พิกัดศุลกากร

พิกัดศุลกากร

พิกัดศุลกากร HS Code คืออะไร

เนื่องจากในแต่ละประเทศ แต่ละเมือง ย่อมมีประเภทของสินค้า และวัตถุดิบที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงในแต่ละที่อาจเรียกชื่อแตกต่างกันด้วย จึงได้มีการคิดข้อกำหนดของประเภทและชนิดสินค้าให้มีความเข้าใจตรงกันทั่วโลก และมีความเป็นสากล จึงมีการรวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อกำหนดเกณฑ์ที่ชื่อว่า “HS Code” ขึ้นมา

พิกัดศุลกากร หรือ HS Code (Harmonized System) มีการยอมรับและประกาศใช้โดยองค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) เป็นความร่วมมือของสมาชิกกว่า 176 ประเทศ รวมประเทศไทยของเราด้วย ที่เข้าร่วมมาตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ซึ่งถือเป็นระบบสากลทางการค้าระหว่างประเทศ สำหรับประเทศไทย มีการนำระบบพิกัดศุลกากรมาใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2531 แทนที่รหัสพิกัดศุลกากรของ Customs Co-operation Council ที่เราใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503

ระบบพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์จำแนกประเภทสิ่งของเป็น 21 หมวด และ 97 ตอน เป็นการกำหนดตัวเลขทั้งหมด 11 หลัก โดย 6 หลัก แรกจะเป็นเลขที่กำหนดขึ้นโดยองค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO) ระบบการจำแนกชนิดสินค้าได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีสมาชิกของ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เพื่อนำไปใช้เป็นสากลในทางการค้า และ 2 หลักถัดมาจะเป็นการแสดงพิกัดฮาร์โมไนซ์อาเซียน (CEPT Code) ส่วนเลข 3 หลักหลังนั้นจะเป็นรหัสสถิติที่กำหนดโดยแต่ละประเทศนั่นเอง ซึ่งสามารถแบ่งตัวเลขออกเป็นหมวดต่าง ๆ ได้ดังนี้

เลข 4 ตัวแรก

มาจากเลขชุด 6 ตัวของพิกัดศุลกากร จะเป็นประเภท (Heading No.) แยกเป็น

  • 2 ตัวแรกเป็นเลขลำดับของ “ตอน”
  • 2 ตัวหลังเป็นเลขลำดับของ “ประเภท” ที่อยู่ในตอนนั้น

ตัวอย่างเช่น ตอนที่ 29 กำหนดให้เป็นเคมีภัณฑ์อินทรีย์ และประเภทที่ 29.07 คือ ฟีนอลและฟีนอลแอลกอฮอลล์

เลข 4 ตัวต่อมา

เป็นลำดับของ “ประเภทย่อย” (Subheading No.) ประกอบไปด้วย

  • เลข 2 ตัวแรก เป็นเลข 2 ตัวที่เหลือจากเลขชุด 6 ตัวของพิกัดศุลกากร
  • เลข 2 ตัวหลัง เป็นประเภทย่อยระบบพิกัด

เลข 2 ตัวหลังนี้ เช่น ประเทศไทยใช้ระบบพิกัดศุลกากรอาเซียน (CEPT Code / the AHTN Protocol) ก็จะเป็นเลขขอพิกัดนี้ เมื่อรวมกับข้อ 1 จะเป็น 8 ตัว (ส่วนใหญ่เป็นเลข 8 ตัว) ตัวอย่างเช่น 2907.10.00 คือ ฟีนอล (ไฮดรอกซิเบนซิน)

เลข 3 ตัวสุดท้าย

คือ เลขรหัสสถิติ (Statistics code) ซึ่งเป็นรหัสสินค้า (Code for goods) และรหัสหน่วยสินค้า (Unit of goods) โดยตัวเลข 3 หลักสุดท้าย จะเป็นรหัสสถิติที่กำหนดโดยแต่ละประเทศ ทำให้รวมแล้วมี 11 ตัว (มาจากข้อ 1 และข้อ 2 แล้วต่อท้ายอีก 3 ตัวนั่นเอง) และที่ต่อท้ายมากับเลขชุด 11 หลักของพิกัดรหัสสถิติ คือ รหัสหน่วยสินค้า (Unit of goods) เช่น KGM (กิโลกรัม), C62 (ชิ้น/หน่วย), LTR (ลิตร) หรือ MTR (เมตร) เป็นต้น

การจำแนกพิกัดศุลกากร

ระบบพิกัด HS Code จัดแบ่งกลุ่มสินค้าตามขั้นตอนการผลิตออกเป็น 21 หมวด 97 ตอน (5,386 ประเภท)

หรือแบ่งออกเป็น

  • วัตถุดิบ 508 รายการ
  • กึ่งสำเร็จรูป 2,124 รายการ
  • ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป 2,754 รายการ

โดยมีการคิดอากรตามกลุ่มต่าง ๆ โดยประมาณดังนี้

  • วัตถุดิบ 0 – 1 %
  • กึ่งสำเร็จรูป 3 – 5 %
  • ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป 10 – 40 %

การหาพิกัดศุลกากร และรหัสพิกัดสินค้า

เราสามารถค้นหาพิกัดศุลกากร ได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร ค้นหาพิกัด หรือที่ Tariff e-service หรือค้นหาผ่านทาง Mobile Application ได้แล้วนะครับ ภายใต้ชื่อ “HS Check” ทั้งบน Google Play และ App Store

การดำเนินงานด้านมาตรฐานพิกัดอัตราศุลกากร ของกรมศุลกากร อยู่ภายใต้การกำกับของรองอธิบดีที่รับผิดชอบและสำนักพิกัดอัตราศุลกากร กำหนดไว้เป็นสองระดับคือด้านนโยบายพิกัดฯ และด้านบริการมาตรฐานพิกัดฯ โดยมีกิจกรรมและแนวทางการดำเนินงานตามแผนภาพต่อไปนี้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : กองพิกัดอัตราศุลกากร (กพก.)
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2667-7372
อีเมล์ : 80000100@customs.go.th

Reference: - https://vayoit.com/blog/hs-code/