางในการติดต่อซื้อขายจนสำเร็จ ค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้าเป็นผลตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับ “คนกลาง” ซึ่งทำงานโดยอิสระไม่ใช่ลูกจ้างหรือพนักงานของผู้ซื้อหรือผู้ขาย
  3. ในการจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า 3.1 ในกรณีที่ผู้นำของเข้ามีหลักฐานการชำระค่าบำเหน็จตัวแทนจากการขาย ให้นำมารวมไว้เป็นราคาศุลกากร

    3.2 กรณีไม่มีหลักฐานการชำระค่าบำเหน็จตัวแทนหรือค่านายหน้า หรือหลักฐานการซื้อขายของผู้นำของเข้า ให้บวกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ของราคาซื้อขายตามเงื่อนไขการส่งมอบที่ระบุไว้ใน Invoice สำหรับกรณี ดังต่อไปนี้ - บัญชีราคาสินค้าระบุชื่อผู้นำของเข้าและผู้ซื้อเป็นคนละรายกัน - ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading:B/L) หรือบัญชีราคาสินค้า (Invoice) สำแดง Sold To และ Ship To เป็นชื่อคนละบริษัท - ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading:B/L) หรือบัญชีราคาสินค้า (Invoice) สำแดง Consignee เป็นชื่อผู้นำเข้าแต่ Notify Party เป็นชื่ออีกบริษัทหนึ่ง ยกเว้นกรณีเป็นชื่อธนาคาร หรือตัวแทนเรือ หรือผู้รับจัดการขนส่ง - มีการชำระเงินผ่านบุคคลที่สาม เว้นแต่ กรณีบริษัทในเครือหรือบริษัทที่มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจการค้าระหว่างกัน ซึ่งได้มอบหมายให้ศูนย์บริหารเงินทำหน้าที่บริหารจัดการเงินตราต่างประเทศแทนตน - มีบุคคลหลายฝ่ายเกี่ยวข้องในการซื้อขาย

    3.3 กรณีตามข้อ (3.2) หากผู้นำของเข้ายืนยันว่าไม่มีการชำระค่าบำเหน็จตัวแทนหรือ ค่านายหน้า หรือมีแต่ได้มีการรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของราคาแล้ว - ในการจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าให้ระบุค่า “Y” ในช่อง “Assessment Request Code” “มีปัญหาพิกัด ราคา พบพนักงานศุลกากร ที่ด่านศุลกากรที่นำเข้า” - พบพนักงานศุลกากร ณ หน่วยบริการศุลกากรที่นำของเข้า เพื่อยื่นหลักฐานหรือเอกสารจากผู้ขายมาแสดงให้พนักงานศุลกากรพิจารณาว่า การซื้อขายไม่มีการชำระค่าบำเหน็จตัวแทนจากการขาย หรือมีแต่นำมารวมไว้เป็นราคาศุลกากรแล้ว

ค่าสิทธิและค่าธรรมเนียมใบอนุญาต (Royalties and License Fees)

  1. ค่าสิทธิและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจะต้องนำมารวมไว้เป็นราคาศุลกากร
  2. ในกรณีที่ค่าสิทธิและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้นมีความเกี่ยวข้องกับของที่นำเข้า ซึ่งผู้ซื้อต้องชำระโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเนื่องจากเป็นเงื่อนไขของการขายของที่นำเข้าเท่าที่ค่าสิทธิ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้น ยังไม่ได้รวมไว้ในราคาที่ชำระจริงหรือราคาที่จะต้องชำระในการนำค่าสิทธิ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตมารวมไว้ในราคาที่ชำระจริงหรือราคาที่จะต้องชำระ
  3. ในการจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าให้ระบุค่า “Y” ในช่อง “Assessment Request Code” “มีปัญหาพิกัด ราคา พบพนักงานศุลกากร ที่ด่านศุลกากร ที่นำเข้า”
  4. กรณีมีเอกสารสัญญา ข้อตกลง ข้อผูกพัน หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับค่าสิทธิและค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ระบุค่าสิทธิและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอย่างชัดเจนและสามารถคำนวณได้ ให้นำค่าสิทธิ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้นมารวมไว้เป็นราคาศุลกากร
  5. กรณีมีเอกสารสัญญา ข้อตกลง ข้อผูกพัน หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับค่าสิทธิและค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ระบุค่าสิทธิและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอย่างชัดเจน แต่ยังไม่สามารถคำนวณได้ในขณะจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า
    • ให้ผู้นำของเข้าประมาณการค่าสิทธิที่ต้องชำระสำหรับแต่ละรอบบัญชีโดยใช้ฐานค่าสิทธิที่ยังมิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายของรอบบัญชีที่ผ่านมา นำมาคาดการณ์การขายในรอบบัญชีปัจจุบันว่าน่าจะมียอดขายเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อนำมาคำนวณหาประมาณการค่าสิทธิที่จะต้องชำระสำหรับรอบบัญชีนี้ โดยคำนวณเป็นอัตราร้อยละของราคา CIF แล้วนำไปบวกเพิ่มในราคา CIF เป็นราคาศุลกากร
    • ในการจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าให้ระบุค่า “หากชำระอากรเกินประสงค์จะขอคืนอากร” ในช่อง “Remark”
  6. กรณีที่ผู้นำของเข้าทราบว่ามีค่าสิทธิ แต่ไม่สามารถคำนวณค่าสิทธิได้ หรือสัญญาซื้อขายระบุ ค่าสิทธิไว้ไม่ชัดเจน
    • ให้ผู้นำของเข้าวางประกันเพิ่มโดยคำนวณค่าสิทธิที่จะต้องวางประกันจากยอดขายสุทธิของรอบบัญชีที่ผ่านมา
    • ในการจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าให้ระบุค่า “หากชำระอากรเกินประสงค์จะขอคืนอากร” ในช่อง “Remark”
  7. กรณีที่มีการชำระค่าสิทธิในกรณีอื่น ๆ
    • ในการจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าให้ระบุค่า “มีค่าสิทธิ หากชำระอากรเกินประสงค์จะขอคืนอากร”
    • พบพนักงานศุลกากร ณ หน่วยบริการศุลกากรที่นำของเข้า เพื่อยื่นหลักฐาน หรือเอกสารมาแสดงให้พนักงานศุลกากร พิจารณากำหนดวงเงินประกัน
  8. ให้ผู้นำของเข้ายื่นใบสรุปยอดรวมค่าสิทธิต่อหน่วยงานบริการ ณ ด่านศุลกากรที่นำของเข้า ภายใน 30 วัน นับแต่วันครบงวดการชำระค่าสิทธิ
  9. พนักงานศุลกากร จะดำเนินตรวจสอบและประเมินราคาใหม่และบันทึกผลรายละเอียดของ การประเมินราคาและค่าภาษีอากรที่ขาดหรือเกินไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า โดยจัดทำข้อมูล Reassessment
  10. กรณีชำระค่าภาษีอากรไว้ขาด ให้ดำเนินการออกแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ กศก.115) และแจ้งให้ผู้นำของเข้าชำระค่าภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มให้ครบถ้วน
  11. กรณีชำระค่าภาษีอากรไว้เกิน ให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาคืนเงินอากร พิจารณาดำเนินการต่อไป
  12. การดำเนินงานในการประเมินอากรใหม่ กรณีอากรเกินหรืออากรขาดไม่ต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานคดี พิจารณาความผิดกับผู้นำของเข้า

ค่าประกันภัย ค่าขนส่งของ ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น หรือ ค่าจัดการต่าง ๆ

  1. กรณีบัญชีราคาสินค้า (Invoice) รายใดไม่มีค่าประกันภัย (Insurance) หรือไม่มีเอกสารหลักฐานการจ่ายค่าประกันภัยให้บวกค่าประกันภัยขึ้นอีกร้อยละ 1 ของราคา FOB

  2. กรณีบัญชีราคาสินค้า (Invoice) รายใดไม่มีค่าขนส่งของ (Freight) หรือไม่มีเอกสารหลักฐานการจ่ายค่าขนส่งของให้ดำเนินการดังนี้

    2.1 การนำเข้าทางเรือและทางบกให้บวกค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ของราคา FOB

    2.2 การนำเข้าทางอากาศยานให้บวกค่าขนส่งทางอากาศยานเข้ากับราคาของ และ
    ค่าประกันภัย เป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าภาษีอากรดังนี้

    • ให้ใช้ค่าขนส่งตามที่ปรากฏในต้นฉบับ HAWB (House Air Waybill) จากท่าต้นทางบรรทุก ซึ่งได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ดำเนินการคลังสินค้า อนุมัติ
    • หากไม่ปรากฏค่าขนส่งในต้นฉบับ HAWB หรือไม่มีต้นฉบับ HAWB ให้ใช้ค่าขนส่งที่ปรากฏใน MAWB (Master Air Waybill)
    • หากไม่ปรากฏค่าขนส่งของในต้นฉบับ HAWB หรือไม่มีต้นฉบับ HAWB หรือไม่ปรากฏค่าขนส่งของใน MAWB ให้ใช้อัตราเฉลี่ยค่าขนส่งของตาม Full IATA Rate ตามหนังสือ The Thai Cargo Tariff
    • ค่าขนส่งของสำหรับของเร่งด่วน ไม่ว่าจะนำเข้าโดยมีผู้โดยสารนำพาหรือไม่ก็ตาม ค่าระวางบรรทุกที่ใช้ในการคำนวณเงินอากร ให้ใช้ตามที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้า หรือหลักฐานการจ่ายค่าขนส่งของดังกล่าว หากไม่ปรากฏค่าระวางบรรทุก ในบัญชีราคาสินค้า หรือหลักฐานการจ่ายค่าขนส่งของดังกล่าว ให้ใช้อัตราเฉลี่ยค่าขนส่งของตาม ZONE ที่กรมศุลกากร อนุมัติให้ใช้สำหรับสินค้าเร่งด่วนเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าภาษีอากร
    • ของที่นำเข้าทางอากาศยาน แต่มีบัญชีราคาสินค้า (INVOICE) สำแดงราคารวม ค่าขนส่งทางอากาศยานเท่ากับ ราคารวมค่าขนส่งที่นำเข้าทางเรือ ในกรณีเช่นนี้ การกำหนดราคาให้หักค่าขนส่งทางเรือออกเสียจากราคาดังกล่าว แล้วบวกค่าขนส่งทางอากาศยานที่ผู้ขายหรือผู้ส่งออกได้ชำระไป หากไม่ทราบ ค่าขนส่งทางเรือที่จะคำนวณหักออกได้ ให้หักค่าขนส่งของทางเรือออกในอัตรา ร้อยละ 10 ของราคาของ

    2.3 การนำเข้าทางไปรษณีย์ ให้บวกค่าขนส่งตามอัตราไปรษณียากรสำหรับพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่ใช้อยู่ในขณะนำเข้า

  3. บัญชีราคาสินค้า (INVOICE) ที่ยังไม่รวมค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น หรือค่าจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของมายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า แต่ข้อตกลงการส่งมอบของได้กำหนดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไว้ ให้นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวบวกราคาซื้อขายตามเอกสารหลักฐานที่มีการชำระจริง

  4. กรณีบัญชีราคาสินค้า (INVOICE) เป็นราคา EXW (Ex-Works), FCA (Free Carrier), FAS (Free Alongside Ship) หากปรากฏว่า ไม่มีเอกสารหลักฐานมายื่นแสดง ต้องบวกเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 ของราคา EXW, FCA, FAS โดยให้ถือเป็นราคา FOB