อาเซียน-เกาหลี (ASEAN - Korea)

เขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN - Korea Free Trade Agreement)

ความเป็นมา

ในการประชุมผู้นำอาเซียน-เกาหลี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2003 อาเซียนและเกาหลีเห็นชอบให้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญร่วมเพื่อศึกษาการขยายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างอาเซียนและเกาหลี ซึ่งรวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้สรุปผลการศึกษา ว่า การจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและเกาหลีจะเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งส่งผลดีต่ออาเซียนและเกาหลีในด้านอื่นๆ ด้วย

ในการประชุมผู้นำอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 8 (The 8th ASEAN-ROK Summit) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2004 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้นำอาเซียนและเกาหลีเห็นชอบให้เริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ในช่วงต้นปี 2005 และกำหนดให้สรุปผลเจรจาภายใน 2 ปี (ภายในปี 2006) โดยการเจรจาจะครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคอาเซียน-เกาหลี

กลไกการดำเนินการ

  • จัดตั้งคณะเจรจาการค้าเสรี (ASEAN-Korea Trade Negotiating Committee: TNC) เป็นเวทีหารือระหว่างอาเซียนและเกาหลี และจัดตั้ง ASEAN Trade Negotiating Group (TNG) เป็นเวทีประชุมหารือระหว่างสมาชิกอาเซียน โดยมีสิงคโปร์เป็นประธานฝ่ายอาเซียน

  • กำหนดกรอบและเงื่อนไขของการเจรจาการเปิดตลาดสินค้าทั้งในกลุ่มลดภาษีปกติ และกลุ่มสินค้าอ่อนไหว/สินค้าอ่อนไหวสูง

  • จัดตั้งคณะทำงานด้านต่างๆเพื่อยกร่างกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ภาคผนวกที่เกี่ยวข้อง และความตกลงต่างๆ

  • จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน (ASEAN-Korea FTA Implementing Committee : AKFTA-IC) เพื่อติดตามและดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี

ผลการเจรจา

คณะเจรจาการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี สามารถสรุปกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี (Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation: FA) ความตกลงว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาท (Agreement on Dispute Settlement Mechanism: DSM) และได้ลงนามในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี ครั้งที่ 9 (The 9th ASEAN-ROK Summit) เดือนธันวาคม 2005

สำหรับความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า (Agreement on Trade in Goods: TIG) อาเซียน 9 ประเทศ ยกเว้นไทย สามารถตกลงกับเกาหลีในความตกลงนี้ได้แล้ว และมีการลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม 2006 โดยความตกลง TIG มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2007

ในส่วนของการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการ (Agreement on Trade in Services: TIS) นั้น อาเซียนและเกาหลีสามารถบรรลุความตกลงได้แล้ว ทั้งในเรื่องร่างข้อบทความตกลง (Agreement Text) ส่วนแนบท้ายว่าด้วยการบริการด้านการเงิน (Annex on Financial Services) และตารางข้อผูกพันเฉพาะ (Schedule of Specific Commitments) โดยทั้งสองฝ่าย ยกเว้นไทย ได้ลงนามความตกลงนี้ในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน-เกาหลี เดือนพฤศจิกายน 2007 และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2009

สำหรับไทย ได้ลงนามในพิธีสารการเข้าเป็นภาคีของไทยในความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าและความตกลงว่าด้วยการค้าบริการอาเซียน-เกาหลี ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2009 ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน และไทยได้เริ่มใช้บังคับกรอบความตกลงฯ ความตกลงว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาท และพิธีสารฯ เฉพาะในส่วนของความตกลงว่าด้วยการค้าบริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2009 รวมทั้งได้บังคับใช้พิธีสารการเข้าเป็นภาคีของไทยในความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2009

ความตกลงว่าด้วยการลงทุนเป็นความตกลงฉบับสุดท้ายที่กำหนดให้มีการเจรจาจัดทำภายใต้กรอบความตกลงฯ ทั้งสองฝ่ายใช้เวลาเจรจานานกว่า 3 ปี และสามารถบรรลุผลการเจรจาเมื่อเดือนเมษายน 2009 โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงนี้เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2009 ทั้งนี้ ความตกลงจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2009

MATRIX OF COMPILATION OF DECISIONS/UNDERSTANDING/CLARIFICATIONS FROM PREVIOUS AKSTROO MEETINGS

Rules of Origin

Operation Certification Procedure

ประกาศ / กฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง

ประกาศกระทรวงการคลัง

ประกาศกรมศุลกากร

เลขที่ รายละเอียด
177./2562 แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมศุลกากร ที่ 161./2560
161./2560 หลักเกณฑ์และพิธีการการยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี
237./2559 หลักเกณฑ์และพิธีการการยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
283./2558 หลักเกณฑ์และพิธีการเกี่ยวกับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี
82./2558 แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมศุลกากรที่ 9./2557และประกาศกรมศุลกากรที่ 231./2557
231./2557 แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมศุลกากรที่ 9./2557
9./2557 หลักเกณฑ์และพิธีการเกี่ยวกับการยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
8./2555 ประกาศกรมศุลกากร ที่ ๘/๒๕๕๕ เรื่อง หลักเกณฑ์และพิธีการเกี่ยวกับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
104./2552 เพิ่มเติมรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน -สาธารณรัฐเกาหลี ในภาคผนวก 2 ของประกาศกรมศุลกากรที่ 72./2552
72./2552 หลักเกณฑ์และพิธีการเกี่ยวกับการยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

ประกาศสำนักพิกัดอัตราศุลกากร

ที่มาบทความ : กรมศุลกากร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ส่วนกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (สกก.) กองพิกัดอัตราศุลกากร (กพก.)
- หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2667-7014 หรือ 0-2667-6459
- อีเมล์ : 80150000@customs.go.th