ระบบราคาแกตต์

ระบบราคาแกตต์ (GATT Valuation)

ในกรณีของนำเข้า หมายถึง ราคาของของเพื่อความมุ่งหมายในการจัดเก็บอากร ปัจจุบันประเทศไทยใช้ราคาศุลกากรที่เรียกว่า “ระบบราคาแกตต์ (GATT Valuation)” ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในการกำหนดราคาสินค้าขาเข้า ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยการนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 มาถือปฏิบัติ (Agreement on Implementation of Article VII of the General Agreement on tariffs and Trade 1994) ปกติการกำหนดราคาศุลกากรจะอยู่บนพื้นฐานของราคาซื้อขายของที่นำเข้า ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ซื้อจ่ายหรือ พึงจ่ายจริงให้กับผู้ขายในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ราคาซื้อขายของที่นำเข้านั้น จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่น การซื้อขาย ผู้ซื้อกับผู้ขายต้องไม่มีความสัมพันธ์กัน หรือการซื้อขายนั้นต้องไม่มีเงื่อนไขอย่างอื่นอีก

วิธีการกำหนดราคาศุลกากร

การกำหนดราคาศุลกากรตามหลักการของแกตต์ กำหนดจาก 6 วิธี ดังนี้

  1. ราคาซื้อขายของที่นำเข้า (Transaction value) หมายถึง ราคาซื้อขาย ที่ผู้ซื้อสินค้าได้ชำระจริง หรือที่จะต้องชำระให้กับผู้ขายในต่างประเทศสำหรับของที่นำเข้า ซึ่งได้มีการปรับราคาหรือได้นำมูลค่าหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไปรวมด้วย เช่น ค่าวัสดุเสริม ค่านายหน้า หรือค่าสิทธิ เป็นต้น.

  2. ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน (Transaction value of Identical Goods) หมายถึง ราคาซื้อขายของที่มีลักษณะเหมือนกันทุกด้านกับของที่นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ คุณภาพ และชื่อเสียง และต้องผลิตขึ้นในประเทศเดียวกันกับของนำเข้าด้วย ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงค่าประกันภัย ค่าขนส่งของที่นำเข้ามายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น และค่าจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของมายังด่านศุลกากรที่นำของเข้าด้วย.

  3. ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน (Transaction value of Similar Goods) หมายถึง ราคาซื้อขายของที่ไม่เหมือนกันครบทุกด้านกับของที่นำเข้า แต่มีลักษณะหรือใช้วัสดุที่เป็นส่วนประกอบเหมือนกัน ผลิตในประเทศเดียวกัน และทำหน้าที่อย่างเดียวกันหรือทดแทนกันได้ในทางการค้า ทั้งนี้ โดยพิจารณาถึงคุณภาพ ชื่อเสียง และเครื่องหมายการค้าของของที่นำเข้ากับของนั้น.

  4. ราคาหักทอน (Deductive Value) หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นโดยใช้ราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่นำเข้า หรือราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่เหมือนหรือของที่คล้ายกันที่ได้ขายไปในประเทศไทย โดยหักทอนค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไป เช่น ค่านายหน้า หรือกำไรและค่าใช้จ่าย ค่าขนส่งและค่าประกันภัยที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ค่าภาษีอากรในประเทศไทย มูลค่าเพิ่มของสินค้าที่เกิดขึ้นจากการประกอบหรือผ่านกรรมวิธีเพิ่มเติม.

  5. ราคาคำนวณ (Computed Value) หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นจากต้นทุนการผลิตของสินค้าที่นำเข้า บวกกับกำไรและค่าใช้จ่ายทั่วไปที่รวมอยู่ตามปกติในการขายจากประเทศส่งออกมายังประเทศไทย รวมทั้งค่าภาชนะบรรจุ ค่าประกันภัย และค่าขนส่ง.

  6. ราคาย้อนกลับ (Fall Back Value) หมายถึง การกำหนดราคาโดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกำหนดราคาตามวิธีที่ 1-5 มาใช้โดยผ่อนปรนเพื่อการกำหนดราคาอย่างสมเหตุสมผล

การกำหนดราคาศุลกากรจะกำหนดตามวิธีที่ 1 วิธีที่ 2 และวิธีที่ 3 ตามลำดับ หากไม่อาจกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีดังกล่าวได้ ให้กำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 4 หรือเมื่อยังไม่อาจกำหนดตามวิธีที่ 4 ได้อีก จะกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 5 และวิธีที่ 6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าสามารถขอให้กรมศุลกากรสลับลำดับการใช้วิธีที่ 5 และวิธีที่ 4 ได้หากหน่วยงานประเมินอากรเห็นชอบตามคำร้องของผู้นำเข้า


ข้อควรทราบในการสำแดงราคาศุลกากร

ผู้นำเข้าควรตรวจสอบว่า ราคาสินค้านำเข้าที่ท่านสำแดงต่อศุลกากรเป็นไปที่กำหนดไว้ในระบบราคาแกตต์หรือไม่ โดยตอบคำถามแนวทางการประเมินราคาแกตต์สำหรับผู้นำเข้า (การตรวจสอบว่าราคาสินค้าว่าเป็นไปตามราคาแกตต์หรือไม่) ดังต่อไปนี้

  1. ท่านทราบหรือท่านมีวิธีการที่น่าเชื่อถือเพียงใดในการสำแดง “ราคาที่ชำระจริงหรือที่พึงต้องชำระ”ของสินค้า หรือท่านทราบเงื่อนไขการขายสินค้าหรือไม่ เช่น ในการขายนั้นๆ มีส่วนลดการขาย พันธะการขาย ค่าใช้จ่ายทางอ้อม หรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่นๆ หรือไม่ ในการขายนั้น ๆ มีการชำระค่าวัสดุเสริม ค่านายหน้าหรือค่าสิทธิหรือไม่ หรือราคาสินค้าเป็นราคาที่ถูกต้องเป็นจริงหรือเป็นราคาโดยประมาณ หรือท่านและผู้จัดหาสินค้ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่.

  2. ท่านได้เตรียมหรือมีวิธีการที่น่าเชื่อถือเพียงใดในการสำแดงราคาสินค้าต่อศุลกากรตามกฎกระทรวง เรื่อง การกำหนดและการใช้ราคาศุลกากร พ.ศ. 2560 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (6) และมาตรา 16 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560.

  3. ท่านได้รับ “คำวินิจฉัย” ศุลกากรเกี่ยวกับการประเมินราคาสินค้าหรือไม่ หากได้รับ ท่านมีวิธีการที่น่าเชื่อถือเพียงใดที่ทำให้แน่ใจว่าท่านได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้นและแจ้งให้ศุลกากรทราบ

  4. ท่านได้ศึกษากฎหมายและระเบียบการประเมินราคาศุลกากร สารานุกรมการประเมินราคาศุลกากร (Customs Valuation Encyclopedia) สิ่งพิมพ์ศุลกากรที่แจ้งข้อควรปฏิบัติในการประเมินราคา คดีในศาล และคำวินิจฉัยศุลกากรต่าง ๆ เพื่อช่วยท่านในการประเมินราคาสินค้าหรือไม่

  5. ท่านได้หารือกับ “ผู้เชี่ยวชาญ” ศุลกากร (เช่น ทนายความ เจ้าหน้าที่บัญชี ผู้ชำนาญการศุลกากร ที่ปรึกษาศุลกากร) เพื่อช่วยท่านในการประเมินราคาสินค้าหรือไม่

  6. หากท่านซื้อสินค้าจากผู้ขายที่มีความสัมพันธ์กัน ท่านมีวิธีการที่จะทำให้มั่นใจได้หรือไม่ว่า ท่านได้รายงานข้อเท็จจริงนี้ในการนำเข้า พร้อมทั้งหามาตรการหรือวิธีการที่น่าเชื่อถือที่จะทำให้มั่นใจว่าราคาที่ได้ สำแดงต่อศุลกากรเป็นไปตามข้อทดสอบ “ผู้มีความสัมพันธ์กัน”

  7. ท่านมีมาตรการหรือวิธีการที่น่าเชื่อถือเพียงใดที่จะทำให้มั่นใจว่า ท่านได้รายงานต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินค้านำเข้าตามกฎหมาย ทั้งหมดต่อศุลกากร (เช่น ค่าวัสดุเสริม ค่านายหน้าทั้งหมด ค่าใช้จ่ายทางอ้อมหรือส่วนลด ค่าสิทธิ ฯลฯ)

  8. หากท่านสำแดงราคาที่ซื้อขายจริง (Transaction Value) ซึ่งท่านไม่ใช่ผู้ซื้อ ท่านได้แสดงหลักฐานว่าการซื้อขายนั้นเป็นการซื้อขายโดยสุจริตและสินค้านั้นมีปลายทางการขายอยู่ที่ประเทศไทยหรือไม่

  9. ท่านมีแผนการหรือวิธีการที่น่าเชื่อถือในการแสดงเอกสารการนำเข้าและข้อมูลสนับสนุนอื่น ๆ ที่ศุลกากรต้องการหรือไม่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

กรณีผู้นำเข้ามีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการกำหนดราคาศุลกากรตามระบบราคาแกตต์ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสำนักงานศุลกากรหรือด่านศุลกากรที่นำเข้าทุกแห่ง หรือกองมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (กมพ.) โทร.: 0-2667-7000 ต่อ 20-4630, 20-4631

ที่มา : กรมศุลกากร

  • วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 13 มีนาคม 2561
  • สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : กองมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (กมพ.)
  • หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2667-7000 ต่อ 20-4630, 20-4631 และ 20-6488
  • อีเมล์ : 81000100@customs.go.th