มาตรการตอบโต้การอุดหนุน

มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD)

enter image description here

มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) เป็นมาตรการทางการค้าที่ประเทศผู้นำเข้าใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในที่ได้รับความเสียหาย หรือมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากการอุดหนุน อันเกิดจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม

การอุดหนุน (Subsidies) คืออะไร

การอุดหนุน คือ การที่รัฐให้ความช่วยเหลือ / สนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคเอกชน เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ หรือลดปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

ลักษณะของการอุดหนุน คือ

  1. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐ หรือหน่วยงานของรัฐบาล

    • การให้การสนับสนุนทางการเงินทั้งโดยตรง / โดยอ้อม
    • การจัดหาสินค้า / ให้บริการเกินกว่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
  2. การให้การสนับสนุนด้านรายได้หรือด้านราคา

ตัวอย่าง โครงการที่เข้าข่ายการอุดหนุน

  1. การลดหย่อน หรือ ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบ / เครื่องจักร
  2. การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
  3. การลดหย่อน หรือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
  4. การยกหนี้ หรือ การลดหนี้ หรือ ยืดระยะเวลาการชำระหนี้
  5. การกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติในตลาด
  6. การให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก

การใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Measures)

ต้องพิจารณาว่า

  1. เป็นการอุดหนุนที่ให้แบบเฉพาะเจาะจงต่อบริษัท / อุตสาหกรรม / ภูมิภาค / เพื่อการส่งออก /เพื่อให้ใช้สินค้าในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า
  2. ผู้ได้รับการอุดหนุนได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ
  3. อุตสาหกรรมภายในของประเทศผู้นำเข้าได้รับความเสียหายจากผลของการนำเข้าสินค้าที่ได้รับการอุดหนุน

ซึ่งมาตรการตอบโต้การอุดหนุนคำนวณเป็น % หรือจำนวนเงินต่อหน่วย โดยเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) เพิ่มจากภาษีนำเข้าปกติ

ความเสียหายคืออะไร

ความเสียหาย (Injury) คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมภายในประเทศผู้นำเข้าที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันกับสินค้าที่ได้รับการอุดหนุน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  • สินค้าในประเทศถูกตัดหรือกดราคาหรือไม่สามารถขยับราคาให้สูงขึ้น
  • ปริมาณการผลิตสินค้าภายในประเทศลดลง
  • ปริมาณสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น
  • อัตรากำไรลดลง
  • ส่วนแบ่งตลาดลดลง
  • การจ้างงานลดลง
  • อัตราการนำเข้าสินค้าทุ่มตลาดหรือสินค้าที่ได้รับการอุดหนุนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • แนวโน้มที่ผู้ผลิตสินค้าทุ่มตลาดหรือสินค้าที่ได้รับการอุดหนุนจะส่งสินค้าไปยังประเทศผู้นำเข้าสูงขึ้น

การใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ของไทย

  1. กฏหมายที่เกี่ยวข้อง

  2. ผู้มีสิทธิร้องขอให้เปิดการไต่สวนการใช้มาตรการ CVD ผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน (Like Product) ซึ่งเป็นตัวแทนทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมภายในประเทศไทย ที่ได้รับความเสียหายจากการนำเข้าสินค้าที่ได้รับการอุดหนุน

  3. แนวปฏิบัติในการขอเปิดไต่สวน ยื่นคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรอก แบบคำขอ ที่กำหนด พร้อมกับส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่แสดงว่ามีการอุดหนุนและทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาว่ามีรายละเอียดหรือหลักฐานเพียงพอที่จะเปิดการไต่สวนหรือไม่ต่อไป

  4. การขอคำแนะนำในการกรอกแบบคำขอ อุตสาหกรรมภายในที่ประสงค์จะขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการขอใช้มาตรการ สามารถติดต่อสำนักมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อรับคำแนะนำในการกรอกแบบคำขอ และจัดเตรียมข้อมูล ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายได้

  5. การใช้มาตรการ CVD การพิจารณาและการดำเนินการไต่สวนอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน” หรือ ทตอ. หากทตอ. พิจารณาผลการไต่สวนแล้วพบว่ามีการนำเข้าสินค้าที่ได้รับการอุดหนุน และก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน คณะกรรมการฯ จะประกาศให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD) จากการนำเข้าสินค้าดังกล่าวซึ่งจะเป็นการเก็บอากรที่เพิ่มนอกเหนือจากภาษีนำเข้าปกติ

สรุปสถานะมาตรการ CVD

ข้อกฎหมาย

กฎกระทรวง

ประกาศกระทรวงพาณิชย์

ขั้นตอนการไต่สวน

การแก้ต่างเมื่อสินค้าไทยถูกประเทศคู่ค้าใช้มาตรการ CVD

กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกับผู้ส่งออกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ในการกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการแก้ต่าง และให้ข้อแนะนำในการต่อสู้ในแต่ละขั้นตอนของการไต่สวนตามกฎหมายของประเทศคู่ค้า

  1. หากสินค้าไทยถูกฟ้องประเทศผู้เปิดการไต่สวนจะ

    • มีหนังสือแจ้งเปิดการไต่สวนมายังผู้ผลิต / ผู้ส่งออกไทยที่ถูกกล่าวหาโดยตรง
    • มีหนังสือแจ้งเปิดการไต่สวนมายังสถานทูตไทยประจำประเทศนั้น
    • มีประกาศแจ้งใน Website ของประเทศที่เปิดการไต่สวน / องค์การการค้าโลก (WTO)
  2. การดำเนินการแก้ต่างของผู้ส่งออก

    • ติดต่อกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ข้อมูลประกอบการกำหนดกลยุทธ์ในการแก้ต่าง / ต่อสู้
    • รวบรวมข้อมูล สถิติการส่งออกและราคาขายสินค้าของบริษัททั้งในและต่างประเทศในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และข้อมูลอื่นๆ เพื่อเตรียมการตอบแบบสอบถามของประเทศคู่ค้าที่ฟ้อง
    • จัดเตรียมบุคลากรในการตอบแบบสอบถาม
    • จัดเตรียมระบบบัญชีต้นทุน แยกเป็นรายประเภทสินค้า หรือพิกัดที่ถูกกล่าวหา และเตรียมการชี้แจงเมื่อผู้แทนของหน่วยงานผู้ไต่สวนเดินทางมาตรวจสอบข้อมูลที่บริษัทตอบแบบสอบถามไว้
  3. ผลกระทบหากถูกใช้มาตรการ CVD

    • การชะลอตัวทางการค้า / การส่งออกลดลง
    • กระทบต่อการผลิต / การจ้างงาน
    • เสียความสามารถในการแข่งขัน และเสียส่วนแบ่งตลาดในประเทศคู่ค้า
    • เสียอำนาจการต่อรองกับผู้นำเข้าในประเทศคู่ค้า
    • หากประเทศที่ใช้มาตรการเป็นตลาดหลัก และเรียกเก็บอากรในอัตราสูงจนไม่มีการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศนั้น ผู้ประกอบการจะถูกกระทบอย่างรุนแรงจนไม่สามารถดำรงธุรกิจอยู่ได้
  4. บทบาทของภาครัฐในการแก้ต่าง

จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ในการให้คำแนะนำ หลักเกณฑ์ ขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินการแก้ต่างของประเทศคู่ค้า พร้อมทั้งร่วมยกประเด็นโต้แย้งในการเปิดไต่สวน CVD ต่อประเทศคู่ค้า และเข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง (Verification)