Re-export

การคืนอากรสำหรับของที่นำเข้ามาแล้วส่งกลับออกไป (Re-export)

ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว หากส่งกลับออกไปยังเมืองต่างประเทศหรือส่งกลับไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือ เดินทางไปต่างประเทศ สามารถขอคืนเงินอากรขาเข้าที่ชำระไว้แล้วได้ เก้าในสิบส่วน หรือส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทของจำนวนที่เรียกเก็บไว้ โดยคำนวณตามใบขนสินค้าขาออกแต่ละฉบับ โดยมีเงื่อนไขว่า

  1. ของต้องอยู่ในสภาพเดิมที่นำเข้า
  2. ต้องส่งกลับออกไปภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า

การปฏิบัติพิธีการในการส่งสินค้าขาออก

ของที่ส่งออกต้องอยู่ในสภาพเดิมที่นำเข้า

ของที่ส่งออกไปที่สามารถขอคืนอากรได้ต้องอยู่ในสภาพเดิมที่นำเข้ามา ถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหีบห่อ หรือภาชนะบรรจุ หรือต้องสำแดงเลขหมายเครื่องหมายใหม่ เจ้าหน้าที่จะพิจารณาคำร้องของผู้ส่งของออก และแจ้งให้หน่วยงานตรวจปล่อย สำนักงานศุลกากรที่นำของเข้า ส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมการเปลี่ยนแปลงตามความประสงค์ดังกล่าว

การติดตัวอย่างของกับต้นฉบับใบขนสินค้า

ของส่งออกรายใดที่สามารถติดตัวอย่างกับต้นฉบับใบขนสินค้าขาออกได้ เช่น ผ้าผืน กระดาษ พลาสติก เป็นต้น ให้ผู้ส่งของออกติดตัวอย่างทุกชนิดตามรายการในบัญชีราคาสินค้าและ/หรือ เอกสารอื่นที่แนบใบขนสินค้าขาออก โดยผู้ส่งของออกต้องรับรองว่าเป็นตัวอย่างจากของที่ส่งออกจริงและให้เจ้า หน้าที่ลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย

วิธีปฏิบัติ

ผู้ส่งของออกจะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุผลในการขอส่งกลับออกไปโดยขอใช้สิทธิ การชำระอากรของ Re-export พร้อมใบขนสินค้าดังนี้

การส่งของกลับออกไปโดยที่ของยังอยู่ในอารักขาของศุลกากร (ยังมิได้นำของออกไปจากศุลกากร)

ให้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและใบขนสินค้าขาออกพร้อมกันต่อหน่วยงานพิธีการของ ท่าที่นำเข้า เพื่อขออนุมัติให้ทำ Re-export ก่อนที่จะให้ หน่วยงานตรวจปล่อยดำเนินการต่อไป การเรียกเก็บอากรขาเข้าแยกเป็น 3 กรณี

  1. ถ้าผู้ส่งของออกส่งของออกทางท่าเดียวกับที่นำเข้า เช่น นำเข้าทางท่าเรือกรุงเทพและ ส่งออกทางท่าเรือกรุงเทพ ให้ชำระเฉพาะอากรขาเข้าเพียง 1 ใน 10 ส่วน แต่ไม่เกิน 1,000.- บาท ตัวอย่างเช่น

    • มูลค่าอากรของ ๆ นั้นเมื่อนำเข้าเท่ากับ 9,500 บาท ก็ชำระอากรเพียง 950 บาท
    • กรณีที่มูลค่าอากรเกินกว่า 10,000.- บาท เช่น 15,000 บาท จำนวนเงิน 1 ใน 10 คือ 1,500.- บาท แต่เป็นจำนวนเงินที่เกินกว่า 1,000.- บาท จึงชำระอากร เพียง 1,000.-บาทเท่านั้น
  2. หากผู้ส่งของออกส่งของออกทางท่าอื่นซึ่งมิใช่ท่าที่นำเข้า เช่น นำเข้าที่ท่าเรือกรุงเทพ แต่ส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบัง จะต้องชำระภาษีอากรต่างๆให้ครบถ้วนก่อน เมื่อได้ส่งของกลับออกไปแล้วจึงขอคืนอากร 9 ใน 10 ส่วน หรือส่วนที่เกิน 1,000.- บาท เว้นแต่จะเป็นการใช้สิทธิตัวแทนออกของรับอนุญาต ในการปฏิบัติพิธีการ จึงจะสามารถชำระเฉพาะอากรขาเข้า 1 ใน 10 ส่วน แต่ไม่เกิน 1,000.- บาท ได้ เช่นกรณีชำระอากรไว้ 9,500 บาท เมื่อได้ส่งของกลับออกไปแล้วจะขอคืนได้ 8,550.- บาท หรือชำระอากรไว้ 15,000.- บาทจะขอคืนได้ 14,000.- บาท เป็นต้น การที่มีระเบียบปฏิบัติเช่นนี้ก็เนื่องจากการส่งออกต่างท่านั้น จะต้องนำสินค้าออกจากท่าหนึ่งไปยังอีกท่าหนึ่ง ซึ่งทำให้ยากแก่การควบคุมผู้ส่งออกอาจจะไม่ส่งของออกไปจริง ดังนั้นจึงให้ชำระภาษีให้ครบถ้วนก่อน แล้วมาขอคืนในภายหลังเมื่อพิสูจน์ได้ว่าส่งออกจริง.

  3. กรณีของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรจนกลายเป็นของตกค้างตามกฎหมายแล้ว (เกิน 2 เดือน 15 วัน) ผู้ส่งของออกจะต้องชำระอากรขาเข้าให้ครบถ้วนก่อนแล้วจึงขอคืนอากรในภายหลัง เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรให้ไม่ต้องชำระอากรเต็มจำนวน

การส่งของกลับออกไปโดยที่อยู่นอกอารักขาของศุลกากร (ของที่ตรวจปล่อยไปจากศุลกากรแล้ว)

ผู้ส่งของออกจะต้องยื่นใบขนสินค้าขาออกตามปกติ ที่หน่วยงานพิธีการของท่าที่ส่งออกพร้อมคำร้องขออนุมัติทำ Re-export เจ้าหน้าที่จะนำใบขนสินค้าขาเข้าของสินค้ารายนี้ มาประกอบการพิจารณาเพื่อ อนุมัติให้ต่อไป

เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงสามารถส่งของนั้นกลับออกไปได้และขอรับภาษีอากรที่ ได้ชำระไว้แล้วต่อไป การคืนอากรเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น คือ คืนอากรให้ 9 ใน 10 ส่วน หรือส่วนที่เกิน 1,000.- บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าชำระอากรไว้ 9,500.- บาท จะคืนให้ 8,550.- บาท (9 ใน 10 ส่วน) หรือชำระอากรไว้ 15,000.- บาท จะคืนให้ 14,000.- บาท (ส่วนที่เกิน 1,000.- บาท)

ที่มาบทความ : กรมศุลกากร

ติดต่อสอบถาม
สำหรับคำถามและข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ Customs Call Center โทร 1164 หรือ
Customs Clinic โทร 0-2667-7880-4 โทรสาร 0-2667-7885 อีเมล์ customs_clinic@customs.go.th